กว่า 1,000 ปั๊มทั่วใต้ป่วน! “ปตท.” บิดเบือนตลาดน้ำมันป้องตัวเลขกำไรหด ข่าวนี้จริงเท็จแค่ไหนคะ

โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
        
        
       ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันทั่วโลกต่างเร่งมือผลิต แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะดำดิ่งลงไปกองอยู่ก้นเหว แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการนำน้ำมันออกไปทุ่มตลาดกันอย่างไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศตนเองยังมีงบประมาณพอใช้จ่าย หรือถ้าจะได้รับผลกระทบก็ขอให้เป็นแบบน้อยที่สุด
        
       ในสภาวะที่น้ำมันกำลังท่วมโลก แต่ประเทศไทยกลับเกิดสิ่งมหัศจรรย์แบบสวนกระแสชาวโลกอีกระลอก โดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ที่เวลานี้ทั้งปั๊มใหญ่ปั๊มเล็กจำนวนกว่า 1,000 แห่งกลับมีน้ำมันไม่พอขายให้สอดรับกับความต้องการใช้ประชาชน สร้างความเดือดร้อนกันไปถ้วนทั่ว
        
       เรื่องราวอันเป็นมหัศจรรย์ไทยแลนด์ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวใน “MGR Online ภาคใต้” มาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่เป็นจ๊อบเบอร์ออกมาให้ข้อมูลว่า คลังน้ำมันของ ปตท.ในภาคใต้ที่มีอยู่ 2 แห่งคือ คลังน้ำมัน ปตท.ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กระจายน้ำมันให้กับพื้นที่ภาคใต้ตอนบนไปจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับคลังน้ำมันในพื้นที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กระจายน้ำมันให้กับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
        
       โดยทั้ง 2 คลังน้ำมัน ปตท.ดังกล่าวปฏิเสธที่จะขายน้ำมันให้กับจ๊อบเบอร์ในราคาที่เป็นธรรม แต่กลับตั้งราคาขายสูงกว่าราคาหน้าปั๊มเสียอีก ส่งผลให้ปั๊มน้ำมันจำนวนมากมายทั่วภาคใต้ หรือประมาณกว่า 1,000 แห่งน้ำมันไม่พอขายให้กับประชาชน
        
       ผู้บริหารบริษัทจ๊อบเบอร์แห่งหนึ่งที่เคยซื้อน้ำมันจากคลัง ปตท.ให้ข้อมูลว่า ปตท.เริ่มที่จะขายน้ำมันหน้าคลังในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 1 บาทต่อลิตรราววันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งราคาขายส่งถือว่าสูงกว่าราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มทั่วไปประมาณ 50 สตางค์ ส่งผลให้บริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ต้องเพิ่มราคาขายตามไปด้วย
        
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวงการผู้ค้าน้ำมันต่างทราบกันดีว่า การที่ ปตท.บิดเบือนกลไกตลาดน้ำมันเป็นผลจากที่ต้องซื้อน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าราคาแพง ซึ่งนำมากลั่นแล้วส่งขายให้จ๊อปเปอร์ในเวลานี้มีตัวเลขที่ขาดทุน เลยใช้วิธีดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เพื่อให้ขาดทุนกำไรให้น้อยที่สุด โดยไม่สนใจว่าราคาตามกลไกตลาดจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งความจริงแล้วในเวลาปกติ ปตท.ก็เป็นผู้นำทางการตลาดอยู่แล้ว
        
       “การกระทำของ ปตท.ช่างขัดแย้งกับหลักธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง ปตท.ไม่ควรจะทำเช่นนี้เพราะเป็นบริษัทที่โฆษณามาตลอดว่าเคยได้รับรางวัลธรรมาภิบาล แต่ละปี ปตท.มีกำไรหลายแสนล้านบาท การจะขาดทุนกำไรสักนิดหน่อยไม่ได้เลยหรือ ถึงขั้นต้องบิดเบือนราคาตลาดเลยหรือ แต่ลึกๆ แล้วสังคมไทยอาจจะไม่แปลกใจในเรื่องนี้ก็เป็นได้” ผู้บริหารบริษัทจ๊อบเบอร์ในภาคใต้กล่าวก่อนเสริมว่า
        
       จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่า ปตท.ไม่ต้องการให้เห็นตัวเลขในทางบัญชีว่ามีกำไรที่หดหายไป เพราะแม้จะมีน้ำมันในคลัง แต่ก็ตั้งราคาไว้ถือว่าสูงแบบไม่ต้องการจะขาย เพื่อให้มีตัวเลขว่ากำไรลดลงไปปรากฏทางบัญชีน้อยที่สุด โดยเลือกแต่จะขายให้เฉพาะปั๊มที่มีโลโก้แบรนของตัวเอง ส่วนปั๊มอิสระอื่นๆ แม้เวลาปกติ ปตท.ก็จะทำการค้าหากำไรด้วย แต่เวลานี้กลับเลือกที่จะไม่สนใจว่าปั๊มอิสระจะได้รับความเดือดร้อนกันอย่างไร เพียงแต่บอกว่าหากต้องการซื้อน้ำมันในราคาที่ตั้งไว้ได้ ปตท.ก็มีน้ำมันที่จะส่งให้ได้แบบเท่าไหร่เท่ากัน
        
       อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากแวดวงธุรกิจค้าน้ำมันในภาคใต้ยืนยันว่า ขณะที่ ปทต.ขายในน้ำมันในราคาสูงให้จ๊อบเบอร์ แต่สำหรับบริษัท เกรท ทาเล้นท์ ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งน้ำมันให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ซื้อจาก ปทต.แห่งเดียวกลับได้รับการจัดสรรน้ำมันให้ในราคาที่ถูกลงราว 20 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้กับวงการว่า เป็นการฮั้วกันเพื่อแสวงหากำไรอีกทางหรือไม่
        

กว่า 1,000 ปั๊มทั่วใต้ป่วน! “ปตท.” บิดเบือนตลาดน้ำมันป้องตัวเลขกำไรหด

        
       สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้จากเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา คลังน้ำมัน ปตท.ทั้งที่ จ.สงขลา และที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เปิดราคาขายส่งน้ำมันดีเซล (โซล่า) ไว้ที่ลิตรละ 20.28 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 23.01 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 23.46 บาท และเบนซินไร้สารตะกั่วลิตรละ 29.57 บาท เมื่อนำไปเทียบกับราคาน้ำมันขายปีกหน้าปั๊มทั่วภาคใต้นับว่ายังสูงกว่า อย่างราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มใน จ.สงขลาอยู่ที่ลิตรละ 20.05 บาท เป็นต้น
        
       นายอาหมัด จะปากิยา เจ้าของปั๊มน้ำมันใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนอยากรู้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบเรื่องนี้แล้วหรือไม่ ในขณะที่น้ำมันราคาถูกและล้นตลาดโลก แต่น้ำมันในไทย โดยเฉพาะในภาคใต้กลับขาดแคลนถึงขนาดไม่มีขาย หรือต้องปันส่วนกันเลย เรื่องนี้กลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนไปแล้ว เพราะคนใต้มักเติมน้ำมันจากปั๊มอิสระ มากกว่าปั๊มที่มีโลโก้ ปตท.และยี่ห้ออื่นๆ ของต่างชาติ
        
       “จึงอยากร้องเรียนให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานตรวจสอบ ปตท.และบริษัทน้ำมันต่างชาติว่า สาเหตุของการขาดแคลนน้ำมันเกิดจากอะไร เพราะทุกคนสงสัยว่าในขณะที่น้ำมันราคาลดลง และมีปริมาณมากจนล้นโลก แต่ทำไมภาคใต้เราจึงไม่มีน้ำมันใช้”
        
       นายโอภาส หมั่นเจริญ เจ้าของปั๊มใน จ.สงขลา กล่าวว่า คลังน้ำมันทั้ง 2 แห่งใน อ.สิงหนครมักมีปัญหากับผู้ค้าและผู้ขนส่งน้ำมันมาโดยตลอด ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะคลัง ปตท.จะเอาเปรียบลูกค้า เช่น การกำหนดเวลาเปลี่ยนราคาที่ไม่คงที่ บางวันเปลี่ยนราคาใหม่ที่ 10.00 น. บางวันเปลี่ยนราคาที่ 11.00 น. โดยเฉพาะหากราคาปรับขึ้นก็จะเปลี่ยนราคาเร็วกว่าปกติ ทำให้ลูกค้าเติมน้ำมันไม่ทัน ต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อ
        
       นายนอบ พงษ์วัฒนา เจ้าของปั๊มอิสระในภาคใต้ กล่าวว่า มีปั๊มอิสระเป็นจำนวนมากที่ซื้อน้ำมันของ ปตท.มาขายโดยผ่านจ๊อบเบอร์ มีปั๊มอิสระเป็นจำนวนมากที่ขายน้ำมันให้ ปตท.แม้จะไม่ใช่ลูกค้าโดยตรง ซึ่ง ปตท.ควรจะเห็นใจ ไม่ใช่เวลาที่ทำกำไรได้ ปตท.ก็ฟันกำไรจากลูกค้าปั๊มอิสระผ่านทางจ๊อบเบอร์ แต่เมื่อมีปัญหาจากการที่น้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง ปตท.กลับไม่ยอมขาดทุนกำไรแม้เพียงเล็กน้อย
        
       “หาก ปทต.ทำอย่างนี้จริงถือว่าเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจโดยไม่มีธรรมาภิบาลเลย  ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ต้องดูแลแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ ปตท.ดำเนินการตามอำเภอใจ”
        
       สำหรับน้ำมันที่กระจายอยู่ในปั๊มทั่วภาคใต้มีเส้นทางการขนส่งทางเรือมาจากโรงกลั่นที่ ปทต.ร่วมถือหุ้นอยู่ถึง 5 แห่ง โดยจะนำมาส่งยังคลังน้ำมันของ ปตท.เอง กับคลังน้ำมันร่วมของเซลล์ เอสโซ่และคาลเท็กซ์ ซึ่งในภาคใต้ที่มีอยู่ 2 แห่งคือ ที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กับที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา จากนั้นก็กระจายผ่านจ๊อบเบอร์ไปให้กับปั๊มที่เป็นแบรนของ ปตท. เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ รวมถึงปั๊มอิสระต่างๆ อีกทั้งมีการจัดสรรให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วย
        

กว่า 1,000 ปั๊มทั่วใต้ป่วน! “ปตท.” บิดเบือนตลาดน้ำมันป้องตัวเลขกำไรหด

        
       ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ปตท.ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงการจำหน่ายน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ไม่ขาดแคลนให้กับ “MGR Online ภาคใต้” โดยระบุว่า ปตท.ขอยืนยันว่า คลังน้ำมันของ ปตท.ใน อ.สิงหนคร ยังคงจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องในปริมาณเฉลี่ยปกติ โดยผู้บริโภคทั่วไปยังสามารถหาซื้อน้ำมันได้ตามปกติ ไม่มีการขาดแคลนแต่อย่างใด ในเดือน ม.ค.2559 คลังน้ำมัน ปตท.ใน จ.สงขลาได้จำหน่ายน้ำมันปริมาณรวม 39.80 ล้านลิตร ซึ่งสูงขึ้นกว่า 21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
        
       นอกจากนี้แล้วในหนังสือชี้แจงของ ปตท.ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันบริษัท เกรท ทาเล้นท์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ค้าขายส่งอุตสาหกรรมของ ปตท.ที่ซื้อน้ำมันจาก ปตท.แห่งเดียว โดยอิงราคาประกาศหน้าสถานีบริการขายปลีก ปตท. ณ จังหวัดนั้น ซึ่งมียอดซื้อเฉลี่ยตามปกติที่เคยจำหน่ายตามข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่แรก เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้าผู้บริโภครับเหมาก่อสร้าง กลุ่มสร้างทาง และผู้ค้าส่ง โดยในท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวลงนามโดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันของ ปตท.ด้วย
        
       อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของ ปตท.กลับเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการตั้งราคาขายส่งให้กับจ๊อบเบอร์ การตั้งราคาขายส่งที่สูงกว่าราคาขายปลีกหน้าปั๊ม โดยเฉพาะความไม่พยายามที่จะช่วยเหลือคู่ค้าที่เป็นปั๊มอิสระ ซึ่งต่างกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
       

ที่มา :http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000011927
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่