CSS-SCI ส่งซิกปี59แจ่ม คว้างานเสา 3 ค่ายมือถือ บิ๊กบอส CSS ลั่นเป้ารายได้พุ่ง 5.3 พันล้าน

กระทู้ข่าว

CSS-SCI ส่งซิกปี59แจ่ม คว้างานเสา 3 ค่ายมือถือ บิ๊กบอส CSS ลั่นเป้ารายได้พุ่ง 5.3 พันล้าน
ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

          CSS-SCI งบปี 59 ส่อแววสดใส เตรียมรับออเดอร์เสาโทรคมนาคม 3G-4G จาก 3 ค่ายมือถือ “AIS-DTAC-TRUE” คาดสรุปมูลค่างานก.พ.นี้ โดย CSS วางเป้ารายได้ปี 59 พุ่ง 5,300 ล้านบาท ด้าน SCI โชว์แบ็กล็อกรอบุ๊ค 1,600 ล้านบาท

          นายสมพงษ์ กังสวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CSS กล่าวว่า การขยายการลงทุนเสาโทรคมนาคมของภาคเอกชน เพื่อรองรับ 3G และ 4G ของผู้ประกอบการค่ายมือถือต่างๆ ในปี 2559 เป็นผลดีต่อบริษัท โดยน่าจะได้รับออเดอร์จากค่าย AIS ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, ค่าย DTAC ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และค่าย TRUE ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งจะเป็นงานไตรมาสต่อไตรมาส คาดว่าจะมีตัวเลขที่ชัดเจนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้  ส่วนของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังต้องรอแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนของ JAS ก่อน

          ทั้งนี้ ในปี 2559 โดยภาพรวมบริษัทตั้งเป้ามีรายได้รวมประมาณ 5,300 ล้านบาท เติบโตประมาณ 17-18% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 4,400-4,500 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตในปี 2559 แบ่งเป็นเป้าการเติบโตของธุรกิจการติดตั้งระบบโทรคมนาคมประมาณ 20% ซึ่งยังไม่ได้รวมงานของ JAS แต่ในเบื้องต้นที่ DTAC จะขึ้นเสา 10,000 แห่งในระยะเวลา 3 ปี ดังนั้นคาดว่าบริษัทจะมีงานต่อเนื่องในระยะ 2 ปีเป็นอย่างน้อย

          ขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้งตั้งเป้าเติบโต 15% แม้ว่าการเบิกจ่ายของภาครัฐจะยังไม่มีความชัดเจน แต่มีแนวโน้มของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งยังต้องรอภาครัฐให้มีการเปิดประมูลจริง และมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นด้วย

          สำหรับมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2559 ทั้งหมด แบ่งเป็นงานธุรกิจโทรคมนาคม มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และงานธุรกิจเทรดดิ้งประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีการส่งของทุกเดือน จึงเป็นมูลค่างานในระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ขณะเดียวกันบริษัทยังรอที่จะประมูลงานใหม่ๆ อย่างงานระบบไอที หรืองานรถไฟฟ้า และเชื่อว่ายังมีโอกาสจากงานภาครัฐ ที่จะต้องมีดิจิตอลอีโคโนมี เป็นต้น

          ด้านงานในประเทศเมียนมา (พม่า) ทางบริษัทยังต้องรอดูก่อน เนื่องการลงทุนในต่างประเทศ มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท และการบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในประเทศไทย ที่เรื่องการบริหารจะง่ายกว่าและทำได้สะดวกกว่าการดำเนินการในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศกว่า 90% และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 10%

          นายสมพงษ์  กล่าวว่า ด้านโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ได้มีการเลื่อนการจับฉลากมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 จนปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน และก็ยังรอการประกาศของภาครัฐ

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้โครงการของบริษัทได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวจำนวน 4 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ หรือโครงการละ 5 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากติดในเรื่องของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ เช่นเดียวกันโรงไฟฟ้าพลังงานอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

          ด้านนายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า การขยายการลงทุนเสาโทรคมนาคมของภาคเอกชนเพื่อรองรับ 3G และ 4G ของค่ายต่างๆ ขณะนี้บริษัทได้เข้าไปเจรจากับ TRUE และ AIS แล้ว รวมถึงจะเริ่มเข้าไปเจรจากับ JAS  และ DTAC อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่ายต่างๆ จะทยอยสั่งเสาโทรคมนาคมประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้

          ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยได้ทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2558 ไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2559 เกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันประมาณช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการประกาศการลงทุนในโครงการใหม่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น โครงการด้านพลังงาน เป็นต้น

          สำหรับงานในต่างประเทศ มีโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ในสปป.ลาว ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าจะได้เซ็นสัญญาในช่วงไตรมาส 1/59 นี้ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในประเทศเมียนมา (พม่า) ที่บริษัทได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยเรียบร้อยแล้ว โดยได้มีการจองพื้นที่สำหรับตั้งโรงงานผลิตเสาส่งแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมและชุบกัลวาไนซ์ เพื่อจำหน่ายและบริการในพม่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ก่อนไตรมาส 3/59

          โดยโรงงานดังกล่าวในพม่า มีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท มีขนาดกำลังการผลิตของเสาประมาณ 7,500 ตันต่อปี และมีกำลังผลิตของชุบกัลวาไนซ์ประมาณ 2,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 12-18 เดือน จึงน่าจะเริ่มมีการรับรู้รายได้ในช่วงปี 2561 เป็นต้นไป

          นายเกรียงไกร  กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศประมาณ 65% และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 35% ซึ่งคาดว่าในอนาคตหลังสร้างโรงงานในพม่าเสร็จและมีการขยายการลงทุนในสปป.ลาว ก็จะทำให้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 50% และมีสัดส่วนรายได้ในประเทศประมาณ 50% ตั้งแต่ในปี 2560 เป็นต้นไป

          ขณะที่งานในประเทศ ยังอยู่ระหว่างการรอภาคัฐอัดฉีดงบประมาณ เพราะบริษัทจะได้รับอานิสงส์จากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีด) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเน้นขยายการลงทุนทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

          ด้านผลการดำเนินงานในปี 2558 น่าจะมีการประกาศหลังจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย ที่การขายในประเทศจะมีการเติบโตประมาณ 5% จากปีก่อน แต่การรับรู้รายได้จากต่างประเทศน่าจะลดลงเนื่องจากโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเฟส 1 ดำเนินการเสร็จแล้ว ขณะที่เป้าหมายปี 2559 ยังอยู่ระหว่างดำเนินการวางแผน คาดว่าจะมีการประกาศได้ในภายหลัง แต่ในเบื้องต้นคาดว่าปี 2559 จะมีการเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2558 จากการขยายการลงทุนเสาโทรคมนาคมของภาคเอกชน

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 27)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่