หลงเปลือกสด ๆ ว่าเป็นแก่น

กระทู้สนทนา
๑.  บาลี  พระพุทธภาษิต  มหาสาโรปมสูตร  มู.  ม.  ๑๒/๓๖๕/๓๔๙,  ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย  ที่ภูเขาคิชฌกูฏ  ใกล้นครราชคฤห์.
ภิกษุ ท. !  ในกรณีนี้คือ  กุลบุตรบางคนมีศรัทธา  ออกบวชจากเรือน  ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน  เพราะคิดเห็นว่า  “เราถูกความเกิด  ความแก่  ความตาย  ความโศก  ความร่ำไรรำพัน  ความทุกข์กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจ  ครอบงำเอาแล้ว  เป็นคนตกอยู่ในกองทุกข์  มีทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว  ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้  จะปรากฏมีได้”  ดังนี้.  ครั้นบวชแล้ว  สามารถทำลาภสักการะและเสียงเยินยอให้เกิดขึ้นได้,  เธอไม่มีใจยินดี  ไม่มีความดำริเต็มรอบแล้ว  ในลาภสักการะและเสียงเยินยอนั้น,  เธอไม่ทะนงตัว  เพราะลาภสักการะและเสียงเยินยอนั้น,  เธอไม่เมาอยู่  ไม่มัวเมาอยู่ ไม่ถึงความ ประมาทอยู่ เพราะลาภสักการะและเสียงเยินยอนั้น ;  เมื่อไม่ประมาทแล้ว  เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นได้,  เธอมีความยินดีแล้ว  ในความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น  แต่ว่า หามีความดำริเต็มรอบเพียงความถึงพร้อมด้วยศีลนั้นไม่,  เธอไม่ทะนงตัวเพราะความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น,  เธอไม่เมาอยู่  ไม่มัวเมาอยู่  ไม่ถึงความประมาทอยู่  เพราะความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น ;  เมื่อไม่ประมาทแล้ว  เธอให้ความถึงพร้อมด้วย  สมาธิ  เกิดขึ้นได้.  เธอมีใจยินดีแล้ว  มีความดำริเต็มรอบแล้ว ในความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น.  เธอทะนงตัว  เพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้นว่า  “เราเป็นผู้มีจิตถึงความเป็นหนึ่ง  ตั้งมั่นแล้ว  ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้  มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นแล้ว”  ดังนี้.  เธอนั้นเมาอยู่  มัวเมาอยู่  ถึงความประมาทอยู่  เพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น,  เมื่อประมาทแล้ว  เธอก็อยู่ด้วยความเป็นอยู่ที่ดูแล้วน่าชัง.
    ภิกษุ ท. !  เปรียบเหมือนบุรุษ  ผู้ต้องการด้วยแก่นไม้  เสาะหาแก่นไม้  เที่ยวค้นหาแก่นไม้อยู่  ไปจนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว  มองข้ามพ้นแก่น,  มองข้ามพ้นกระพี้,  ถากเอาแต่เปลือกสด ๆ ถือไป ด้วยเข้าใจว่า  นี่แก่นไม้.  บุรุษมีตาดี  เห็นคนนั้นเข้าแล้วก็กล่าวว่า  “ผู้เจริญคนนี้  ช่างไม่รู้จักแก่น,  ไม่รู้จักกระพี้,  ไม่รู้จักเปลือกสด,  ไม่รู้จักสะเก็ดแห้งตามผิวเปลือก,  ไม่รู้จักใบอ่อนที่ปลายกิ่ง.  จริงดังว่า  ผู้เจริญคนนี้  ต้องการแก่นไม้  เสาะหาแก่นไม้  เที่ยวค้นหาแก่นไม้  จนถึงต้นไม้ใหญ่มีแก่นแล้ว  ก็มองข้ามพ้นแก่น,  ข้ามพ้นกระพี้,  ถากเอาเปลือกสด ๆ  ถือไป  ด้วยเข้าใจว่า  นี่แก่นไม้ ;  สิ่งที่เขาจะต้องทำด้วยแก่นไม้  จักไม่สำเร็จประโยชน์เลย” ดังนี้ ;  ฉันใดก็ฉันนั้น.  ภิกษุ ท. !  เราเรียกคนบวชชนิดนี้ว่า ได้ถือเอาพรหมจรรย์ตรงเปลือกสดของมัน  และเขาถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์  ด้วยการกระทำเพียงให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นเท่านั้นเอง.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่