พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)



"พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก"

" .. การทำให้มากนั้น มิใช่หมายความแต่ว่า การเดินจงกรมเท่านั้น
"ให้มีสติ หรือพิจารณาในทุกทีทุกกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่งนอน
กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอ"
จึงชื่อว่า "ทำให้มาก"

เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้แบ่งส่วนแยกส่วน
ออกเป็นส่วน ๆ ตามโยนิโสมนสิการ ตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟและพิจารณาให้เห็นเป็นตามนั้นจริง ๆ


อุบายตอนนี้ ตามแต่ละตนจะใคร่ครวญ ออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน
แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้
"พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก" "อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือนตั้งเดือน"
ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็นอนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต
แล้วถอนออกมาพิจารณากาย "อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบจิตอย่างเดียว"

พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว
คราวนี้แลส่วนที่จะเป็นเอง คือ"จิตย่อมรวมใหญ่ เมื่อรวมพับลง
ย่อมปรากฎว่า ทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันว่า โลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง
เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน"
  ไม่ว่าป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์
แม้ที่สุดตัวเราก็ต้องล้มราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกัน
"พร้อมกับญาณสัมปยุต คือรู้ขึ้นมาพร้อมกันในที่นี้" ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย
"จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง" .. "

มุตโตทัย
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่