อ.จุฬาฯมองกรณี บี้‘สรยุทธ’ลาจอ-หวั่นลามถึงการจำกัดเสรีภาพสื่อ



จากกรณีที่ผู้ประกาศข่าวคนดัง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน จากกรณีเงินค่าโฆษณาของบริษัทไร่ส้ม ทำให้อสมท.เสียหาย 138 ล้านบาท จนล่าสุดได้ประกาศขอพักการทำหน้าที่
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ประเด็นที่มีกลุ่มคนเรียกร้องให้คุณสรยุทธหยุดพักการทำหน้าที่ภายหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น ท้ายที่สุด วันนี้ทางคุณสรยุทธก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะยุติการทำหน้าที่ของตนเอง

อย่างไรก็ดี จากการติดตามปรากฏการณ์การเรียกร้องให้คุณสรยุทธหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ผมเห็นว่ามีประเด็นทางวิชาการที่น่าสนใจที่จะนำมาอธิบายพร้อมตั้งข้อสังเกตุผ่าน "หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ว่าด้วย "เสรีภาพของสื่อสารมวลชน" (Freedom of the Press) อย่างน้อย 4 ข้อดังนี้

1.ตามหลักการแล้ว การเรียกร้องให้สื่อหยุดการปฏิบัติหน้าที่นั้นสามารถทำหน้าได้ แต่มิใช่บนเหตุผลที่ว่าเขาถูกศาลพิพากษา (ไม่ว่าจะศาลชั้นใด) ว่าผิดหรือไม่อย่างไร เพราะนั่นคือเรื่อง "การรับผิดชอบทางกฎหมาย" (Legal Responsibility) กล่าวคือ เป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) หากแต่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของสื่อต้องอยู่บนเหตุผลที่ว่าเขากระทำการขัดแย้งต่อจริยธรรมของสื่อ (Media Ethics) ซึ่งเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ (Credibility) ที่เกี่ยวข้องกับ "การรับผิดชอบทางสื่อ" (Media Responsibility) อันเป็นคนละส่วนกันกฎหมาย ดังนั้น การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของสื่อจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเดียวนั่นคือ การกระทำผิดที่ขัดแย้งต่อจริยธรรมอันเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ "ในการทำหน้าที่สื่อ" หาใช่การกระทำที่ขัดแย้งต่อกฎหมายที่เป็นเรื่องของการล่วงละเมิดต่อกฎเกณฑ์ (Norm) ของบ้านเมือง

2. การกระทำความผิดที่จะส่งผลให้สื่อต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับการทำหน้าที่ของสื่ออย่างยิ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การกระทำความผิดของสื่อที่ถูกกล่าวหานั้นต้องเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ตามจริยธรรมของสื่อ "โดยตรง" เช่น ส่งผลต่อการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรม ฯลฯ หากปรากฏว่าการกระทำความผิด "ไม่ได้ส่งผลโดยตรง" กับการทำหน้าที่ดังกล่าว ก็หาใช่เหตุที่สื่อต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไม่ (ในทางกฎหมายเรียกว่า "หลักความใกล้ชิดอย่างยิ่ง" ระหว่างการกระทำความผิดและการทำหน้าที่) เพราะหาได้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของสื่อตามข้อ 1. ข้างต้น

3. หลายเหตุผลที่เรียกร้องให้คุณสรยุทธหยุดการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมามีความปะปนไม่ชัดเจนดังที่ผมได้อธิบายตามหลักวิชาไปในข้อ 1 และ 2 กล่าวคือ มีการหยิบยกเรื่องของการนำเอาเรื่องของ "การทุจริตผิดกฎหมายบ้านเมือง" บ้าง "บุคคลตัวอย่าง" หรือ "บุคคลสาธารณะ" บ้าง ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องจิรยธรรมของสื่อ

4. การพิจารณาเรื่องการให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีการพิจารณาบน "หลักความได้สัดส่วน" (Principle of Proportionality) ระหว่างประเภทการกระทำผิดกับหน้าที่ของสื่อควบคู่กันไปด้วย ว่าการกระทำผิดประเภทนี้ส่งผลให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ประเภทใด จะตีความอย่างกว้างมิได้ ทั้งนี้เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการพิจารณาถึง "การจำกัดการใช้เสรีภาพของสื่อ" ด้วยโดยสภาพ

Cr : ข่าวสด ออนไลน์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่