หมิ่นประมาท ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ใน Social network นักเลงคีย์บอร์ดต้องอ่าน! (สำหรับห้องศาสนา)

กระทู้สนทนา
ผมเห็นข้อความ บางท่านแล้วเกรงว่า  งานอาจเข้าได้   ขอให้ทุกท่านใช้สติ ก่อนทำการเขียน โพสต์ นะครับ   โตๆกันแล้ว

กระเซ้าบ้างถือหนักแน่นนะครับ  อย่าเอาเรื่องราว  แต่ถ้าแรงมากไปเตือนกันนะครับ ........  ถ้าเตือนแล้ว  ขอร้องแล้ว...ก็ ตามสะดวกครับ

ด้วยความปรารถนาดี   ครับ  


หมิ่นประมาท ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ใน Social network นักเลงคีย์บอร์ดต้องอ่าน!

หลายคนเข้าใจว่านี่คือความผิดหมิ่นประมาททางคอม แต่ไม่ใช่นะครับ ความผิดฐานนี้ ว่ากันตรงๆเลย เรียกว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่บางครั้งก็มีการพ่วงความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาไป ตามมาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กระจายภาพ เสียง ไขข่าว หรือที่หนักหน่อย ก็มาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ความผิดตาม พรบ.คอมนี้ มีหลากหลายการกระทำ สุดแต่กรรมใครกรรมมัน ผิดจริง คงไม่รอด เช่น ผู้โพสต์ ผู้แชร์ หรือแม้กระทั่างแฮกเกอร์ขั้นเทพ สำหรับสามัญชนอย่างเราทั่วไป โดยปรกติแล้ว พึงระมัดระวังที่มาตรา 14 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญมาก มีข้อความ ตามนี้
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ไม่ว่าจะทำผิดเฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง เท่ากับผิดกฎหมายกรรมเดียว หรือหลายข้อรวมกัน ก็แล้วแต่ นั่นเป็นความผิดหลายกรรม ก็ต้องลงโทษเรียงกัน แต่โทษจะเกินตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ และในส่วนที่เป็นความผิดหลายบทหลายกระทง ต้องลงโทษตามบทกฎหมายที่หนักที่สุด เช่นเมื่อไปรวมกับ 328 ต้องลงโทษตาม พรบ.คอม มาตรา 14 นี้ หรือถ้าไปรวมกับมาตรา 112 ก็ต้องลงโทษตามมาตรา 112 เพราะโทษหนักกว่า
ตัวอย่างที่เห็นๆเมื่อไม่กี่วันมานี้ การที่คนกลุ่มหนึ่ง นำภาพผู้หญิงคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เผยแพร่กระจายไปทั่วทั้งโซเชียล และไลน์กลุ่ม อ้างว่าเป็นภาพของคนๆนี้ ซึ่งพอเมื่อเธอรู้ เธอบอกไม่ใช่เธอ ถ้ามีการแจ้งความ ตำรวจก็คงออกหมายเรียกคนที่กระทำผิด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาแสดงตัวตนต่อไป ซึ่งถ้านำมาเทียบแล้ว ความผิดที่เกิดขึ้น จะใช้ พรบ.คอมเพียวๆยังได้เลย หรือไปรวมกับ 328 ก็ได้ ในส่วนของ พรบ.คอม ตาม (1)+(4)+(5) ทั้งนำเข้า/ปลอม/เท็จ/ลามก/แชร์ต่อ
ถ้าจะมองชัดขึ้นมาอีกนิด การอ้างมาตรา 14 ตาม พรบ.คอม เช่นบริษัทหนึ่งไล่พนักงานคนหนึ่งออก แล้วฟอร์เวิร์ดเมล์ไปยังบริษัทอื่นๆที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันว่า คนๆนี้โดนให้ออกจากการเป็นพนักงานบริษัทแล้วนะ เพราะทำผิดต่อหน้าที่ คนที่ถูกเอ่ยถึงอาจดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายจ้างเก่า ในข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้เขาเสียหาย ตรงนี้ จะฟ้องเอง หรือแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ และผู้เผยแพร่ข้อมูลก็ต้องตกเป็นผู้ต้องหา จะต้องไปพิสูจน์ในศาลว่า ข้อมูลที่บอกกล่าวไปนั้น ไม่เท็จ แต่เป็นเรื่องจริง เป็นต้น
ทนายความที่รับคดีที่เกี่ยวกับ พรบ.คอม ในฐานะทนายจำเลย ส่วนใหญ่จะลำบากใจ ด้วยตัวบทกฎหมาย ค่อนข้างมีโทษหนัก และถือว่าเป็นกฎหมายที่มีข้อต่อสู้น้อย เพราะต้องสู้ไปที่ข้อเท็จจริง หรือรากฐานของกระทำจริงๆแต่ถ้ามีการรวมกับความผิดหมื่นประมาท ตามกฎหมายอาญา ตรงนั้น ข้อต่อสู้มีเยอะกว่า แล้วการทำคดี จะทำด้วยความสบายใจ แต่อย่างไร ถ้ามีการติดต่อมาให้รับทำ ก็ต้องทำ เป็นนักรบ เลือกสนามรบไม่ได้หรอกครับ
คิดก่อนโพสต์ ดูหน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา ให้ดี พลาดพลั้งมา ไม่คุ้ม เสียทั้งค่าทนาย ค่าใช้จ่ายอื่นๆค่าปรับทางคดี(ถ้ามี)และที่สำคัญ เสียความรู้สึก ส่วนนักแชร์ ก็ต้องคิดก่อนแชร์ ไม่ใช่แชร์ทุกโพสต์ ไม่อ่านหน้าอ่านหลัง ไม่ดูว่าจะเสี่ยงถูกฟ้องดำเนินคดีหรือเปล่า สรุปว่า ผู้โพสต์ ผู้แชร์ ต้องใช้สติเยอะๆนิดนึงหน่อยนะ
คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการเข้าใจ "หมิ่นประมาท ตามกฏหมายอาญา นักเลงคีย์บอร์ดต้องอ่าน!" https://www.facebook.com/kanokphonlaw/photos/a.399913186739330.94320.399890063408309/835401816523796/?type=1&theater

ขอแยกเป็นความผิดอาญาพื้นฐาน

1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”

ตาม 1) คือแม่บทจากตัวบทหลัก 1. ใส่ความผู้อื่น 2. ต่อบุคคลที่สาม 3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง 4. ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง

ผมซอยย่อยออกมาเป็น 4 ข้อ แน่นอน มาตรานี้ ต้องมีการบอกกล่าวเล่าความด้วยวาจา จะกระซิบ หรือตะโกนดังๆก็ใช่ ถ้าความนั้นไปถึงบุคคลที่สามหมิ่นประมาท” คือการกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อบุคคลที่ 3 แม้เรื่องที่กล่าวหาจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม แค่พูดไปแล้วทำให้คนอื่นเสียหายก็เป็นความผิดหมิ่นประมาท เป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายต่อบุคคลที่ 3 แม้เรื่องที่กล่าวหาจะจริงหรือไม่จริงก็ตาม แค่พูดไปแล้วทำให้คนอื่นเสียหายก็เป็นความผิด

ส่วนตาม 2) นี่แหละจดไว้ในใจเลย นักกดแป้นทั้งหลาย ถ้าความผิดนั้น เกิดจากการสื่อสาร เป็นการโฆษณา ด้วยภาพวาด ภาพถ่าย หรือเขียนโพสต์ข้อความใดๆ เป็นการออกอากาศกระจายฟุ้งไปทั่ว แล้วข้อความที่แปะ ที่เผยแพร่นั้น กระเทือนไปยังผู้อื่น โทษหนักขึ้น แน่นอน งานนี้สู้คดีไป เหงื่อแตกผุดๆไป

ถึงอย่างไรก็โดนฟ้อง และจะต้องไปศาล สู้คดี หรือยอมความ อีกเรื่องหนึ่ง แต่ช้าก่อน การหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นนั้น อาจเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

สู้เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย (1)-(4) ถือว่าไม่มีความผิดนะครับ อยู่ที่ว่าสู้ได้หรือไม่ ใช่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเมคมานะ ดูที่เจตนา ความเชื่อ ความเข้าใจของผู้ถูกกล่าวหาด้วย กฎหมายหมิ่นประมาท มีข้อยืดหยุ่นพอสมควร และนี่ ก็อีกมาตรานึง

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรานี้ หินอ่ะ ลองคิดดูสิ ถ้าบอกเธอยิ้ม ก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่ามีพฤติกรรมแบบนี้จริง หรือบอกว่าเขาโกงกินทุจริตต่อหน้าที่ ก็ต้องไปเสาะแสวงหาหลักฐานเหล่านั้นมาแบที่ศาล ยากมั๊ย แต่ดีกว่าไม่มีข้อต่อสู้ หรือเปล่า และประการสำคัญคือห้ามไม่ให้พิสูจน์ในเริ่องส่วนตัว ตรงนี้ อาจมองได้ว่า แม้เป็นเรื่องจริงก็อาจผิดได้ เช่นมีชู้กัน นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว แม้เป็นความจริง ผิดศีลธรรมก็ตาม ผู้ที่ถูกกล่าวหา ก็อาจเข้าข่ายทำผิดข้อหาหมิ่นประมาท แต่ถ้าคนที่เล่นชู้นั้นมีสถานะที่ไม่ควรทำผิดศีลกามา ตรงนั้น อาจพิสูจน์ได้ เพราะถือว่า เป็นการช่วยให้สังคมได้รับรู้ถึงพฤติกรรมที่ไม่ควรประพฤติ

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 333 บัญญัติไว้ว่า"ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้"นั่นย่อมหมายความว่า เรายังสามารถไกล่เกลี่ยกับฝ่ายตรงข้ามได้ ถ้าผิดจริง จะบรรเทาความเสียหายและความรู้สึกของเขาอย่างไร แต่ถ้ามองมุมไหน เราไม่ผิดเลย ก็สู้คดีครับ ให้ปรากฎชัดเด่นเป็นสง่าในสำนวน ต่อไป ตราบชั่วกาลปาวสาน สรุปมี 2 ทาง ยอม หรือสู้ อยู่ที่ใจคุณ ไม่มีใครรู้ดี ไปกว่าคุณ ถึงความหนักเบา ที่เรารู้อยู่แก่ใจ

นี่ยังไม่รวมความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือข้อมูลลามก นั่นโทษหนักมาก ยอมความไม่ได้ ไว้มีโอกาส มองมุมผ่อนปรนได้ จะเขียนให้อ่านกันครับ


อ้างอิง : https://www.facebook.com/kanokphonlaw
สารพันเรื่องกฎหมาย BY ทนายเบิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่