คุณค่าและความสำคัญของ"เวลา"มุมมองทางศาสนาอิสลาม

กระทู้คำถาม
มนุษย์ เมื่อเขาได้รับรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญ ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เขาย่อมต้องระแวดระวัง และรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ (เสียใจ) กับการสูญเสีย และพรากจากไป ของมัน นี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็น อย่างประจักษ์ชัด ดังนั้น เมื่อมุสลิมได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญ ของเวลาแล้ว เขาย่อมต้องเพียรพยายาม อย่างที่สุด เพื่อรักษาเวลา ไม่ให้สูญสิ้น โดยเปล่าประโยชน์ และใช้ประโยชน์จากมัน ในกิจการที่สร้างความใกล้ชิด กับพระผู้อภิบาลของเขา

ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ว่า

“เวลาของมนุษย์ คือห้วงชีวิตแท้จริงของเขา มันคือองค์ประกอบของชีวิต ที่จะคงอยู่ตลอดไป ในห้วงแห่งความโปรดปราน อันสถาพร (ในสวนสวรรค์) ขณะเดียวกัน มันก็เป็นองค์ประกอบของชีวิต ที่ทุกข์ยาก ในห้วงแห่งการลงโทษที่เจ็บปวด (ในขุมนรก) มันจะเคลื่อนผ่านไป ประดุจการเคลื่อนผ่านของปุยเมฆ ดังนั้น ผู้ใดที่เวลาของเขา ดำเนินไป เพื่ออัลลอฮฺ และสำหรับอัลลอฮ แล้วไซร้ นั่นแหละคือชีวิต และอายุที่แท้จริงของเขา ส่วนเวลาอื่นจากนั้น ไม่ถูกนับว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา... ดังนั้น หากเขาใช้เวลาให้หมดไป กับความหลงระเริง และความใฝ่ฝันที่จอมปลอม และการใช้เวลาที่ดีที่สุดของเขา คือการนอน และเสเพล ดังนั้น การเสียชีวิตของคนเช่นนี้ ย่อมเป็นการดีกว่า ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ท่านอิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า

“มนุษย์จำเป็นต้องทราบ ถึงความประเสริฐ และคุณค่าของเวลาที่มีอยู่ ดังนั้น เขาก็จะไม่ปล่อยให้เสี้ยวหนึ่ง ของช่วงเวลา สูญเสียไปในหนทาง ที่ไม่ก่อให้เกิด ความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และเขาจะดำเนินเวลาของเขา ให้หมดไปกับความดีงามตลอดไป ทั้งจากคำพูด และการกระทำ และเจตนาของเขา ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี โดยไม่รู้สึกอ่อนล้า และท้อแท้ ในสิ่งที่ร่างกายของเขา สามารถกระทำได้”

แน่นอนว่า อัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺ ได้เอาใจใส่กับเวลาในด้านต่างๆ และในรูปแบบที่หลากหลาย แท้จริงอัลลอฮฺ ได้สาบานด้วยเวลา ในการเริ่มต้นของสูเราะฮฺต่างๆ พระองค์ได้สาบาน ด้วยบางส่วนของเวลา เช่น อัล-ลัยลฺ (กลางคืน) อัน-นะฮาร (กลางวัน) อัล-ฟัจรฺ (ยามรุ่งอรุณ) อัฎ-ฎุฮา (ยามสาย) และอัล-อัศรฺ (ยามเย็น) ดังปรากฏในคำตรัสของพระองค์ว่า

(واللَّيْلِ إِذَا يَغْشَ، والنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّى)

ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และเวลากลางวัน เมื่อมันประกายแสง” (สูเราะฮฺอัล-ลัยลฺ : 1-2)

(وَالْفَجْرِ وَلَيَالٍ عَشْرٍ)

ความว่า “ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ” (สูเราะฮฺอัลฟัจรฺ : 1-2)

(وَالضُّحَى وَاللَّيْلِ إِذَا سَجَى)

ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันมืด และสงัดเงียบ”  (สูเราะฮฺอัฎฎุฮา 1-2)

(وَالْعَصْرِ إِنَّ الإِنْسَانَ لَفِيْ خُسْر)

ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา (หรือเวลาเย็น) แท้จริง มนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน” (สูเราะฮฺอัลอัศรฺ : 1-2)

เป็นที่ทราบกันว่า เมื่ออัลลอฮฺทรงสาบาน ด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใด จากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้ว ย่อมเป็นการบ่งชี้ ถึงความสำคัญ และความยิ่งใหญ่ของสิ่งนั้น และเพื่อดึงความสนใจให ้ตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสาบานไว้

เช่นเดียวกับอัสสุนนะฮฺ ซึ่งยืนยันถึงความสำคัญ และคุณค่าของเวลา และได้ประกาศว่า มนุษย์ทุกคน จะต้องถูกสอบสวน เกี่ยวกับการใช้เวลาของเขา ในวันกิยามะฮฺ ท่านมุอาซ บินญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لاَ تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ أَرْبَعٍ : عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ جَسَدِهِ فِيمَا أَبْلاَهُ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَا وَضَعَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ فِيهِ»

ความว่า “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่เคลื่อนจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับ 4 ประการ

1.  เกี่ยวกับอายุของเขาว่า เขาใช้หมดไปในทางใด
2.  เกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาใช้งานทางใด
3.  เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาอย่างไรและใช้จ่ายไปในทางใด
4. เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขานำมันไปปฏิบัติอย่างไร”

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนียฺ 111 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษเศาะฮีหฺลิฆ็อยริฮฺ)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งอีกว่า เวลานั้นคือความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ของอัลลอฮฺประเภทหนึ่ง ที่มีต่อทุกสรรพสิ่ง ที่พระองค์ทรงสร้างมา ดังนั้น ผู้เป็นบ่าวจึงเป็นต้องขอบคุณ (ชุกูร) ในความโปรดปรานดังกล่าว หากไม่แล้ว ความโปรดปรานที่มี ก็จะถูกเพิกถอน และสูญหายไปในที่สุด การ ขอบคุณในความโปรดปรานของเวลา กระทำได้ด้วยการใช้มัน ในหนทางที่เกิดการภักดี ต่ออัลลอฮฺ และใช้ประโยชน์จากมัน ด้วยกับการทำอามัลที่ดี ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

«نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ»

ความว่า “ความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) สองประการ ที่มนุษย์ส่วนมาก มักจะปล่อยให้สูญเสียไป โดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดี และการมีเวลาว่าง”(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 6412)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่