ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: พลิกโครงสร้าง กสทช.



ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: พลิกโครงสร้าง กสทช.
โดย : ณกฤช เศวตนันทน์

          ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ให้ทำหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการที่กำหนดไว้ในนโยบายและแผนระดับชาติ และได้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว รวมถึงมีการออกร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือร่าง พรบ.กสทช. ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วและอยู่ระหว่างที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณานั้น

          โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยไม่ใช่กรณียกเลิกกฎหมายเก่าทั้งฉบับแต่เป็นกรณีแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากและในหลายเรื่อง โดยในวันนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอบางส่วนเกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คุณสมบัติ และการได้มาของกรรมการ กสทช.

          ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นโครงสร้าง กสทช. คุณสมบัติและการได้มาของกรรมการ กสทช. ที่สำคัญ ดังนี้

          1. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากเดิมที่กำหนดไว้ 11 คนเหลือ 7 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือการคุ้มครองผู้บริโภค  (ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 3)
          2. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติทั่วไปของผู้ซึ่งอาจจะได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. ในเรื่องอายุผู้สมัครจากเดิมอายุไม่ต่ำกว่า 35-70 ปีบริบูรณ์เป็นไม่ต่ำกว่า 45-65 ปีบริบูรณ์ และเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาว่าจะต้องเป็นหรือเคยเป็น (1) ข้าราชการพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไปหรือเป็นหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ หรือ (2) ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโทขึ้นไป หรือ (3) ผู้บริหารในองค์กรภาคเอกชนตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นไปในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือ (4) มีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 10 ปี ประเภทใดประเภทหนึ่งด้วย (ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 4)
          3. ยกเลิกการได้มาซึ่งรายชื่อผู้สมควรได้รับการเลือกเป็นกรรมการโดยวิธีการคัดเลือกกันเองจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ และให้คัดเลือกจากการประกาศเปิดรับสมัครโดยทั่วไปเพียงอย่างเดียว ทั้งแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. จากเดิมจำนวน 15 คน เหลือจำนวน 7 คน ซึ่งมาจากประธานศาลต่างๆและประธานองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทั้งสิ้น แตกต่างจากเดิมที่กำหนดให้มีผู้แทนจากองค์กรต่างๆที่มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบด้วย โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการ และก่อนดำเนินการคัดเลือกจะต้องออกประกาศกำหนดลักษณะความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆและจำนวนกรรมการที่คัดเลือก (ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 5-8)
          4. แก้ไขการเลือกตั้ง การแต่งตั้งกรรมการและวิธีการเลือกกรรมการ กสทช. โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้จัดทำรายชื่อผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกแทนการให้เลขาธิการวุฒิสภาดำเนินการตามเดิม เพื่อให้การคัดเลือกเป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง (ร่างมาตรา 9)
          5. แก้ไขระยะเวลาการจัดให้มีการเสนอชื่อและแต่งตั้งกรรมการ กสทช. จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนครบกำหนดตามวาระ เป็นไม่น้อยกว่า 150 วันก่อนครบกำหนดตามวาระ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาในขั้นตอนการเลือกและแต่งตั้งกรรมการ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการแทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเดิม (ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 10)
          6. แก้ไของค์ประกอบกรรมการ กสทช. ขั้นต่ำที่ทำให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 6 คนเป็นไม่น้อยกว่า 4 คน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนกรรมการ กสทช. ที่ปรับลดลง (ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 11)

          อย่างไรก็ดี ตามร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 44 ส่วนบทเฉพาะกาล ก็ได้กำหนดให้กรรมการ กสทช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระและไม่อยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติฯแก้ไขเพิ่มเติม โดยหากตำแหน่งว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ให้กรรมการ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ เว้นแต่เหลือไม่ถึง 4 คน จะถือว่ากรรมการ กสทช. ที่เหลือพ้นจากตำแหน่งด้วยโดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ซึ่งในกรณีเช่นนั้นให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการ กสทช. ตามแนวทางร่างพระราชบัญญัติฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ และระหว่างนั้นให้กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามจำเป็นไปพลางก่อน

          จากการพิจารณาพบว่าร่างพระราชบัญญัติฯฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนโครงสร้างองค์กร คุณสมบัติและการได้มาของกรรมการ กสทช. เป็นอย่างมาก และเป็นที่แน่นอนว่าหากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯฉบับดังกล่าวจริงเมื่อใดก็ย่อมจะทำให้ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแน่นอน

แหล่งข่าว
เว็ปไซต์ Telecomjournalthailand.com
http://www.telecomjournalthailand.com/ปอกเปลือก-ร่าง-พรบ-กสทช/

อ้างอิงบทความที่เกี่ยวข้อง
ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: อำนาจหน้าที่ ที่ถูกศัลยกรรม
http://ppantip.com/topic/34843401
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่