[CR] บันทึกการเดินทางของสาวใหญ่ ซีอาน(จีน)>ลาซา(ทิเบต)>กาฏมัณฑุ(เนปาล) -- ตอน 4

ออกจากบริเวณ EBC แล้วเราก็มุ่งหน้าสู่ชายแดนเนปาลตามแพลน รถวิ่งไปตามถนนที่เรียกว่าอยู่บนหลังคาโลกของจริง บนนั้นเราได้เห็นยอดเขาต่างๆ ที่รู้สึกแปลกกว่าทุกครั้งคือ ตำแหน่งที่เรายืนอยู่กับยอดตรงนั้น มันแทบจะเรียกว่าอยู่ระดับเดียวกันเลย

วิวระหว่างทางสวยงามเหมือนอยู่บนสวรรค์ แต่ลมแรงและเย็นบาดหูหลุดมาก น้ำแข็งที่เห็นทั่วๆไปตามทางก่อรูปได้เป็นรูปร่างสวยแปลกตา


และเราก็มาถึง Tong La pass อยู่ที่ระดับ 5120 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ๆเราได้วิวพาโนราม่าของเทือกเขาหิมาลัยในระยะเอื้อมมือถึงได้ ยิ้ม

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ตามถนน ข้างทาง ในรถ ในร้านอาหาร ทุกๆที่ จะได้ยินแต่เสียงพึมพำๆตลอด ปรากฏว่านั่นคือเสียงสวดมนต์ภาวนา ไกด์เชดอร์ของเราก็เช่นกัน แกนั่งสวดพึมพำตลอดหลายวันของการเดินทางไกล แกสวดเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย แกบอกว่าการที่คนทิเบตสวดมนต์ก็เพื่อขอให้ทุกคนมีความสุข เมื่อคนอื่นมีความสุข สังคมก็น่าอยู่ โลกก็จะอยู่กันอย่างสันติสุข ถึงตอนนี้แล้วจขกท.รู้สึกซาบซึ้งจิตมาก..ไม่ได้เพื่อแค่ขอให้ตัวเองดีอยู่คนเดียว

ใกล้ถึงเมือง Zhangmu แล้ว ขอลงมาพักชักภาพเป็นที่ระลึก ไกด์เชดอร์และคนขับรถคนเก่ง ขอบคุณเพื่อนตากล้องที่เสียสละถ่ายรูปนี้ให้

เมืองสุดท้ายที่ชายแดนเป็นคล้ายๆกับเมืองท่าที่เหล่ารถบรรทุกแวะจอดพักรอเข้าคิวข้ามประเทศ บ้านเมืองสร้างอยู่ตามถนนรอบหุบเขาสูงอีกที มันดูหวาดเสียวเหมือนกันนะเวลาที่เรามองลงไปว่าถนนมันอยู่กลางเหวสูงแค่ไหน ตอนจขกท.ไปปีนั้นยังไม่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ คิดว่าบริเวณนี้น่าจะได้รับผลกระทบใหญ่หลวงแน่นอน เราพักกันที่นี่ 1 คืน เพื่อตอนเช้ารุ่งขึ้นจะได้เข้าไปเนปาล ใกล้ถึงเวลาจากไกด์เชดอขวัญใจของเราแล้ว

ตอนเช้ามาเข้าคิวที่หน้าด่าน รอ Immigration เปิด ไกด์เชดอร์ยังอยู่รอชี้แจงเรื่องเอกสารนู่นนี่ให้ แกข้ามออกมาเป็นเพื่อนพวกเราด้วยเพื่อรอส่งช่วงต่อให้กับไกด์ทางฝั่งเนปาลมารับ เมื่อเรียบร้อยดีแล้วก็ถึงเวลาบ๊ายบาย ตั้งใจว่าถ้าคราวหน้ากลับไปทิเบตอีก ก็จะให้แกพาไปเดินบำเพ็ญเพียรรอบเขาไกรลาสกัน

ข้ามมาเนปาลคือเมืองโคดาริ ก็เจอความสับสนวุ่นวายที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เริ่มตั้งแต่ความวุ่นวายที่ Immigration ฝั่งเนปาลที่เราต้องมากรอกเอกสารทำเรื่อง Visa on arrival คือไม่รู้ว่าแถวไหนมันอยู่ไหน จะต้องยื่นกับเจ้าหน้าที่คนไหน คืองง 555


พอออกมาได้ ก้อนั่งรถโฟร์วีล ลัดเลาะตามไล่เขาสูงเหมือนเดิม แต่หวาดเสียวกว่าฝั่งจีนมากกก เพราะเป็นถนนดินทั้งนั้น กันดารและเด้งไปเด้งมา บางช่วงถนนขาด รถสวนได้ทางเดียว แบ่งกันไป ท่องพ่อแก้วแม่แก้วเป็นเวลาหลายชั่วโมงตลอดทาง ขอแนะนำเลยว่าใครจะเดินทางเข้าเนปาลทางด้านนี้ไม่ควรมาช่วงหน้าฝน เพราะเสี่ยงเขาและดินถล่มตลอดทาง คนขับรถบอกว่า ก่อนหน้าเราไปไม่นาน เกิดดินถล่มครั้งใหญ่บนถนนเส้นนี้ บ้านพังลงมาเป็นแถบ คร่าชีวิตชาวบ้านไปเพียบ นี่เขาเพิ่งเปิดเส้นทางขึ้นใหม่ได้ไม่นาน


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คุยกันไปมากับน้องคนขับ เลยทำให้รู้ว่าชาวเนปาลชอบจาพนมมาก ดังแรงและเป็นไอดอลของทุกคน พอเริ่มคุยถูกคอกันขุ่นน้องเลยบอกขอแวะกลางทางหน่อยนะ เพื่อนเปิดร้านอยู่ตรงนี้ เราก็เอ้อ เอ้า ได้ แวะก้อแวะ ร้านก็ใหม่ยังไม่ค่อยมีอะไรหรอก แต่ก็มีเครื่องดื่มแก้กระหาย เรายังไม่ได้ทำการแลกเงินอะไรเลย โกยเงินเท่าที่มีทั้งหมดสามคนเอามารวมกันแล้วเลยได้สิ่งนี้มา นับว่าคุ้ม (ตอนอยู่ในทิเบตไม่กล้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อะไรทั้งสิ้น กลัวได้ลงกล่องกลับบ้าน)

ตัดภาพมาที่กาฏมัณฑุเลยละกัน ในแพกเกจของเรารวมที่พัก 1 คืนในกาฎมัณฑุด้วย (เฉพาะที่พักเท่านั้นไม่รวมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพราะเราคิดว่าไปไหนมาไหนเองไม่ลำบาก) ที่พักอยู่ในย่านทาเมลแหล่งนักท่องเที่ยว ห้องพักพออยู่ได้ มีน้ำอุ่น แอร์ ผ้าห่ม ที่นอน ก็สลบได้ทันที


เราออกมาเดินเล่น ตามที่ๆนักท่องเที่ยวควรจะไป ที่จริงเป็นการดีที่เราได้มาพักที่เนปาลก่อนกลับกรุงเทพ เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจก่อนเจอสภาพความวุ่นวายในชีวิตแบบเมืองหลวง มันรู้สึกเหมือนตกสวรรค์อยู่นะ 555 เนปาลก็ดีงามในแบบของเขา วุ่นๆขวักไขว่ ฝุ่นเยอะๆ แท๊กซี่ต่อรองคุยกันได้ ไม่ใจร้าย มันให้ความสนุกสนานอีกแบบ  


ไป Durbur Square รายละเอียดในสถาปัตยกรรมมีเยอะมาก ยิ่งถ้าใครได้ศึกษาได้รู้มาบ้างคงจะยิ่งสนุก





วันที่สองและสามในกาฏมันฑุ เนื่องจากหมดโปรแกรมแล้ว เราเลยย้ายไปพักที่ Tings Tea Lounge & Tings Lounge Hotel โรงแรมเล็กๆแต่เก๋ชิค คุณภาพคับ อาหารอร่อย พนักงานน่ารัก ใครไปกาฏมัณฑุขอแนะนำอย่างแรง



2 คืนที่พักที่นี่ เราเปลี่ยนห้องทั้งสองคืนเลย เพื่อเก็บให้ได้ครบทุกบรรยากาศ 555




ที่หน้าปากซอยที่พัก เป็นร้านอาหารชื่อดัง “Nepali Chulo” มีการแสดงและดนตรีพื้นเมืองใช้ชม เป็นที่นักท่องเที่ยวนิยมมากัน อารมณ์ประมาณสีลมวิลเลจอะไรอย่างนั้นอ่ะค่ะ

เด็กเสิร์ฟจำได้เลยว่าชื่อราชกุมาร แสนเฟรนด์ลี่มากไปบางที กว่าจะได้กิน Main Course นี่หลอกให้กินเหล้าจอกไปหลายกรึ๊บเลย เติมไม่หยุดนึกว่าบุฟเฟท์!




รุ่งขึ้นไปสถูป Swayambhunath สวยัมภูวนนาถ คือวัดที่มีลิงเยอะๆนั่นแหละ





หลังจากเดินชมรอบสถูปแล้วเราก็เดินมาเจอคาเฟ่หนึ่งที่อยู่ในหลืบแต่มีวิวที่ดีที่สุด “Cafe De Stub” ที่นั่งกินนั่งดื่มบนดาดฟ้า มองลงมาเห็นทั่วเมือง ปัจจุบันนี้ไม่แน่ใจว่าร้านค้าส่วนนี้ได้พังทลายลงมาหรือเปล่า T___T มานั่งนึกย้อนถึงตรงนี้ รู้สึกว่าเราโชคดีมากที่ได้เห็นสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ด้วยตาก่อนมันจะเสียหายไปจากแผ่นดินไหว 2015 ได้แต่ขอให้เนปาลฟื้นฟูสวยงามมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


วันสุดท้ายเรามาทิ้งทวนที่ Boudhanath มหาเจดีย์พุทธนาถ ไม่แคล้วหาคาเฟ่นั่งเพื่อนั่งชม นั่งซึมซับบรรยากาศ







หาของกินในร้านบ้านๆ กินอาหารพื้นเมืองซะหน่อย

เวลามักเดินเร็วขึ้นเสมอเมื่อตอนเรากำลังเพลิดเพลินมีความสุข ได้เวลาที่ต้องไปสนามบินตรีภูวันเพื่อรอขึ้น Airasia X กลับบ้านแว้ว จากกาฏมัณฑุสู่กรุงเทพ จะต้องมาต่อเครื่องที่ KL ก่อน พบว่าทั้งไฟล์ทจากกาฏมัณฑุเต็มไปด้วยหนุ่มชาวเนปาลเต็มลำ มีชาวเนปาลจำนวนมากที่มาค้าแรงงานหางานทำใน KL ตอนเดินจะขึ้นบันไดขึ้นเครื่องบิน จขกท.สังเกตเห็นแรงงานชาวเนปาลส่วนใหญ่มีผ้าคาตะสีขาวคล้องคอ สิ่งที่ประทับใจคือ ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะก้าวพ้นแผ่นดินแม่ไป ต่างคนต่างก็ก้มลงใช้มือจูบแตะพื้นเหมือนร่ำลา แล้วค่อยก้าวขึ้นบันไดเหินฟ้าไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง

ละทริปของเราก็จบลงเพียงเท่านี้ สิ่งที่เหลือไว้คือความทรงจำดีๆที่อยากเก็บไว้นานๆ ว่าแล้วเลยเลือกรูปไปประดับบ้าน มุมห้อง โต๊ะทำงานไว้ฝันถึงเวลาทำงานเหนื่อยๆ อิอิ

ชอบรูปนี้เป็นพิเศษ ถ่ายจาก iPhone5 ธรรมดาๆ แบบ Panorama ตอนที่อยู่ระหว่างทางบน Friendship Highway


แต่งกำแพงซะหน่อย เป็น Wall Gallery สายอาร์ตต้องทำงี้

ละฮิปเตอร์อย่างเราก็ต้องตามด้วยภาพสไตล์โพราลอยด์เกร๋ๆ

ขอบคุณ www.igoncanvas.com สำหรับบริการภาพสวยๆด้วยค่า

...และขอบคุณที่ติดตามอ่านจนบรรทัดสุดท้ายค่ะ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ เมื่อเรามีแรงเขียนอีกน๊า


รวมลิ้งค์ให้นะคะเพื่อการติดตามง่ายขึ้น:
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/34778434
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/34778547
ตอนที่ 3 http://ppantip.com/topic/34778732
ชื่อสินค้า:   นั่งรถไฟไปทิเบตต่อรถไปเนปาล
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่