ขอให้โชคดี “ทิวลิปเหล็ก” หลุยส์ฟานกัล

“รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย” เมื่อเปรียบเทียบกับการคุมทีมฟุตบอล คำกล่าวจากตำราพิชัยสงครามซุนวู มิได้เกินเลยไปเลยแม้แต่น้อย แม้จะเชี่ยวชาญในการคุมทีมแค่ไหน แต่ถ้ามองขุมกำลังของตัวเองไม่แตกฉาน ก็ไม่ต่างกับมีของดีแล้วใช้ไม่เป็น เท่านั้นยังไม่พอยังทำให้ทีมต้องเจอกับความย่อยยับอีกต่างหาก

หลุยส์ฟานกัล เป็นกุนซือที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จมามากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาจะประสบความสำเร็จกับการคุมทีมครั้งใหม่ ประสบการณ์ที่ย่อยยับ ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นฉลาดขึ้น แต่นั่นคงไม่เพียงพอกับ การเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ถ้าใครเคยอ่านบทความผม (เคยลงแต่ในเฟส ไม่เคยลงเพจ) จะเคยลงถึงความล้าหลังของแทคติก3-5-2 จุดอ่อนที่ทุกทีมเลิกใช้ในระบบกองหลัง 3 ตัว แต่ฟานกัลก็ใช้จนผลงานของทีมย่อยยับ จึงเริ่มรู้ตัว จึงหันมาเล่นกองหลัง 4 คน การจะเป็นแชมป์นั้น ความไม่รู้ซึ่งก่อให้เกิดความผิดพลาด คือเรื่องที่ไม่ควรให้บังเกิดขึ้นอย่างยาวนานเด็ดขาด

การฝึกซ้อมที่หนักหน่วง จนทำให้ผู้เล่นบาดเจ็บกันระนาว การยึดมั่นถือมั่นปรัชญาของตนเอง โดยไม่ดูธรรมชาติของทีม และธรรมชาติของแทคติกในลีก
เฟอร์กี้เคยกล่าวไว้ว่า ทีมเขาไม่สามารถเล่นระบบการครองบอลอย่างบาร์เซโลน่าได้ มันต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก และถึงทำได้ก็ยังไม่การันตีถึงความสำเร็จอยู่ดี เพราะนั่นเฟอร์กี้มองออกถึง ธรรมชาติของทีม มองออกถึงขุมกำลังตัวเอง ว่าจุดเด่นขุมกำลังตัวเองเหมาะยังไง แต่ฟานกัลยึดมั่นในปรัชญาตัวเอง (คนละแทคติกกับบาร์เซโลน่า)ปรัชญาที่ว่าเมื่อเราครองบอลได้เหนือกว่าคู่แข่งแล้ว เราจะสามารถกำหนดรูปของเกมซึ่งมามารถพิชิตคู่แข่งได้ง่าย เราคงเห็นกันแล้วว่าปรัชญานี้สำหรับขุมกำลังของทีมปัจจุบันนั้นผิดมหันต์

ยอดทีมในปัจจุบัน จะพยายามเข้าทำให้ได้เมื่ออยู่ในโซนอันตราย การพยายามหาวิธีเข้าทำเมื่อทำไม่ได้ก็หาวิธีเพรซซิ่งเก็บบอล จังหวะสองต่อไป การจะมาต่อบอลเอาชัวร์แทบทุกจังหวะ มันช้าเกินไปสำหรับแทกติคสมัยใหม่ ทุกทีมต่างทันแทคติกกันหมดแล้ว แป๊บเดียวก็วิ่งลงมารับหน้ากรอบเขตโทษกันหมด เราจึงไม่แปลกใจเลย ที่จังหวะลุ้นทำประตูในยุคหลุยส์ฟานกัล มีน้อยมากๆ ที่สำคัญมันทำให้นักเตะไม่กล้าเล่นตามจินตนาการของตัวเอง อะไรๆก็เน้นการผ่านบอลเอาชัวร์ไว้ก่อนเสมอ

ปรัชญาถ้าผิด ก็ต้องเปลี่ยน แต่ความยึดมั่นถือมั่นของฟานกัล ยังเหมือนเดิม ต้องรอให้พินาศก่อนถึงจะเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีวีแววว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง การใช้ผู้เล่นที่ผิดตำแหน่ง เช่นนำบลินด์มาเล่นเป็นกองหลังตัวกลางแม้จะเป็นจุดอ่อนมาตลอด และที่น่าเจ็บใจที่สุด คือเมื่อผู้เล่นเริ่มเล่นเข้าขากันแล้ว กลับดร็อปผู้เล่นคนนั้น เช่นเอเรร่า ผมมั่นใจว่า ฟานกัลไม่ชอบเอเรร่ามากนัก ในแง่ที่ว่า เอเรร่าไม่ทำตามแทคติกตามที่เขาสังอย่าง100เปอร์เซ็นต์ บ่อยครั้งที่เราเห็นการประสานกันอย่างลงตัวของ ชไนเดอร์ลิน กับเอเรร่า อีกคนลงไปรับอีกคนพาบอลทะลวงไปแนวรุกได้ ส่งผลให้เกมรุกของทีมมีทางเลือกและยืดหยุ่น แต่ฟานกัลชอบการถ่ายบอลอย่างไม่ต้องเสี่ยง ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ชอบนำคาร์ริคชไนเดอร์ลิน หรือชไวนสไตเกอร์มายืนด้วยกัน ล่าสุดที่แพ้ลิเวอร์พูลอย่างอัปยศก็ใช้เฟลไลนี่มายืน เพื่อเก็บบอล ตรงจุดนี้เอง ที่ฟานกัล “ไม่รู้เรา" ในการทำศึก แม้ตัวเองจะประสบความสำเร็จในการคุมทีมแค่ไหนก็ตาม แต่กลับติดกับดักแห่งความเชื่อมั่น จนลืม ธรรมชาติของทีมเวิร์คไปอย่างน่าเสียดาย ธรรมชาติที่ว่า ทีมเมื่อลงตัวแล้ว การจะไปเปลี่ยนตัวผู้เล่นในนัดสำคัญๆคือการฆ่าตัวเอง

เราจะเห็นได้ว่า เฟลไลนี่ช้าไปหนึ่งจังหวะตลอด การเล่นคู่ชไนเดอร์ลิน เมื่อชไนเดอร์ลินลงไปรับ เฟลไลนี่ก็ได้แต่จ่ายบอลสั้นๆ ช้าๆ ฟานกัลต้องการความแข็งแกร่งของแดนกลาง จนลืมคิดไปว่า ชไนเดอร์ลินและเอรเรร่าประสานงานกันอย่างเข้าขาเพียงใด เมื่อเล่นคู่กัน ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของแต่ละคน ส่วนเฟลไลนี่ตำแหน่งที่เขาถนัดที่สุดคือตำแหน่งหน้าต่ำ และอีกตำแหน่งคือตัวรุกเต็มตัว เท่านั้นยังไม่พอ นักเตะอย่างเขายังเหมาะกับแทคติกเฉพาะทางอีกต่างหาก คือแม้เขาจะเชื่องช้าแต่สามารถใช้การบังบอลที่ยอดเยี่ยมคอยเก็บบอลในแดนหน้า คอยปะทะในจังหวะที่ใช้พละกำลังและรูปร่างที่ได้เปรียบในแดนหน้า ที่พร้อมจะประสานงานทันทีให้ศูนย์หน้าหรือปีกที่มีความเร็วสูง แบบฉับพลันโดยตัวเองสามารถใช้ความสูงใหญ่สอดขึ้นไปในเขตโทษได้ในทันทีเช่นกัน เราจึงไม่แปลกใจนักที่ ฟอร์มกับทีมเก่าของเขาอย่างเอฟเวอร์ตัน เขาโชวฟอร์มได้ยอดเยี่ยม เพราะเขาเล่นในตำแหน่งทีถนัด และธรรมชาติของทีมพร้อมแทกติคเหมาะกับจุดเด่นของเขา แต่กับการเจอลิเวอร์พูลโดยการคุมทีมของ คล็อป ผู้จัดการทีมที่ถนัดในศาสตร์แห่งการเพรซซิ่ง การให้ผู้เล่นวิ่งบีบไล่บอลเร็ว ซึ่งการนำเฟลไลนี่ไปอยู่ตรงกลางคู่ชไนเดอร์ลิน เมื่อต้องรับมือกับ"เพรซซิ่งฮาร์ดคอร์"ของ คล็อป มันคือหายนะดีๆนี่เองในครึ่งแรก เพราะไม่มีผู้เล่นคนใดเลยที่จะพาบอลเชื่อมเกม

วิชาที่ผู้ใช้ถนัดอย่างกลยุทธ์เพรซซิ่ง ผู้ใช้จะสามารถรู้ได้ว่าจะใช้เมื่อไหร่ และถอนออกตอนไหนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเจอร์เก้นคลอป คือผู้เชี่ยวชาญศาตร์นี้อย่างแท้จริง ครึ่งหลังแมนยูเปลียนมาใช้ระบบ 3-5-2 แน่นอนว่า เกมแดนกลาง5คนที่เด่นเรื่องการเคาะบอลครองบอล การใช้เพรซซิ่ง4คนดูจะไม่สมควร คล็อปผู้มองจุดอ่อนของแทกติคโบราณ 3-5-2ออก รีบถอนเพรซซิ่งออก และใช้การรับแบบโซน ซึ่งเหมาะกับการสวนกลับเร็วทันที จุดอ่อนของ3-5-2คือเกมรับทางกราบเมือเจอกับเกมสวนกลับของลิเวอร์พูลแล้ว แมนฯยูไนเต็ดก็โดนโจมตีจุดอ่อนจน โดนสอยประตูที่สองนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด
หนนี้เจอร์เก้นคล็อปชนะฟานกัลป์อย่างขาดลอย ในเรื่อง “รู้เขา และรู้เรา”

“ในการศึก แม่ทัพที่ประเมินขุมกำลังของกองทัพตัวเองไม่ออก ประเมินสมรภูมิรบไม่ได้ ประเมินศัตรูไม่ชัดเจน ทัพนั้นล่มสลายตั้งแต่ยังไม่ออกศึกด้วยซ้ำ” แค่ข้อแรก ฟานกัลก็หมดความชอบที่จะคุมทีมนานแล้วด้วยซ้ำ

แม้ความเชื่อมั่นของเขาจะถ่ายทอดไปสู่ความไว้วางใจ ทำให้ดาวรุ่งจรัสแสงขึ้นมาอย่างมากมายทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี กับทีมอย่างแมนฯยูไนเต็ด ที่จะต้องมารอให้ทีมพินาศก่อนถึงจะรู้ตัวแล้วค่อยมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีละจุด ปัญหาที่ควรจะแก้ก็ยังไม่ได้แก้อีกหลายจุด ปัญหาไหนแก้ได้แล้ว ก็เอาปัญหาใหม่ใส่เข้ามาอีก นับเป็นวังวนที่น่าเศร้าใจของเหล่าแฟนบอลอย่างแท้จริง

ทีมจะคว้าแชมป์มักไม่เปลี่ยนตำแหน่งบ่อยๆกับตำแหน่งที่สำคัญในแดนกลาง ทีมต้องลงตัวนานแล้ว การทุ่มเงินมหาศาลกับผลงานที่ยังห่วยแตก บ่งบอกได้ถึง การ”ไม่รู้เขาและไม่รู่เรา”อย่างชัดเจน

ทุกวงการย่อมต้องมีบุคคลที่เคยอยุ่ในจุดประสบความสำเร็จสุงสุด จุดที่ผลงานปานกลางไม่ดีไม่เลวและจุดที่ผลงานย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน คนเขียนการ์ตูน นักกีฬา นักการเมือง ผู้จัดการทีม และอีกหลายๆวงการ หลุยส์ฟานกัล คือผู้จัดการทีมที่เก่งกาจคนหนึ่งกับผลงานในอดีต แต่ในปัจจุบันผลงานกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจัดว่า ย่ำแย่เต็มทน ยังไงก็ตามแม้ความหวังจะริบหรี่ แต่แฟนๆก็อยากให้ฟานกัลไว้ลายช่วยทำทีมให้ได้ท็อปโฟร์ พาทีมไปเล่นแชมเปี้ยนลีกให้ได้ ส่วนเรื่องถ้าได้ไปแชมเปี้ยนลีกแล้ว เกิดท่านเอ็ดวู๊ดเวิร์ดจะให้ฟานกัลคุมทีมต่อ จุดนั้นค่อยคิดถึงความสยองครับ เพราะปัญหาที่หลักเลี่ยงไม่ได้ก็คือการตัดสินใจของเอ็ดวุ๊ดเวิร์ดอยู่ดี

อย่างน้อยคนรุ่นหลังจะได้กล่าวกันว่า “หลุยส์ฟานกัล แม้จะไม่ประสบความสำเร็จกับแมนฯยูไนเต็ด แต่ยังสามารถทำทีมไปแชมเปี้ยนลีกได้ .
ยังดีกว่า “หลุยส์ฟานกัล หนึ่งในกุนซือยูไนเต็ดผู้ทำผลงานยอดแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์”

เอาใจช่วยครับ อย่างไรก็ตามถ้าฟานกัลไม่โดนไล่ออกจบฤดูกาล สัญญาของแกก็เหลืออีกแค่ 1 ปีอยู่ดี ผมขอพูดไว้ก่อนเลย เพราะบทความของผมในครั้งหน้า ไม่รู้จะมีอารมณ์อยากเขียนขึ้นมาตอนไหนอีก

           สำหรับฟานกัลนั้น ผมขอขอบคุณทุกสิ่งที่ผ่านมา สำหรับยุไนเต็ด คุณคือผู้จัดการทีมที่เก่งกาจคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ลูกหนัง ในอดีตคุณคือผู้ปลุกปั้นนักเตะเยาววัยให้มีชื่อดังหลายต่อหลายคนในวงการ แม้แนวทางและผลงานกับยูไนเต็ด จะไม่สวยงามอย่างทีหลายคนคาดคิด แต่ขอบคุณในความทุ่มเทที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ผู้จัดการทีมของสโมสรแมนเชสเตอร์ยุไนเต็ด คือบุคคลที่มีเกียรติ อันได้รับเกียรติที่ทรงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวแล้ว แม้มันจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จก็ตาม แต่สำหรับผมคุณก็คือหนึ่งในครอบครัวยูไนเต็ดอยู่ดี โชคดีครับ “ทิวลิปเหล็ก” หลุยส์ ฟานกัล

                                                                                                                                      By  จ้าวแห่งพิชัยยุทธลูกหนัง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่