ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับการอาเจียน

คลื่นไส้อาเจียน เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากสภาวะโรคของผู้ป่วย การติดเชื้อ และอาการข้างเคียงจากยา โดยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ่อย เช่น ยาในกลุ่ม protease inhibitors, zidovudine, abacavir และ lamivudine เป็นต้น ซึ่งการอาเจียนเอายาออกมาแล้วไม่ได้รับยาซ้ำเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในมื้อนั้นๆเข้าสู่กระแสเลือด  ข้อมูลการให้ยาซ้ำหลังการอาเจียนของยาต้านไวรัสเอชไอวีแต่ละชนิดมีน้อยมาก จากการสืบค้นพบยาที่ระบุข้อมูลนี้คือยา fosamprenavir calcium suspension ซึ่งระบุว่ากรณีที่อาเจียนภายใน 30 นาทีหลังจากกินยาควรให้ยาซ้ำ และเช่นเดียวกับแนวทางเวชปฏิบัติในการให้ยาซ้ำหลังการอาเจียนยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่ได้จำเพาะเจาจงกับยาประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยข้อพิจารณาและคำแนะนำโดยทั่วไปเกี่ยวกับการกินยาซ้ำหลังการอาเจียนของ Nevada State Board of Pharmacy ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้พิจารณาจากระยะเวลาที่อาเจียนหลังการกินยาและประเภทของยา ดังนี้

1. ระยะเวลา เนื่องจากยากินโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ดังนั้นหากมีการอาเจียนหลังกินยามากกว่า 1 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องกินซ้ำ
- หากอาเจียนภายใน 15 นาทีหลังกินยา การกินยาซ้ำอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
- หากผู้ป่วยเห็นเม็ดยาหรือแคปซูลยาในอาเจียน ควรกินยาซ้ำ
2. ประเภทของยาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการกินยาซ้ำ
- long-acting medications ไม่ควรกินยาซ้ำ
- anti-infective medications ควรให้ยาซ้ำกรณีที่เป็น acute infection
- narrow therapeutic index medications ไม่ควรให้ยาซ้ำหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้สั่งยา
- หากเป็นยาที่การลืมกินมีผลเสียมากกว่าการได้รับยาเกินขนาดควรกินซ้ำ

ซึ่งจากคำแนะนำนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ gastric transit time ของยาเม็ดที่มีระยะเวลาประมาณ 42 นาที (12-155.5 นาที) ขึ้นอยู่กับชนิดของยา รูปแบบของระบบนำส่งยา และอาหารที่รับประทานร่วมด้วย ส่วนยาน้ำและยาที่มีขนาดเล็ก gastric transit time ขึ้นอยู่กับ gastric emptying time ว่าอยู่ในภาวะอดอาหารหรือมีอาหารอยู่ในกระเพาะ ส่วนยาที่มีขนาดใหญ่จะขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่กินร่วมด้วย โดย gastric emptying time ในภาวะอดอาหารจะมีระยะเวลาประมาณประมาณ 0.1-1 ชั่วโมง แต่หากมีอาหารอยู่ในกระเพาะจะเพิ่ม gastric emptying time เป็นประมาณ 3 – 7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหารที่กินเข้าไป โดยหากกินอาหารที่มีพลังงานประมาณ 1500 kJ จะเพิ่ม gastric emptying time เป็น 4.3 ชั่วโมง (1.7-5 ชั่วโมง) และหากกินอาหารที่มีพลังงานประมาณ 3000 kJ จะเพิ่มได้ถึง 4.9 ชั่วโมง (1.9-18 ชั่วโมง จึงควรพิจารณาอาหารที่รับประทานร่วมด้วยซึ่งอาจจะมีผลให้ยาอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาระยะเวลาและอัตราการดูดซึมยาแต่ละรูปแบบร่วมด้วย โดยยาน้ำจะมีอัตราการดูดซึมยาเร็วกว่ายาเม็ด ยาเม็ดเคลือบ ยาเม็ด enteric coated และยารูปแบบ sustained release ตามลำดับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพิจารณาให้ยาซ้ำส่วนใหญ่จะพิจารณาจากระยะเวลาที่อาเจียนหลังการกินยาและความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียจากการขาดยา และเนื่องจากยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ต้องการความร่วมมือในการกินยามากกว่า 95% เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยาและความล้มเหลวในการรักษา  จึงอาจจำเป็นในการให้ยาซ้ำกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนเอายาออกมาหลังกินยาน้อยกว่า 15-30 นาทีหรือกรณีที่เห็นเม็ดยาในเศษอาเจียน แต่อย่างไรก็ตามการให้ยาซ้ำควรพิจารณาจากรูปแบบยา อาหารที่รับประทานร่วมด้วย และค่าเภสัชจลนศาสตร์ของยาที่เกี่ยวกับกระบวนการดูดซึมยา เช่น absorption time และ Tmax ของยาแต่ละชนิด รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้กรณีที่ได้รับยามากเกินไป และนอกจากการอาเจียนจะส่งผลต่อปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับแล้วยังส่งผลต่อความร่วมมือในการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วยด้วย บุคลากรทางการแพทย์จึงควรหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุของการอาเจียน หรืออาจพิจารณาให้ยาป้องกัน เพื่อช่วยเพิ่มความร่วมมือในการกินยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งจะส่งผลให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    drug.pharmacy.psu.ac.th

Report by LIV APCO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่