ไฟดับไม่สะเทือนเวียดนาม ปี’66 FDI ทะลัก 3 หมื่นล้านUS

ปีก่อนในเวียดนามเกิดปัญหาไฟดับ หลายคนอาจจะมองว่านั่นคงทำให้นักลงทุนสยองเปลี่ยนใจหันหนีจากเวียดนามเสียแล้ว
แต่ “ความน่าลงทุนของเวียดนาม” แทบไม่ต้องอธิบายเลย หากดูสถิติของกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (Vietnam’s Ministry of Planning and Investment) ช่วงวันที่ 1 ม.ค.-20 ธ.ค. 2566 จะพบว่ายอดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศไหลเข้าไปในเวียดนาม 36,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ในจำนวนนี้เป็นโครงการใหม่ 3,188 โครงการ รวมมูลค่า 20,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 62.2%

ท็อป 5 สาขาการลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามนั้น ประกอบด้วย
1.การผลิตและการประมง 1,075 โครงการ 23,505 ล้านเหรียญสหรัฐ
2.อสังหาริมทรัพย์ 68 โครงการ 4,665.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
3.การผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า น้ำประปา ก๊าซ และเครื่องปรับอากาศ 12 โครงการ 2,373.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
4.กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 11 โครงการ มูลค่า 1,555.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
5.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 403 โครงการ มูลค่า 1,285 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประเทศที่ขนเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในเวียดนามสูงสุด ประกอบไปด้วย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งนั่นคือ กลุ่มประเทศเดียวกันกับที่มาลงทุนในไทย
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 111 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามด้วย มีมูลค่า 879.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการใหม่ 57 โครงการ มูลค่า 490.59 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อมองต่อไปอีกจะพบว่า สินค้าที่ผลิตได้ในเวียดนามถูกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดส่งออกเดียวกับสินค้าไทย โดยปี 2566 เวียดนามส่งออกไปสหรัฐ 97,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน 61,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 23,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเนเธอร์แลนด์ 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังมีส่งออกมาที่ไทย เป็นอันดับ 1 ในอาเซียนอีกด้วย มูลค่ากว่า 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
เวียดนามได้กลายเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า จากความได้เปรียบหลายด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้าถูกกว่า จำนวนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่มีจำนวนมาก ความได้เปรียบจากการทำความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ถึง 53 ฉบับ มากกว่าไทยที่มีความตกลงเอฟทีเออยู่ 15 ฉบับ และในจำนวนเอฟทีเอที่เวียดนามเป็นสมาชิกอยู่นั้นเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง CPTPP หรือแม้แต่ EVFTA
ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเร่งสปีดงัดทุกไม้เด็ดที่มี เสริมเสน่ห์ให้การเข้ามาทำธุรกิจในไทย จะด้วยการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์บวกกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือจะเร่งปิดจบความตกลงการค้าฉบับสำคัญ ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับนักลงทุนก็ต้องรีบ เพราะหากรอช้าอย่าว่าแต่นักลงทุนชาติอื่น ๆ เลยที่ย้ายไปเวียดนาม “นักลงทุนไทย” ก็คงไม่รอช้าที่จะขยายออกไปยังเวียดนามเช่นกัน

https://www.prachachat.net/columns/news-1495954
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่