เจ้าสัว CP เขาว่า ตำรวจชั้นผู้น้อย เกษียณแล้วลำบาก

เคยเป็นไหม เวลาคิดไม่ออก ไม่รู้จะกินอะไร ก็กินผัดกะเพรา
ผู้เขียนเองก็มักจะฝากท้องกับเมนูนี้อยู่เป็นประจำ

ด้วยความที่เป็นเมนูยอดนิยมนี่เองก็ให้เกิดความสงสัยว่า กะเพราเหล่านี้เขาปลูกกันอย่างไร
ก็เลยขอตามไปแหล่งปลูกกะเพราที่เห็นในข้าวกล่อง 7-Eleven ดูให้เห็นกับตา
ที่นี่เลย “หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์”

ผู้เขียนได้ยินชื่อหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ครั้งแรก ก็จากคำบอกเล่าของเจ้าสัว

“โครงการที่สันติราษฎร์ ที่เราไปทำ คือ ตำรวจผู้น้อยเนี่ย เกษียณแล้วไม่มีบ้านอยู่นะ เพราะชีวิตของตำรวจผู้น้อยโอนไปตามโรงพัก พอย้ายไปโรงพักนี้เขาก็มีหอพักมีอะไรให้ แล้วเงินเดือนก็นิดเดียวจะสร้างบ้านก็ไม่มี ผมก็ทำให้ สร้างบ้าน แต่ผมเพิ่ม 3 อาชีพให้กับเขา หมู องุ่น แล้วก็เลี้ยงกบ  อีกรายได้หนึ่งคือ เลี้ยงไก่ชน ก็ได้เดือนละพันถึงสามพันแล้วแต่คนไหนเลี้ยงดี แต่ที่นั่นองุ่นอากาศร้อน ก็เปลี่ยนเป็นปลูกผักขายให้กับบริษัทที่ทำเรื่องอาหารปลอดสาร ก็ไปดูสิ”

คำบอกเล่าของเจ้าสัวทำให้ผู้เขียนเริ่มสนใจหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์นี้ขึ้นมา



หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ อยู่ที่ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มาถึงก็ได้พบกับคุณสาโรจน์ เจียระคงมั่น รองกรรมการผู้จัดการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือพี่สาโรชของน้องๆ

พี่สาโรช เล่าให้ฟังว่า แนวคิดของเจ้าสัวคือ อยากให้เกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการ  เราจึงจดทะเบียนเป็นบริษัทชื่อ “บริษัท เกษตรสันติราษฎร์” ให้ทุกคนเป็นเจ้าของบริษัท

โครงการนี้เริ่มเมื่อประมาณปี 2549 ใช้เงินลงทุน 56.3 ล้านบาท ซึ่งได้รับความร่วมมือจากธนาคารทหารไทยปล่อยกู้ให้กับบริษัท เกษตรสันติราษฎร์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ จ. ชลบุรี ที่เข้าร่วมโครงการ ตรงนี้พี่สาโรชเล่าแบบติดตลกว่า ธนาคารมาถามด้วยนะว่าทำไมไม่ทำโครงการแบบนี้ให้ทหารบ้าง

เงินทุน 56.3 ล้านบาทนี้ เอามาซื้อที่ดินไร่ละ 7 หมื่นบาท (ตอนนี้ราคาขึ้นไป 2 แสนแล้ว) ทั้งโครงการมีพื้นที่ 230 ไร่ แบ่งให้เป็นที่อยู่อาศัยให้ตำรวจที่เข้าโครงการและครอบครัว รายละ 1.5 ไร่ จำนวน 31 ราย รวมพื้นที่ส่วนนี้ประมาณ 50 ไร่ ส่วนที่เหลือเอาไปสร้างอาชีพเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก 3 อาชีพคือ เลี้ยงหมู เลี้ยงสัตว์น้ำ และปลูกผัก ส่วน 1 อาชีพรองคือ เลี้ยงไก่ชน



อาชีพหลัก เราคำนวณให้เขาแล้วว่า จะทำรายได้เพียงพอชำระเงินกู้ธนาคารคือ เดือนละ 26,700 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี (ชำระหมดปี 2560) ซึ่งเราจะการันตีรายได้ตรงนี้ให้ ฉะนั้นเกษตรกรจะมีเงินชำระเงินกู้ให้ธนาคารทุกเดือน ไม่ต้องห่วงตรงนี้ ส่วนอาชีพเสริมคือ เลี้ยงไก่ชน  จะเป็นรายได้ที่แยกออกมา เกษตรกรไม่ต้องเอาไปชำระเงินกู้ธนาคาร ให้เขาเอาไปใช้จ่ายในครอบครัว พี่สาโรชบอกว่า ตรงนี้เกษตรกรต้องใช้ฝีมือหน่อย ถ้าเลี้ยงดีก็ได้เงินมาก แต่โดยทั่วไปรายได้จะอยู่ระหว่าง 2,500 – 3,500 บาทต่อเดือน

พูดถึงภาพรวมโครงการแล้ว คราวนี้ มาเจาะลึกกันที่ใบกะเพรา พระเอกของเรากันบ้าง

ทำไมต้องกะเพรา?

พี่สาโรชให้เหตุผลว่า เพราะกะเพราแน่นอนที่สุด ถ้าเราปลูกผักชนิดอื่นแล้ว โรงงานเอาบ้างไม่เอาบ้าง แล้วเราจะไปส่งเสริมเกษตรกรได้อย่างไร ฉะนั้นเราไม่ทำแบบครบวงจรไม่ได้ มันเป็นวงจรของมันที่จะต้องควบคุมปริมาณให้พอดี ไม่ให้ล้นหรือขาด ควบคุมคุณภาพได้ และช่วยลดต้นทุน

คราวนี้ก็อยู่ที่การตกลงระหว่างโรงงานและเกษตรกรแล้วว่า จะทำงานร่วมกันอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย รักษาสัญญาต่อกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ใช่ว่า ตอนนี้เห็นข้างนอกขายได้ราคา ก็ไม่ทำตามสัญญา แอบเอาไปขายข้างนอก ทำให้โรงงานไม่มีของเพียงพอ เกิดความเสียหาย ในขณะเดียวกัน โรงงานก็ต้องรับซื้อของจากเกษตรกร แม้ว่าของข้างนอกจะราคาถูกกว่าก็ตาม

แปลงปลูกกะเพราที่นี่เป็นโรงเรือน ใน 1 ไร่ จะมีแปลงกะเพรา 17 แปลง เพื่อให้เก็บได้ทุกสัปดาห์ 17 สัปดาห์ 17 แปลง ครอบคลุมช่วงชีวิตของกะเพราพอดี



นอกจากเกษตรกรในหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์แล้ว พี่สาโรชยังพาเราไปดูแปลงกะเพราของเกษตรกรที่อยู่รอบๆ หมู่บ้านที่เราไปส่งเสริมปลูกกะเพราด้วย เรามีเกษตรกรข้างนอกอีกประมาณ 70 ราย

นอกจากส่งเสริมปลูกแล้ว พนักงานเด็ดกะเพราก็เป็นคนในพื้นที่ บางส่วนก็เป็นสมาชิกในครอบครัวของตำรวจในโครงการนั่นเอง ฉะนั้นเขาจะมีรายได้หลายทาง คือ จากเงินเดือนข้าราชการตำรวจ จากผลผลิตในโครงการ และรายได้จากค่าจ้างเด็ดกะเพรา พี่สาโรชบอกอีกว่า เราอยากได้เยอะๆ เพราะบ้านพักเขาอยู่ในนี้อยู่แล้ว เย็นก็กลับไปนอนบ้าน เขาก็สบายเลย

หลายคนที่มาที่นี่จะงง แล้วถามว่า ทำไม CP ต้องไปทำให้เขา พี่สาโรชก็จะถามกลับไปว่า เราอยากจะช่วยเขาจริงหรือเปล่า เขามีอาชีพเป็นตำรวจ จะให้เขาลาออกมาทำอาชีพเกษตรกร เป็นไปไม่ได้หรอก แต่เราเก่งอาชีพเกษตร เราก็จูงมือเขาไปเอาเงินทุนมา แล้วเรามาช่วยเขาทำ ไม่ใช่บอกว่า จะให้เขาเป็นอาชีพนั้นๆ เลยเขาถึงจะอยู่กับเราได้

หน้าที่ของเราก็คือ เราต้องเอาเขามาศึกษาอาชีพเกษตรเหล่านี้ และเราต้องให้ลูกหลานเขารับรู้ด้วย เพราะเมื่อชำระเงินกู้ธนาคารหมดแล้ว ทุกอย่างจะเป็นของพวกเขา เราต้องพยายามหาลูกหลานของพวกเขาเหล่านี้ที่จะรับไม้ต่อจากเรา ค่อยๆ ถ่ายทอดความรู้ให้เขา แล้ววันหนึ่งเขาจะบริหารเองก็เป็นเรื่องของเขาไป ส่วนเราก็เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ

แล้วทำไมไม่ทำฟาร์มแบบนี้เยอะๆ ?

พี่สาโรชบอกว่า การช่วยแบบ CP มีหลายระดับ ระดับนี้คือ เสื่อผืนหมอนใบ ไม่ต้องมีอะไรเลย ส่วนอีกระดับคือ คุณมีที่ดินไหม ถ้ามี ซีพี. ก็จะพาคุณไประดมทุนจากธนาคารมา เราช่วยทำโครงการให้ เลี้ยงไก่ไหม คือ เราสร้างอาชีพเกษตรให้เขา

โครงการพวกนี้เมืองจีนมาดูเยอะ แล้วเขาเอากลับไปทำตามแบบเรา คือ เราทำให้เป็นตัวอย่างให้หน่วยงานอื่นๆ เอาไปทำ ให้รัฐบาลดูแล้วเอาไปทำ

ฟังมาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนก็เริ่มรู้สึกว่า อยากจะไปปลูกกะเพรากับเขาบ้างเหมือนกัน

ปล. 1 เนื้อหาในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคมให้กับผู้ที่สนใจ ดังนั้น ผู้เขียนของดพูดถึงประเด็นขัดแย้งทางสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าสัว และ CP ในกระทู้นี้ค่ะ ^^

ปล. 2 แท็ก เกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นรูปแบบการทำการเกษตรที่อาจจะเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจได้
        แท็ก เศรษฐกิจ เพราะเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับครอบครัวและชุมชน
        แท็ก มนุษย์เงินเดือน เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์เงินเดือนเห็นโอกาสสร้างรายได้และลองไปใช้ชีวิต slow life ทำการเกษตรดู  
        แท็ก การบริหารจัดการ เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจของการนำเอาแนวคิดการบริหารไปใช้กับการพัฒนาชุมชน
        แท็ก ภาคตะวันออก เผื่อใครสนใจจะไปดูสถานที่จริงที่ชลบุรีค่ะ

        
The Side Story
FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่