ทหารเด็ก... กับชีวิตในวัยเยาว์ที่หายไป

บทความ  "ทหารเด็ก"เครื่องจักรสังหารแห่งแอฟริกา



. : "ทหารเด็ก"เครื่องจักรสังหารแห่งแอฟริกา

นับแต่ต้นทศวรรษ 1980 ดินแดนที่ราบลุ่มในโมซัมบิกได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีสงครามชนิดใหม่ ที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วแอฟริกาและทั่วโลก เทคโนโลยีที่ว่านี้คือ การใช้ "ทหารเด็ก"

หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน รายงานว่า ผู้บัญชาการกลุ่มกบฏในโมซัมบิกได้สร้างเครื่องจักรสังหารเยาวชน ที่สามารถบุกตะลุยไปทีละหมู่บ้าน และอาจมีประสิทธิภาพถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาล กลุ่มติดอาวุธโมซัมบิกเรียนรู้ว่า เด็กเป็นอาวุธที่สมบูรณ์แบบ เพราะสามารถควบคุมง่าย มีความจงรักภักดี ใจเด็ด ที่สำคัญที่สุดคือ มีจำนวนมากจนเกณฑ์มาใช้ได้อย่างไม่รู้จักหมดสิ้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัจจุบันมีทหารเด็กทั่วโลกราว 300,000 คน ขณะผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัญหานี้หยั่งรากลึกขณะรูปแบบความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในแอฟริกาได้เปลี่ยนแปลงไป

ในแอฟริกา ความขัดแย้งเปลี่ยนจากการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เป็นการต่อสู้เพื่อปล้มสะดม กลุ่มกบฏรุ่นใหม่ได้รับแรงกระตุ้นและเงินสนับสนุนจากแก๊งอาชญากร

นอกจากนี้ ผู้นำของกลุ่มกบฏยังไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยมองพวกเขาเป็นแค่เหยื่อ สภาพดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มกบฏ การควบคุมและลักพาตัวเด็กจึงกลายเป็นวิธีที่กลุ่มกบฏใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลซ้ำเติมความขัดแย้งในดินแดนกาฬทวีปที่เกิดขึ้นยาวนาน โดยปัจจุบัน ความขัดแย้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในอย่างน้อย 3 ประเทศ

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ชาวโซมาเลียในกรุงโมกาดิชูถูกสังหารกว่า 1,000 คน จากสงครามกลางเมืองฝีมือของผู้นำกลุ่มกบฏที่มีกองทัพวัยรุ่นอยู่ในสังกัด ความขัดแย้งในโซมาเลียปะทุขึ้นในปี 2534 เมื่อชนเผ่าลุกขึ้นโค่นล้มรัฐบาลกลางเพราะความคับข้องใจมานาน ต่อมาผู้นำกลุ่มกบฏต่อสู้กันเองเพื่อควบคุมสนามบิน ท่าเรือ และการเข้าถึงความช่วยเหลือจากต่างชาติ เหตุการณ์ยังไม่สงบหลังผ่านพ้นมา 16 ปี

ด้านสงครามกลางเมืองคองโกที่เริ่มขึ้นเมื่อทศวรรษที่แล้ว เพื่อโค่นล้ม โมบูตู เซเซ เซโค ทรราชจากยุคสงครามเย็น ความขัดแย้งกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มกบฏ อีกทั้งกลุ่มกบฏยังสู้กันเองเพื่อแย่งผลประโยชน์จากป่าไม้ ทองแดง ทองคำ เพชร และทรัพยากรอื่นในประเทศ ทุกกลุ่มใช้ทหารเด็กในการสู้รบ

ในยูกันดา การเจรจาสันติภาพที่ไม่เคยสำเร็จได้เริ่มหารือรอบล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อยุติเหตุรุนแรงในชนบทฝีมือของกองทัพต่อต้านแห่งพระเจ้า ซึ่งรวมตัวกันช่วงปลายทศวรรษ 1990 ในนามชนกลุ่มน้อยอาโชลี อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ก็ลดระดับกลายเป็นแก๊งข้างถนนที่อาศัยในป่าและมีอาวุธเทียบเท่ากองทัพ สมาชิกของกลุ่มนี้เป็นเด็กชายที่ถูกล้างสมองให้ก่อเหตุเผากระท่อมและนำเด็กแรกเกิดไปตำครกไม้เหมือนเมล็ดข้าว

การใช้ทหารเด็กในแอฟริกาแตกต่างจากภูมิภาคอื่น โดยในยุโรป กองทัพนาซีของเยอรมนีเลือกใช้ทหารวัยรุ่นเมื่อเข้าตาจนเท่านั้น ส่วนอิหร่านใช้เด็กชายอายุ 12-16 ปีช่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ด้านโคโซโว ปาเลสไตน์ และอัฟกานิสถาน มีการใช้เด็กต่อสู้โดยมีแรงผลักดันเรื่องศาสนาและชาตินิยม แต่ในแอฟริกา การใช้ทหารเด็กมีขึ้นเมื่อรัฐบาลหรืออุดมการณ์ล่มสลาย กลายเป็นกลุ่มต่อสู้ที่มีแต่ความโหดเหี้ยม

"ตอนแรกอาจจะมีการใช้วาทศิลป์เล็กน้อย แต่อุดมการณ์จะหายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการสังหารหมู่ ปล้มสะดม และความบ้าคลั่ง" อิชมาเอล บีห์ อดีตทหารเด็กในเซียร์ราลีโอน ผู้เขียนหนังสือ "หนทางยาวไกล: บันทึกของทหารเด็ก" กล่าว

นีล บูธบีย์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งศึกษาปัญหาทหารเด็กทั่วโลก มองว่า กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ขาดองค์ประกอบของกลุ่มติดอาวุธที่ประสบความสำเร็จในอดีต ได้แก่ ผู้นำที่ฉลาดและน่าเลื่อมใส ถ้อยคำจูงใจ และเป้าหมายในการยึดครองเมือง แต่ผู้นำกบฏในปัจจุบันต้องการบริหารกลุ่มติดอาวุธที่หลบซ่อนในป่า ไม่อยากมีอิทธิพลทางการเมืองและไม่มีกลยุทธ์เพื่อชนะสงคราม

บูธบีย์สรุปว่า กลุ่มกบฏในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกลุ่มเรียกร้องเสรีภาพช่วงทศวรรษ 1970-80 กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มสอนเด็กว่า ชีวิตและความตายขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณ มีการใช้เครื่องรางของขลังและเวทมนตร์เหนือธรรมชาติช่วยกล่อมให้เด็กเชื่อถือ ยอมทำตามภารกิจที่มอบหมาย

"ผู้บัญชาการจะสวมสร้อยมุก และบอกพวกเราว่าปืนทำอันตรายเราไม่ได้ แล้วเราก็เชื่อ" ทหารเด็กรายหนึ่งกล่าวกับบูธบีย์

Cr.ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
ปล.ประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่ใช้ทหารเด็ก ก็คือพม่า
ปล.2  บทความนี้ไม่ได้ทำเพื่อการค้า  แต่เพื่อความรู้เท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่