มหัศจรรย์พันลึกเศรษฐกิจญวน

https://www.thairath.co.th/content/583972

Regional Comprehensive Economic Partnership ที่เราเรียกย่อๆ ว่า RCEP อาร์เซ็ป ซึ่งหมายถึง อาเซียน+6 เป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ประเทศ ที่แต่เดิมคาดว่าจะบรรลุการเจรจาในปลาย พ.ศ.2558 แต่โดนนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซียบอกเลื่อนไปแล้วครับ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว

อาเซียน+6 ผมหมายถึง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม ลาว เมียนมา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย มีประชากรรวมกัน 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29% ของการค้าโลก มีจีดีพีรวมกันมากกว่า 21.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 28% ของโลก

น่าเสียดายเหลือเกินครับที่อาร์เซ็ปที่เป็นความหวังของเราถูกเลื่อนออกไป ในขณะเดียวกัน ประเทศในอาร์เซ็ปที่ไปลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหรือทีพีพี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 จำนวน 12 ประเทศนั้น มีถึง 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกของอาร์เซ็ปคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน หลายท่านบอกว่า นี่อาจจะเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุกระมังที่ทำให้หลายประเทศไม่กระตือรือร้นที่จะเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป เพราะพวกเขาเข้าไปอยู่ในทีพีพีแล้ว

ความร่วมมืออาร์เซ็ปที่เริ่มเมื่อ พ.ศ.2555 ผลักดันโดยจีน หลายคนถึงขนาดแอบกระซิบกระซาบว่าอาร์เซ็ปเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมจีน

แล้วคนเดิมก็มากระซิบกระซาบต่อว่า ทีพีพีนี่แหละที่เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ใช้คานอำนาจเศรษฐกิจ การค้า และอิทธิพลของจีน เช่นกัน

ทีพีพีคือเครื่องมือของสหรัฐฯ ส่วนอาร์เซ็ปคือเครื่องมือของจีน

ทีพีพีที่นำโดยสหรัฐฯมีสมาชิก 12 ประเทศ คือ สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน เปรู และชิลี มีจีดีพีรวมกัน 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 38% ของจีดีพีโลก มีประชากรรวมกัน 800 ล้านคน หรือ 11% ของประชากรโลก มีผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงถึง 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1,095 ล้านล้านบาท

เรียกว่า ทีพีพีกับอาร์เซ็ปอาจจะเป็นสงครามการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของสหรัฐฯและจีนก็ได้

ทีพีพีทำให้สหรัฐฯต้องยกเลิกภาษีศุลกากรมากกว่า 18,000 รายการ ให้กับ 11 ประเทศสมาชิก อย่างเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศที่จะส่งเข้าไปขายในดินแดนสหรัฐฯจะต้องเสียภาษีอยู่ในระดับ 17.8-32.5% หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เสียภาษีอยู่ในระดับ 7% แต่ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิกของทีพีพีนั้น สามารถส่งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังตลาดสหรัฐฯด้วยภาษีศุลกากร 0%

นี่ล่ะครับ คือสิ่งที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่บริษัทในภูมิภาคอาเซียนต้องตบเท้าเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม แม้แต่บริษัทจากประเทศจีนก็ยังต้องย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศเวียดนาม เพราะกฎแหล่งกำเนิดสินค้ากำหนดให้เสื้อผ้าที่เวียดนามผลิต จะต้องใช้ผ้าที่ทอในเวียดนามเองเท่านั้น

ผมไม่พูดถึงสินค้าที่สหรัฐฯยกเลิกภาษีศุลกากรมากกว่า 18,000 รายการดอกครับ แต่ขอเขียนถึงเรื่องเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในเวียดนาม สินค้าเพียงประเภทเดียวนี่ล่ะครับที่ทำให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปในเวียดนามอย่างมากมายมหาศาล โรงงานทอผ้าและฟอกย้อมซึ่งแต่เดิมอยู่ในประเทศจีน วันนี้ต้องกระยิ้มกระสนหนีตายย้ายฐานไปลงทุนในเวียดนาม เพราะถ้าไม่ลงทุนที่นี่ตนเองก็ไม่สามารถค้าขายกับ 12 ประเทศทีพีพีซึ่งมีจีดีพีสูงถึง 38% ของจีดีพีโลก ได้ดอกครับ เมื่อปีที่แล้ว เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจึงไหลเข้าเวียดนามมากถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ผมอ่านข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลเวียดนามพบว่า ในต้นปีนี้ บริษัทจากจีนหนีตายเข้าไปลงทุนในเวียดนามกันอย่างคึกคัก

บริษัทแอลจีอิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตโทรทัศน์อันดับ 2 ของโลก บัดนี้ได้ย้ายโรงงานผลิตโทรทัศน์จากไทยไปอยู่เวียดนามเรียบร้อยแล้ว ถามว่าย้ายตามใครไป ก็ย้ายไปตามซัมซุงน่ะแหละครับ บริษัทซัมซุงย้ายจากไทยไปเวียดนามก่อนหน้านี้แล้ว

สองสามวันต่อจากนี้ ผมขอเขียนรับใช้ถึงความมหัศจรรย์พันลึกของเศรษฐกิจเวียดนาม ที่มหัศจรรย์เพราะรัฐบาลเวียดนามดำเนินนโยบายต่างประเทศในด้านการค้าอย่างเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องที่สุด เรื่องราวทั้งหลายจะเป็นยังไง ขออนุญาตมารับใช้กันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

คุณนิติ นวรัตน
ซัมซุง ย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปเวียดนาม แอลจีอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตโทรทัศน์อันดับ 2 ของโลก ย้ายโรงงานผลิตโทรทัศน์จากไทยไปเวียดนาม บริษัทแคนนอน บริษัทฮุนได บริษัทพอสโค บริษัทเคปโก บัดนี้ ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่ประเทศเวียดนามเรียบร้อยแล้ว

สายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์สของญี่ปุ่นกระวีกระวาดเข้าไปซื้อหุ้นเวียดนามแอร์ไลน์สซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของเวียดนาม โดยไปขอแบ่งหุ้นมาได้ 8.8% ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทแอร์บัสยังไปสะกิดสายการบินเวียดเจ็ทของเวียดนามเพื่อขอลงนามในข้อตกลงตั้งศูนย์ฝึกอบรมการบินและซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส A320/A321 ที่นครโฮจิมินห์ เพื่อต้องการให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการฝึกอบรมนักบิน วิศวกร ช่าง พนักงานอำนวยการบิน และครูฝึกการบิน พร้อมกับติดตั้งเครื่องบินจำลองที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อฝึกอบรมลูกเรืออีกด้วย

ในขณะที่บางประเทศถูกสงสัยในเรื่องความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป แต่เวียดนามไม่ใช่ บัดนี้ บริษัทแอร์บัสนำมาตรฐานของตนและขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรปมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรมเวียดเจ็ทในเวียดนาม ทำให้เวียดเจ็ทเป็นสายการบินแรกที่ร่วมมือกับบริษัทแอร์บัสสำหรับศูนย์ฝึกอบรมการบินและซ่อมบำรุงเครื่องบินตระกูล A320

บริษัทเมเปิ้ลของสิงคโปร์ไปลงทุนสร้างโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์ ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของจังหวัดบั๊กนิญโดยมีกำลังการผลิต 22 ล้านชิ้นต่อปี และจะเริ่มดำเนินงานได้ใน พ.ศ.2561

บริษัทยูไนเต็ดมอร์ ยักษ์ใหญ่ของมาเลเซียก็อดรนทนไม่ได้ต้องวิ่งไปขออนุญาตตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมไซ่ง่อนไฮเทค และจะเริ่มผลิตในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเริ่มต้นที่ 4 ล้านชิ้นต่อปี

ต้องยอมรับครับว่า คณะผู้นำรัฐบาลเวียดนามมีสมองที่ชาญฉลาดด้านการค้า สามารถใช้ความขัดแย้งกันของมหาอำนาจชาติต่างๆ บนโลกใบนี้ มาเป็นเครื่องมือให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการเจรจาและลงนามข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคีต่างๆ แต่ละข้อตกลงนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ประเทศเวียดนาม ทำให้ประชาชนคนเวียดนาม ที่แต่ก่อนง่อนชะไรเคยลำบากยากแค้นแสนเข็ญจากสงครามที่รบพุ่งติดต่อกันมายาวนาน กลายเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนของเวียดนามโตถึง 9.3% เงินลงทุนจากต่างประเทศพุ่งกระฉูดส่งตูดจัมโบ้ไปที่ 17.4% เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว

ใครจะนึกว่ารัฐบาลเวียดนามค่อยๆทยอยพาเศรษฐกิจเวียดนามไปบูรณาการกับเศรษฐกิจ 55 ประเทศระดับโลก ทำให้ปัจจุบันทุกวันนี้ เวียดนามกับ 55 ประเทศนั้นมีการลดภาษีซึ่งกันและกัน เหลือ 0% ในปริมาณ 90% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด

นอกจากรัฐบาลจะฉลาดและเก่งแล้ว เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีแรงงานพร้อม ครึ่งหนึ่งของประชากร 90 ล้านคนของเวียดนามมีอายุต่ำกว่า 30 ปี อยู่ในช่วงอายุในวัยแรงงาน ผู้คนเหล่านี้แม้ว่าจะมีค่าแรงถูกแต่สู้งาน ตอนนี้ใครๆก็ยอมรับนะครับว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีคนชั้นกลางที่เติบโตมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ low limitation of market access มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดต่ำเกือบจะที่สุดในโลก ตอนนี้องค์การการค้าโลกหรือ WTO ประเมินแล้วครับว่า เอกชนของเวียดนามเข้าสู่ตลาดเวียดนามได้ง่ายพอๆกับสิงคโปร์ ผู้อ่านท่านที่เคารพ ภาวะตลาดที่เข้าถึงง่ายของเวียดนามนี่ล่ะครับ จะทำให้ประเทศนี้ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจอย่างสูงและอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

ใครเป็นนักลงทุนที่ได้อ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของเวียดนามที่ผ่านสภามาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 ก็คงจะต้องยิ้มจนปากฉีกถึงใบหู เพราะกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่นี้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ WTO เปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในเวียดนามได้ง่ายกว่าเดิมมาก

ที่สำคัญคือ รัฐบาลเวียดนามเปิดโอกาสให้ต่างชาติจัดทำความตกลงจัดซื้อกับภาครัฐ ผ่านการเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์ต่างๆที่มีมูลค่าสูง สามารถเข้าถึงการจัดซื้อของภาครัฐทุกระดับ ไม่ว่าระดับกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ ภูมิภาค ไปจนถึงระดับจังหวัด

ผู้อ่านท่านครับ เศรษฐกิจเวียดนามที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในขณะนี้ เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเปิดฟ้าส่องโลกจะค่อยๆทยอยนำมารับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพกันไปเรื่อยๆนะครับ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่