เก็บตก กสทช. พบ Blogger “คุยเรื่องคลื่นความถี่ : จากเวทีโลก (WRC) สู่แผนแม่บทฯ กสทช.”

วันนี้ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน กสทช. พบ Blogger “คุยเรื่องคลื่นความถี่ : จากเวทีโลก (WRC) สู่แผนแม่บทฯ กสทช.” ซึ่งมีประเด็นพูดคุยค่อนข้างเยอะมาก ไม่รู้จะย่อยอย่างไรมาให้ได้ครบ ผมก็ขอสรุปเอาเรื่องที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวกับชาวบ้านอย่างเราเพื่อทำความเข้าใจว่าในปีสองปีที่จะถึงนี้เราจะได้เห็นได้ทราบอะไร รวมถึงในอนาคตที่ไกลกว่านั้นจะเกิดอะไรขึ้น

แขกร่วมงานวันนี้ อาทิเช่น คุณลิ่วจาก blognone และอีกหลาย ๆ ผู้เขียนในเว็บ, @TatthepTV @mekzcnt ทีมงาน #ยามเฝ้าจอ, พี่คิมจาก droidsans และท่านอื่น ๆ ที่ผมอาจจะไม่ได้กล่าวถึง

เปิดงานโดย กสทช. @supinya ร่วมด้วย รองเลขาฯ กสทช. พล.อ.ต. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กล่าวภารกิจของ กสทช. เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ อธิบายเรื่องแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ต่อด้วยคุณเสน่ห์ สายวงศ์ ผอ.สำนักบริหารคลื่นความถี่ พูดเรื่องการประชุม World Radiocommunication Conference 2015 (WRC-15) สรุปผลการประชุมเน้นส่วนของคลื่นความถี่ที่เปลี่ยนแปลง ต่อด้วยคุณโบ๊ต สุภัทรสิทธิ์ สวนสุข จากสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาเจาะประเด็นเรื่องการ Refarm คลื่นความถี่ช่วง 470-510 MHz และ 694-790 MHz ปิดท้ายด้วยคำถามคำตอบระหว่าง blogger กับผู้ร่วมวงสนทนา (2 ย่อหน้าถัดไปเป็นอธิบายกระบวนการ ถ้าไม่สนใจข้ามไปได้เลยครับ)


กลไกเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ มี 3 ขั้นตอนก็คือ มีการกำหนดตารางกำหนดคลื่นความถี่ (คลื่นช่วงความถี่นี้ ใช้ประกอบกิจการประเภทใด) แผนความถี่วิทยุ (เจาะลงไปบนคลื่นความถี่ว่า ที่นิยามให้ประกอบกิจการประเภทใดแล้ว จะแบ่งซอยกันอย่างไร หรือจะใช้ทำอะไรกันแน่) และขั้นสุดท้ายคือ การจัดสรร/อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ตามแผนความถี่) การที่จะได้มาซึ่งการกำหนดตารางกำหนดความถี่นั้น เราไม่ได้คิดเองแต่เรายึดจาก "ข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ" ซึ่งกำหนดโดย ITU ตามข้อสรุปจากที่ประชุม WRC ซึ่งจัดทุก 3-4 ปีที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศในปัจจุบันมีการแบ่งแยกภูมิภาคของโลกออกเป็น 3 ภูมิภาค ตามลำดับการพัฒนาการของเทคโนโลยีวิทยุ Region 1 คือยุโรป, รัสเซีย, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง, Region 2 คืออเมริกาเหนือ, กลาง, ใต้, ส่วนไทยอยู่ใน Region 3 คือพื้นที่ที่เหลือของโลกนี้ เหตุที่แบ่งเป็น 3 ภูมิภาคหลัก ๆ ก็เกิดจากการที่แต่ละภูมิภาคมีผู้นำทางเทคโนโลยีทางวิทยุซึ่งแต่ละเจ้าก็ใช้งานคลื่นความถี่คนละย่านกับเทคโนโลยีที่คล้าย ๆ กันก่อนที่จะมีการกำหนดตารางกลางขึ้นมา ครั้นจะเปลี่ยนมาให้ใช้คลื่นย่านเดียวกัน ก็ติดปัญหาเรื่องการไล่เปลี่ยนอุปกรณ์ ทำให้ไม่สามารถบังคับได้จริง ก็มีเฉพาะคลื่นความถี่ของเทคโนโลยีเก่า ๆ ที่ตกยุคไปแล้วที่อาจจะถูกนำมา Refarm เพื่อใช้กับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคลื่นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นคลื่นที่ใช้ได้เหมือนกันทุกภูมิภาคกับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้นทุนการประกอบการอาทิการผลิตอุปกรณ์มาเพื่อคลื่นนั้นถูกลง เนื่องจากสามารถผลิตได้ในจำนวนมากกว่าการที่ต้องผลิตแยกให้ใช้ได้ตามภูมิภาค

กว่าจะไปถึงการประชุม WRC แต่ละครั้ง ก็จะมีการทราบวาระของการประชุมครั้งถัดไปล่วงหน้า (กำหนดโดยการประชุมครั้งก่อน) ทาง กสทช. (ในฐานะผู้มีหน้าที่ควบคุม, จัดสรรคลื่นความถี่) ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเตรียมการประชุม โดยเรื่องที่จะถูกชงเข้าไปในการประชุม WRC นี้อาจจะต้องผ่านกระบวนการของ APT (โทรคมนาคมระดับ Region 3) ไล่ไปถึงการประชุมคณะทำงานของ ITU ก่อนจะส่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม WRC เรื่องใดที่สามารถมีมติของประเทศได้ทันทีก็จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการ กสทช. เพื่อให้ออกเป็นมติ ส่วนเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนก็จะต้องทำเป็นคำสงวนเพื่อนำกลับมาพิจารณากันหลังจากประชุม ก่อนที่จะแสดงท่าทีใด ๆ ในการประชุม WRC หนถัดไป โดยผู้ลงนามให้ผลการประชุม WRC เป็นข้อผูกพันกับประเทศไทยนั้นก็คือผู้แทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


สรุปการประชุม WRC เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ (ตัวย่อ: http://nbtc.go.th/wps/wcm/connect/NBTC/952e31fa-ee61-455c-9e2c-df86a349afaa/สรุปผลการประชุม+WRC-15.pdf?MOD=AJPERES&CACHEID=952e31fa-ee61-455c-9e2c-df86a349afaa ตัวเต็ม: http://nbtc.go.th/wps/wcm/connect/NBTC/aead6f08-c593-4d3a-9b5f-61e10a0b6da0/รายงานผลการประชุม+WRC-15.pdf?MOD=AJPERES&CACHEID=aead6f08-c593-4d3a-9b5f-61e10a0b6da0 )
- Region 2 กำหนดให้คลื่น UHF 470-698 MHz นำไปประกอบการ Mobile Broadband
- ไทย กำหนดให้ UHF 698-790 MHz นำไปประกอบการ Mobile Broadband ในอนาคต (รอ Refarm)
- ทั่วโลก กำหนดให้ L-Band 1427-1518 MHz นำไปประกอบการ Mobile Broadband
- Region 1, 2, 3 กำหนดให้คลื่น C-Band Downling (3.4-4.2 GHz) นำไปประกอบการ Mobile Broadband โดย Region 3 เฉพาะแถบ ๆ SEA ไม่ใช้เนื่องจากยังเห็นประโยชน์ของ C-Band ที่ทนฝนมากกว่า KU-Band ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้งานต่อไป
- มีการกล่าวถึงการกำหนด C-Band ใหม่ แต่ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงคลื่น RLAN 5GHz ที่ยังมีผลกระทบกับอุปกรณ์เรดาร์
- มีการกำหนดความถี่สำหรับวิทยุสมัครเล่น 5 MHz และ 50-54 MHz (ซึ่งมีประเด็นที่ทหารฟ้อง กสทช. อยู่ เนื่องจากยังมีการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารรุ่นเก่าที่ใช้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวอยู่)
- มีการกำหนดให้คลื่นช่วง 694-894 MHz ทำคลื่นสำหรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งในกรณีเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ (PDDR) ซึ่งทางไทยจะใช้คลื่นย่านความถี่ 814-824 และ 859-869 MHz

ในการประชุมครั้งหน้า (WRC-19) มีประเด็นที่เป็นวาระรอแล้วคือ
- การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับ Mobile Broadband ในย่านความถี่สูงกว่า 6GHz (สำหรับ 5G)
- การกำหนดคลื่นความถี่กลางสำหรับการติดต่อสื่อสารสำหรับการขนส่งระบบราง และระบบขนส่งอัจฉริยะ (เช่น คลื่นความถี่สำหรับ Easy Pass เชื่อมกับ Console บนรถ)
- การกำหนดคลื่นความถี่ RLAN 5GHz
- การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับสถานีฐานลอยระยะสูงเพื่อให้บริการ Mobile Broadband ผ่านอากาศยานน้ำหนักเบาหรือบอลลูน (นึกถึงบอลลูนของ Google, Facebook)
- ศึกษาย่านความถี่สำหรับ IoT และ Machine to Machine
- ศึกษากฎระเบียบที่จำเป็นสำหรับ Wireless Power Transmission ในรถยนต์ไฟฟ้า

และจริง ๆ ก็ยังมีวาระเบื้องต้นของ WRC-23 แล้ว แต่ยังไม่ขอกล่าวถึงในขั้นนี้ โดยผลจากการประชุม WRC-15 นี้ ทาง กสทช. ต้องไปจัดการกับตารางคลื่นความถี่ตัวปี 2558 ให้เป็นไปตามพันธกรณีนี้ให้ทันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2560

โดยแนวโน้มแล้ว คลื่นความถี่ที่ถูกใช้กับเทคโนโลยีการสื่อสารในรูปแบบประจำที่จะถูกปรับเปลี่ยนให้ไปใช้กับ Mobile Broadband มากขึ้น และจะทำให้ความแตกต่างของตารางคลื่นความถี่ของประเทศกับระดับภูมิภาคมีความต่างกัน (ส่วนที่แสดงเป็นสีเข้ม ๆ บนหน้าเลขคี่) ลดลง (ดูตารางที่ http://nbtc.go.th/wps/portal/NBTC/Home/ResourceMgt/FrequencyMgt/table_frequency_allocation/!ut/p/z1/04_Sj9CPykssy0xPLMnMz0vMAfIjo8ziDS1NPd0tLQx83D2DnA0czUyCncwMgk3cHc30w8EKDFCAo4FTkJGTsYGBu7-RfhQx-vEoiMIwHtkioP4oPFb4h7mb4Ffg5mUOVYDPD4RcUZAbGmGQ6ZkOAMRrx6E!/dz/d5/L2dBISEvZ0FBIS9nQSEh/ )

การ Refarm คลื่นความถี่ช่วง 470-510 MHz และ 694-790 MHz ปัจจุบันดิจิตอลทีวีของประเทศไทยใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 510-790 MHz เนื่องจากช่วง 470-510 MHz นั้นถูกนำไปใช้กิจการโทรคมนาคมภาคพื้นดิน ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค (ในตารางคลื่นความถี่จะเห็นเป็นสีเข้ม) แต่เนื่องจาก กสทช. จะนำคลื่นช่วง 694-790 MHz ไปทำ Mobile Broadband จึงทำให้ต้องมีการสลับปรับเปลี่ยนการใช้งาน แน่นอนว่าย่านความถี่ที่แตกต่างกันขนาดนี้ (40, 96) ย่อมทำให้ต้องปรับแต่งการออกอากาศของ MUX ต่าง ๆ แน่ (ผู้ได้รับผลกระทบที่หนักสุด) ผลกระทบของผู้ชมทางบ้านอย่างน้อยที่สุดคือ การต้องจูนช่องใหม่เพื่อให้รับชมได้เช่นเดิม แต่หากใช้สายอากาศรุ่นเก่าเกินไปก็อาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้รับคลื่นความถี่ย่าน 470-790 MHz ได้

ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อ Refarm แบ่งออกเป็น 4 ขั้นคือ
1. ปิดระบบแอนะล็อกทีวี เพื่อให้มีคลื่นความถี่เพียงพอกับ MUX ทั้ง 6 (ตอนนี้มี 5)
2. Refarm คลื่น 470-510 MHz ให้เป็นดิจิตอลทีวี (เพื่อให้ย้าย MUX ที่ออกอากาศในช่อง 49-60 ไปอยู่ช่องที่ต่ำกว่านั้น)
3. วางแผนการจัดเรียงคลื่นความถี่ช่วงดังกล่าว
4. ปรับแต่งเครื่องส่ง ชาวบ้านปรับแต่งเครื่องรับ (จูนใหม่)
โดยหากเป็นไปตามตารางการหมดอายุสัมปทานของช่อง 3 (2563), 7 (2566) ขั้นที่ 2 จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2563 ส่วนขั้นที่ 3 จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2564-2566 (รอช่อง 7 หมดสัมปทาน) และขั้นสุดท้ายหลังจากขั้นที่ 3 เสร็จสิ้น (ถ้าช่อง 7 เลิกก่อนนั้น การวางแผนอาจจะไม่นานถึง 3 ปี)

สำหรับคำถามคำตอบของ Blogger มีหลายประเด็นทั้ง
- ประเด็นหน้าที่ กสทช. ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเจตนารมย์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ให้มีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี หรือการที่ให้วงโคตรดาวเทียมมาอยู่ในอำนาจ กสทช. (จากเดิมที่อยู่กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ซึ่งในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทางสำนักงาน กสทช. มิได้รับหนังสือสอบถามใดจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เลยมีประเด็นว่าควรจะส่งหนังสือไปชี้แจง, ให้ข้อเสนอแนะได้หรือไม่? (ราชการแท้ ๆ)
- วิทยุ ยังคงเป็นเรื่องที่อึมครึมสำหรับ กสทช. เนื่องจากมีผู้ประกอบการมากราย และยังมีปัญหากับผู้ถือครองคลื่นที่เป็นภาคราชการที่ดูท่าจะไม่ยอมคืนคลื่นมาให้จัดสรรโดยง่าย กรรมการ กสทช. หลายท่านเลยถือคติว่า อย่าเพิ่งไปยุ่งกับมันเลย ยิ้ม
- เรื่องคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่ อสมท. ยังอ้างสิทธิ์อยู่ก็มีประเด็นที่ให้ต้องพิจารณาว่า อสมท. ยังมีสิทธิ์จริงหรือไม่ ถ้ามีสิทธิ์สามารถนำไปทำอะไรได้ เพราะสิทธิ์เดิมที่เคยมีถูกใช้กับกิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก การที่จะนำไปใช้กับกิจการอื่นไม่สามารถทำได้ต้องไปประมูลเท่านั้น แต่ที่ยังต้องพิจารณาเนื่องจากว่าบริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่เคยทำนั้นน่าจะถูกยกเลิกไปก่อนที่จะมีการตั้ง กสทช. (ก่อนหน้านั้นคือ กทช.) ทำให้ไม่แน่ใจว่าสิทธิ์นี้จะยังถือว่ามีผลอยู่หรือไม่?
- คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลื่นสำหรับการติดต่อสื่อสารสำหรับการขนส่งระบบราง การปฏิบัติจะเป็นการที่ กสทช. ให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการกิจการการขนส่งระบบราง เช่น รฟท., BTS, MRT ไปดำเนินการในระบบของตัวเอง ซึ่งก็ต้องจัดหลบไม่ให้คลื่นความถี่ที่ใช้ชนกัน แต่ก็ยังมีประเด็นว่าเราจะใช้ GSM-R ของค่ายใด เพราะแต่ละค่ายไม่ว่ายุโรป, จีน, ญี่ปุ่น ดันใช้คลื่นความถี่ย่าน 800 ที่แตกต่างกันอีก ตอนนี้ก็คงต้องไปคิดกันว่าผู้ประกอบการที่กล่าวไปนั้นจะใช้เทคโนโลยีใด แล้วทาง กสทช. จึงจะกำหนดช่วงคลื่นความถี่ให้ได้ ซึ่งการให้ใบอนุญาตลักษณะนี้ก็จะทำกับคลื่นสำหรับภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่นกัน (ซึ่งน่าจะให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) แต่ก็มีประเด็นว่าเขาไม่น่าจะแบกรับค่าใช้จ่ายการดำเนินการได้ ก็อาจจะเป็นการให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมประมูลแบ่งคลื่นความถี่ไปทำประโยชน์ด้านนี้แทน

เขียนถึงบรรทัดนี้ก็เกิน 9000 ตัวอักษรแล้ว ขอจบเก็บตกเพียงเท่านี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่