พระราชญาณกวี วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก (ธรรมยุต)ชี้มีกลุ่มเสี้ยมให้สงฆ์ฝ่ายธรรมยุต-มหานิกายแตกแยก

กระทู้สนทนา


พระฝ่ายธรรมยุตชี้มีกลุ่มเสี้ยมให้สงฆ์แตกแยก | เดลินิวส์
„จากกรณีที่กลุ่มคัดค้าน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์( ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยยื่นหนังสือให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการตีความมาตรา 7 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะให้ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ไม่ใช่เริ่มจากมหาเถรสมาคม(มส.)นั้น วันนี้(21 ม.ค.) พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก (ธรรมยุต) พระนักวิชาการชื่อดัง เจ้าของนามปากกา “ปิยโสภณ”  กล่าวว่า ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 18 และ 19 คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ให้การยอมรับถึงความเหมาะสมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธ และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมาจากทางฝ่ายธรรมยุต ที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเมื่อมาถึงครั้งนี้ ทางฝ่ายธรรมยุตก็ยอมรับถึงความเหมาะสมของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในการที่จะได้รับการทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยในการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. กรรมการมส.ที่มาจากคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตก็เป็นฝ่ายที่เสนอรายชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจาาย์เอง จึงเห็นได้ชัดว่าทั้งธรรมยุต และมหานิกาย ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกัน แต่ปัญหาที่มันเกิดอยู่ขณะนี้คือมีคนเสี้ยม ให้แตกแยก ถึงขั้นที่อยากให้มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีไม่อยากให้เกิดความแตกแยกก็ควรทำตามขั้นตอนของกฎหมายและนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซัง คนที่ศรัทธาในสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์นั้นมีมาก เนื่องจากท่านสร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนามากมาย อีกทั้งมส.ก็มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วทุกประการ ส่วนการที่มีผู้ไปร้องสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตีความขั้นตอนการเสนอรายชื่อนั้น หากผู้ตรวจการแผ่นดินเต้นตาม บ้านเมืองนี้คงเพี้ยนไปหมดแล้ว พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสืบค้นข้อมูลการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนที่จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.คณะสงฆ์พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไข 2535 ก็พบว่าคณะสงฆ์มีการยึดอาวุโสโดยสมณศักดิ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 เป็นต้นมา คณะสงฆ์ยึดเกณฑ์ในการพิจารณาอาวุโสโดยสมณศักดิ์มาโดยตลอด จึงชัดเจนว่าโบราณราชประเพณีในการเสนอรายชื่อสมเด็จพระสังฆราชมีการดำเนินการอย่างไร   ด้านนายจำนงค์ สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 หมวดสมเด็จพระสังฆราชนั้น เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ต้องให้มหาเถรสมาคม(มส.) ประชุมเลือกสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และให้นายกรัฐมนตรี นำนามที่ มส.เสนอนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะมีใครนำไปตีความให้ต่างไปจากนี้คงไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ มส.นำนามขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ชัดเจนอยู่แล้วในหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็เหมือนกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินอื่น ๆ เช่น สภาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้ประธานสภาวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลรับสนองพระบรมราชโองการ  อีกกรณีการตั้งนายกรัฐมนตรี สภาก็ต้องลงมติเลือก จากนั้นประธานสภาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เวลาตั้งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งขั้นตอนการเสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็ใช้กระบวนการเดียวกันกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนทางผ่าน และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายจำนงค์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนมี่มีผู้ไปยื่นให้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วยตีความมาตรา 7 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนั้น ก็สามารถยื่นได้ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องรู้ว่า เขามีอำนาจหรือไม่   เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อรับเรื่องมาแล้วจะต้องมีการประชุมพิจารณาว่า เรื่องดังกล่าวเขามีอำนาจหรือไม่ ถ้าไม่มีอำนาจก็ไม่รับพิจารณาต่อ ซึ่งแต่ละองค์กร มีกฎหมายเขียนบทบาทหน้าที่ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว "การวินิจฉัยเรื่องของคณะสงฆ์ ทางฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักร ได้แยกกันอย่างชัดเจน ไม่เคยมีฝ่ายอาณาจักรมายุ่งกับศาสนจักร หากเทียบกันฝ่ายอาณาจักร โดยรัฐบาล จะไปยุ่งกับการตั้งบาทหลวงในศาสนาคริสต์ หรือไปยุ่งกับการตั้งจุฬาราชมนตรีในศาสนาอิสลามได้หรือไม่ อยากให้ลองพิจารณากันดู จึงไม่อยากให้รัฐบาลมาทำอะไรที่ไม่เหมาะสมในการตั้งสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และขอตั้งคำถามว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไรกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งทำอะไรก็อย่าขัดบทบัญญัติของศาสนานั้นด้วย"อดีตเลขาธิการวุฒิสภากล่าว.“

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/374610
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่