ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ

กระทู้ข่าว
หลักฐาน “ธรรมกาย” ในคัมภีร์
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)
ธรรมกาย แปลว่า กายอันเกิดจากธรรมคือโลกุตรธรรม พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญได้กล่าวถึงลักษณะของ “ธรรมกาย” ไว้ พอสรุปได้ว่า มีลักษณะคล้ายพระพุทธปฏิมากรแก้วใส เกตุดอกบัวตูม แต่ใสสว่างเย็นตาเย็นใจ หารัตนะใดเปรียบปานมิได้ ทรงไว้ซึ่งลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ประทับนั่งขัดสมาธิ เป็นกายในกายที่ละเอียดที่สุดของมนุษย์ หรือสัตวโลกทั้งหลาย เป็นกายประเสริฐ กล่าวคือเป็นกายบริสุทธิ์เป็นธาตุล้วน ธรรมล้วน ไม่ประกอบด้วยตัณหาราคะใดๆ และเหนือจากการปรุงแต่งทั้งปวง ไม่ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นกายที่เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามเหตุปัจจัย เป็นตัวตนที่แท้จริง นอกจากนี้ ธรรมกาย ยังถือได้ว่าเป็นตัวพุทธศาสนาที่แท้ ไม่แบ่งแยกนิกาย ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ชาติและภาษา ผู้ที่ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ถูกส่วนเข้าก็จะเห็นได้เข้าถึงได้แน่นอน และจะได้ชื่อว่า เป็นพุทธบุตร พุทธธิดา เป็นพุทธศาสนิกชน และเป็นสมณะในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพราะอะไร ?
เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ก็เสด็จอุบัติขึ้นด้วย พระธรรมกาย แล้วทรงเผยแผ่สั่งสอนชาวโลกจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสาวกผู้เป็นอริยะทั้งหลายก็ได้นำมาเผยแผ่สืบต่อกันมา ดังมีหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับเรื่อง “ธรรมกาย” ทั้งในพระไตรปิฎก และคัมภีร์สำคัญๆ ในพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทของเราก็หลายแห่ง กล่าวคือ ในพระไตรปิฎก ๔ แห่ง ในอรรถกถา ๒๘ แห่ง ในฎีกา ๗ แห่ง และคัมภีร์นอกจากนี้มีวิสุทธิมรรคเป็นต้นอีกหลายแห่ง อีกทั้งของฝ่ายมหายานก็ปรากฏหลักฐาน “ธรรมกาย” เป็นอันมาก ซึ่งจะได้นำเสนอเป็นลำดับไป คำว่า “ธรรมกาย” ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก มีอยู่ ๔ แห่ง ทั้งหมดอยู่ในพระสูตร ครั้งแรกที่ปรากฏคือ อยู่ใน พระสูตรทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ในอัคคัญญสูตร (บาลีฉบับสยามรัฐเล่ม ๑๑ ข้อ ๕๕ หน้า ๙๑–๙๒ ความว่า
ยสส โข ปนสส วาเสฏฐา ตถาคเต สทธา นิวิฎฐา มูลชาตา ปติฎฐิตา ทฬหา อสํหาริยา สมเณน วา พราหมเณน วา เทเวน วา มาเรน วา พรหมุนา วา เกนจิ วา โลกสมึ ตสเสตํ กลลํ วาจาย ภควโตมหิ ปุตโต โอรโส มุขโต ชาโต ธมมโช ธมมนิมมิโต ธมมทายาโทติ ฯ ตํ กิสส เหตุ ฯ ตถาคตสส เหตํ วาเสฎฐา อธิวจนํ ธมมกาโย อิติปิ พรหมกาโย อิติปิ ธมมภูโต อิติปิ พรหมภูโต อิติปิ พรหมภูโต อิติปิ ฯ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่น ในตถาคต เกิดขึ้นแล้ว แต่รากแก้ว คืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้หนึ่งผู้ใดในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่าเป็นบุตร เป็นผู้เกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุใด ? เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี พรหมกาย ก็ดี ธรรมภูต ก็ดี ว่า พรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ คำว่า “ธรรมกาย” ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นชื่อของตถาคต เป็นชื่อที่เรียกว่า “เนมิตตกนาม” คือเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดยคุณธรรมนิรมิตให้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ คือแจ่มชัดแก่บุคคลผู้เป็นธรรมกายเอง ไม่ต้องมีใครบอกหรือตั้งชื่อให้ เพราะมีอยู่จริง กล่าวคือเป็นกายที่เกิดจากคุณธรรมคือโลกุตรธรรม เพราะคำว่า “กาย” แปลว่า เป็นที่รวม เป็นที่ประชุม บอกถึงลักษณะของสิ่งที่ประกอบ รวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเป็นรูปลักษณ์ไม่แยกกัน เหมือนดังเช่นกายมนุษย์ เป็นที่รวมของมหาภูตรูป ๔ เป็นต้นผสมผสานกันจนเป็นรูปกายที่เราเห็นกันได้ด้วยตาเนื้อ แต่ว่าเป็นกายเกิดจากโลกิยธรรม คือมีมนุษยธรรมเป็นประธาน
คำว่า พรหมกาย แปลว่า เป็นผู้มีกายอันประเสริฐบริสุทธิ์ มิใช่หมายถึงกายของพระพรหม เพราะมุ่งหมายเฉพาะพระตถาคต
คำว่า ธรรมภูต แปลว่า ผู้มีธรรม หรือ เป็นธรรมเป็นๆ มิใช่เป็นธรรม (ตาย) ที่อยู่ในคัมภีร์ แต่ก็มิใช่เป็นธรรมที่มีชีวะ ตามความเข้าใจของวิสัยปุถุชน เพราะเป็นวิสัยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ละเอียดไม่สามารถจับต้องด้วยมือหรือมองเห็นด้วยตาเนื้อได้
คำว่า พรหมภูต บอกถึงลักษณะสภาวะอันประเสริฐบริสุทธิ์
นอกจากนี้ยังได้บอกถึงปฏิปทาของผู้ที่จะได้ชื่อว่า เป็นบุตร ฯลฯ เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ของพระตถาคตที่ทรงพระนามว่า ธรรมกาย แล้วจะต้องเป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้ว คืออริยมรรค กล่าวคือ ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว อันใครๆ ก็ตามไม่สามารถให้หวั่นไหวได้ ตามหลักพระพุทธศาสนาผู้ที่มีศรัทธาไม่หวั่นไหวที่เรียกว่า อจลศรัทธา อย่างต่ำก็ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไปจึงจะรู้ชัดว่าธรรมกาย มิใช่เป็นเพียงชื่อดังอันธปุถุชนเข้าใจกัน แต่เป็นกายแท้จริงที่เกิดจากโลกุตรธรรมฯ
พระบาลีสูตรที่ ๒ เกี่ยวกับ ธรรมกาย ปรากฎใน พระสูตรขุททกนิกาย อปทาน มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน ที่ ๗ ฉบับสยามรัฐ เล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๗ หน้า ๒๘๔ ว่า
อหํ สุคต เต มาตา ตุวํ ธีรา ปิตา มม สทฺธมฺมสุขโท นาถ ตยา ชาตมฺหิ โคตม ฯ สํวทฺธิโตยํ สุคต รูปกาโย มยา ตว อานนฺทิโย ธมฺมกาโย มม สํวทฺธิโต ตยา ฯ มุหุตฺตํ ตณฺหาสมนํ ขีรํ ตฺวํ ปายิโต มยา ตยาหํ สนฺตมจฺจนฺตํ ธมฺมขีรมฺปิ ปายิตา พนฺธนารกฺขเน มยฺหํ อนโณ ตฺวํ มหามุเน ปตฺตกามิตฺถิโย ยาจํ ลภนฺติ ตาทิสํ สุตํ ฯ
ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้หม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้เกิด ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกาย อันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว หม่อมฉันให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนมอันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนม คือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้หม่อมฉันดูดดื่มแล้ว ข้าแต่พระมุนี ในการผูกมัดและรักษา พระองค์ชื่อว่า มิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร บวงสรวงอยู่ ก็ย่อมจะได้ บุตรเช่นนั้น (แปลเป็นไทย ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๗๒ หน้า ๕๔๒)
ในคาถานั้นข้าพเจ้าจะอธิบายความตามนัยแห่งพระสูตรและของครูธรรมกายทั้งหลาย เฉพาะคำที่ควรอธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า "เป็นมารดา" ได้แก่ เป็นมารดาในวัฏฏะ อธิบายว่า หม่อมฉันเป็นมารดาเลี้ยงดูพระองค์ให้เจริญเติบโตในวัฏฏสงสารอันประกอบด้วยความทุกข์และความโศกพิไรรำพันอันเหล่าสัตว์พากันเพลิดเพลินอยู่ด้วยอำนาจกิเลสทั้งหลาย
คำว่า "เป็นพระบิดา" ได้แก่ เป็นบิดาในวิวัฏฏะ อธิบายว่า พระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉันในวิวัฏฏะคือพระนิพพาน คือให้หม่อมฉันข้ามพ้นวัฏสงสารอันประกอบด้วยทุกข์ไปสู่พระนิพพานอันเป็นภูมิสถานมีความสุขโดยส่วนเดียวแท้จริง พระอริยสาวกผู้เข้าถึงธรรม (ธรรมกาย) ตั้งแต่โสดาบันเป็นต้นไป ย่อมทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสนิทสนมว่า "บิดาของเรา" หรือกล่าวว่า "เราเป็นบุตร เป็นโอรสผู้เกิดจากธรรม (ธรรมกาย)" แม้พระผู้มีภาคเจ้าก็ตรัสเรียกพระอริยสาวกผู้เข้าถึงธรรมแล้วว่า "บุตรของเราธิดาของเรา"
คำว่า "เป็นผู้อันพระองค์ให้เกิดแล้ว" อธิบายว่า หม่อมฉันเป็นผู้อันพระองค์ให้อุบัติโดยธรรม คือ ธรรมกาย ในโลกุตรภูมิ
คำว่า "รูปกาย" อธิบายว่า กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ อันมีใจครอง มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด ของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันให้เจริญเติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสดอย่างดี มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
คำว่า "ของพระองค์" คือ เฉพาะของพระองค์อันวิจิตรดีลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ อันเกิดมีด้วยบุญกรรมที่พระองค์สั่งสมมาดีแล้วตลอด ๔ อสงไขยแสนกัลป์
คำว่า "ธรรมกาย" ได้แก่ กายตรัสรู้ธรรมอันเป็นโลกุตร ประกอบด้วยธรรมขันธ์อันบริสุทธิ์ล้วน มีความเที่ยงแท้ยั่งยืนเป็นธรรมดา เพราะเว้นจากขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น อันไม่บริสุทธิ์
คำว่า "น่าเพลิดเพลิน" อธิบายว่า ธรรมกาย นำความสุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่หม่อมฉันผู้เข้าถึงและเห็นอยู่ หรือ ชื่อว่า "น่าเพลิดเพลิน" เพราะเป็นกายที่วิจิตรรุ่งเรืองด้วยบารมีธรรมอันหม่อมฉันสั่งสมไว้ดีแล้วตลอดแสนกัลป์ อนึ่ง ชื่อว่า "น่าเพลินเพลิน" เพราะเป็นกายที่วิจิตรงดงามด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ อันใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณี ย่อมนำมาซึ่งความเพลิดเพลินยินดีแก่หม่อมฉันผู้เข้าถึงและเห็นอยู่ เหมือนรูปกายของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งวิจิตรงดงามด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการเป็นต้น อันถึงพร้อมด้วยบุญลักษณะนับด้วยร้อยย่อมเป็นที่เพลิดเพลินเจริญนัยน์ตาของชาวโลกผู้แลดูอยู่ไม่รู้จักเบื่อหน่ายฉะนั้นฯ
คำว่า "อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว" อธิบายว่า อันพระองค์ทรงประกาศอริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นเหตุให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ แก่หม่อมฉันผู้ปฏิบัติตามอยู่ ชื่อว่า ทรงยังธรรมกายของหม่อมฉันให้เติบโตแล้ว ฉะนั้นฯ
คำว่า “ธรรมกาย” ใน พระบาลีพระสูตรที่ ๔ ขุททกนิกาย อปทาน อัตถสันทัสสกเถราปทาน ที่ ๗ ฉบับสยามรัฐ เล่ม ๓๒ ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๔๓ ว่า
ธมมกายญจ ทีเปนติ เกวลํ รตนากรํ วิโกเปตุ น สกโกนติ โก ทิสวา นปปสีทติ.
แปลว่า อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงแสดง ธรรมกาย อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น กิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้ทรงอ่อนกำลังได้ ใครเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า
คาถานี้ ท่านพระอัตถสันทัสสกเถระ ระลึกถึงการสร้างบารมีในอดีตชาติ ในครั้งที่ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ แล้วกล่าวสรรเสริญพระปทุมมุตระพุทธเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าจะอธิบายความตามนัยยะแห่งพระสูตร อรรถกถา และนัยยะแห่งครูธรรมกายทั้งหลาย เฉพาะคำที่ควรอธิบาย ดังต่อไปนี้
คำว่า ทรงแสดงธรรมกาย ได้แก่ ทรงประกาศ คือทรงทำภาวลักษณะแห่งธรรมกายให้ปรากฏ
คำว่า เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ได้แก่ เป็นที่เกิด เป็นที่สถิตหรือเป็นที่ปรากฏแห่งรัตนะ คือพระรัตนตรัย แห่งรัตนะคือโพชฌงค์ ๗ และแห่งรัตนะคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
อธิบายว่า ธรรมกาย ย่อมเป็นที่สถิตเป็นที่ปรากฏอยู่แห่งพระรัตนตรัยคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะอันยอดเยี่ยมจะหารัตนะใดในภพสามเสมอมิได้เลย ดังที่ตรัสไว้ในรัตนสูตรนั้นถ้าว่า บ่อเกิดแห่งรัตนตรัยคือธรรมกาย ธรรมกายก็คือพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะเช่นกัน ดังที่ท่านพระเสลเถระกล่าวไว้ในอุปทานว่า "พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นที่อาศัยแห่งมนต์คือความรู้ เป็นบุญเขตของผู้แสวงหาความสุข เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ฯ"
แท้จริง เพราะความปรากฏแห่ง ธรรมกาย จึงทำพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพุทธรัตนะได้ เพราะความปรากฏแห่งธรรมกาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงตรัสรู้ธรรมได้คือทั้งรู้ทั้งเห็นธรรม เป็นธรรมรัตนะ เป็นพระธรรมดวงแก้ว สามารถกำจัดมลทินคือกิเลสทั้งหลายได้จริง และเพราะความปรากฏแห่งธรรมกาย พระสงฆ์จึงเป็นอริยสงฆ์ เป็นสังฆรัตนะอย่างแท้จริง และเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกได้ เพราะฉะนั้น ธรรมกาย จึงเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนตรัยด้วยประการฉะนี้ฯ
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อ ธรรมกาย คือ พระตถาคตเจ้าปรากฏ รัตนะ คือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ ดังที่ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏ รัตนะคือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ “ ฯ
อนึ่ง ธรรมกาย เป็นบ่อเกิดแห่งธรรมวินัยย่อมมีรัตนะมากมาย คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ ย่อมมีในธรรมกายนี้เหมือนกันฯ
คำว่า กิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้ทรงอ่อนกำลังได้ มีอธิบายว่า กิเลสทั้งหลายไม่อาจทำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายให้พินาศ คือให้พ่ายแพ้ได้อีก ดังที่ตรัสไว้ในขุททกนิกายธรรมบทว่า
“กิเลสชาตมีราคะเป็นต้น อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว อันพระองค์ย่อมไม่กลับแพ้อีก” ฯ
คำว่า ใครเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า มีอธิบายว่า คำว่า “ใคร” ในที่นี้หมายเอาบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีบุญสมภารอันสั่งสมไว้มากมายในพุทธศาสนา และไม่เป็นผู้มากด้วยความริษยา เห็นพระสัมพุทธเจ้าแล้วย่อมเกิดความเลื่อมใส ผู้ไม่เลื่อมใสมีประมาณน้อยนัก
ด้วยว่าบุคคลผู้ชอบรูป เมื่อเห็นพระสรีระของพระตถาคต อันประดับด้วยพระมหา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่