พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ตอน มังกรต่างถิ่นพบงูเจ้าถิ่น “พุทธ VS ชินโต”


หากจะพูดถึงประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน เราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?
...สุดยอดเมนูอาหารอันเลื่องชื่ออย่าง “ซูชิ” หรือ “ซาชิมิ” ที่เน้นความสดของอาหาร
แหล่งช้อปปิ้งอันลือนามอย่าง “โอโมเตะซันโด” หรือ “รปปงหงิ” สัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น
อย่าง “ภูเขาไฟฟูจิ” ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเมื่อไม่นานนี้


และจากทั้งหมดที่กล่าวมาดูเหมือนว่าสิ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้เมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น คือ
วัดวาอารามรวมถึงศาลเจ้าที่มีอายุหลายร้อยปี หรือบางแห่งมีอายุมากกว่า 1000 ปีของญี่ปุ่นนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็น “วัดน้ำใส (คิโยมิสึเดระ)” แห่งเมืองเกียวโต “วัดหลวงพ่อโต (โตไดจิ)” แห่งเมืองนารา
ถ้าอยู่ทางแถบฝั่งโตเกียว ก็ต้องเข้ากราบนมัสการ “หลวงพ่อโตแห่งเมืองคามาคุระ (คามาคุระ-ไดบุทสึ)”
หรือถ้ามีเวลา เงินตราและอารมณ์ อาจได้ไปชมพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิม่า
และนั่งเรือข้ามฝากไปยังเกาะมิยาจิมะเพื่อเข้าชม “ศาลเจ้าอิทสึคุชิมะ” ที่มีอายุกว่า 1400 ปี


แต่เอ...ดูเหมือนว่าเราๆ ท่านๆ ไม่น้อยเลย ที่ยังคงสับสนกันระหว่าง “วัด” กับ “ศาลเจ้า”
หรือระหว่าง “พระพุทธศาสนา” กับ “ชินโต” อยู่ไม่น้อย มีหลายท่านทีเดียวที่ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากันเข้าใจไปว่า
“ชินโต” เป็นนิกายๆ หนึ่งใน “พระพุทธศาสนา” ของประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะหากจะว่าไปแล้ว พระพุทธศาสนาของประเทศญี่ปุ่นเองก็มีนิกายอยู่มากมายจริงๆ
นับไปแล้วได้ถึง 13 นิกายหลัก 56 นิกายย่อยทีเดียว (ใจเย็นๆ ทำใจร่มๆ ไว้)
อย่าว่าแต่เราๆ ท่านๆ ในปัจจุบันเลย แม้แต่คนในยุคราว 1500 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนายังไม่ได้เข้ามาสู่เกาะญี่ปุ่น
(ตอนนั้นอยู่ที่ริมท่าข้ามฝั่ง คือ ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน)
ก็ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเล็กน้อย (อย่างมากมาย) เหมือนกัน

ดังนั้น...ในวันนี้เราจะมาเจาะเวลาหาอดีต ย้อนกลับไปในยุคราว 1500 ปีที่ผ่านมา
เพื่อดูความเป็นมาเป็นไปและความสัมพันธ์ระหว่าง “พระพุทธศาสนา” กับ “ชินโต”
เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดขาติดแข้งไป (อย่าให้ถึงกับใส่บ่าแบกหามเลย จะหนักจนเกินไป)
เวลาเดินเข้า “วัด” ออกจากจาก “ศาลเจ้า” แล้ว จะได้เพิ่มอรรถรสในการทัศนศึกษามากยิ่งขึ้น...


พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นในรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิคิมเมอิ ผ่านมาทางประเทศเกาหลี
โดยที่พระเจ้าโซมาโวได้ส่งราชทูตมายังประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับพระพุทธรูปและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ซึ่งในเวลานั้นตรงกับปี พ.ศ. 1081 (ค.ศ. 538 แต่ในบางทฤษฎีกล่าวว่าตรงกับ ค.ศ. 552 หรือ พ.ศ. 1095)
ในสมัยนั้นศาสนาที่เป็นหลักที่ญี่ปุ่น คือ “ชินโต” ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม)
โดยมากจะเป็นเทพเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ
มุ่งเน้นความบริสุทธิ์อันเนื่องมาจากการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
และได้ให้ความสำคัญต่อองค์จักรพรรดิในฐานะผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า
และหากจะกล่าวว่ามีจำนวนเทพเจ้าที่นับถืออยู่เท่าใดนั้น อาจตอบได้ว่า มีจำนวนถึง 8 ล้านองค์ทีเดียว

ในขณะนั้นมีขุนนางอยู่ 2 ฝ่าย ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศ
โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นได้ให้เหตุผลว่า...
หากเรารับ “เทพเจ้าองค์ใหม่” เข้ามา อาจจะทำให้ “เทพเจ้าที่อยู่เดิม” เกิดความไม่พอใจ
และเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติขึ้นในบ้านเมืองของเราได้...
แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยในการรับพระพุทธศาสนาเข้านั้น ได้ให้เหตุผลที่ว่า...
นานาอารยประเทศทางตะวันตก
(คือประเทศอินเดีย จีนและเกาหลี ซึ่งเมื่อมองจากประเทศญี่ปุ่นออกไป ทาง “ตะวันตก” หมายเอาประเทศเหล่านี้
มิใช่หมายถึงประเทศในโซนยุโรป)
ต่างก็นับถือ “เทพเจ้าองค์นี้”
ดังนั้นจึงควรที่เราจะรับ “เทพเจ้าองค์นี้” เข้ามาเฉกเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศทั้งหลายเหล่านั้น...


ในครั้งนั้น พระเจ้าจักรพรรดิกิมเมอิได้ตัดสินพระทัยรับพระพุทธศาสนาเข้ามาตามมติของฝ่ายที่เห็นชอบด้วย

และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เราทราบได้ว่า ในยุคนั้นชาวญี่ปุ่นมองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราว่า
เป็น “เทพเจ้า” องค์หนึ่ง (เห็นไหม คนในยุคนั้นยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเลย)

หลังจากนั้น ประเทศญี่ปุ่นได้พบภัยพิบัติจากโรคระบาด เป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
และจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศ
นำมาเป็นข้ออ้างในการผลักดันให้นำพระพุทธศาสนาออกไป
โดยการทำลายพระพุทธรูปและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาซบเซาลงไปด้วยความไม่รู้
ประกอบกับเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการล้มล้างอีกฝ่าย
โดยยกประเด็นของการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามา จนเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติในบ้านเมือง

นับว่าพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคนี้ ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในประเทศ
ในการล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง...


ส่วนว่า...ชะตาของพระพุทธศาสนาต่อไปจะเป็นอย่างไร?
จะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับชินโต?
และเหตุไฉนจึงมีรูปแบบดังที่ปรากฏอยู่ ดังที่เราท่านเห็นกันในปัจจุบัน

โปรดติดตามตอนต่อไป
つづく

ติดตามตอนต่อไปได้ที่
↓↓↓↓↓↓
http://ppantip.com/topic/34859798

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่