3 ค่ายเปิดศึกราคารับ '4จี' 'เอไอเอส' ชู 50 แพ็คเกจชิงลูกค้า-ขอบอร์ด 2หมื่นล้านลงทุนเพิ่ม

กระทู้ข่าว

3 ค่ายเปิดศึกราคารับ '4จี' 'เอไอเอส' ชู 50 แพ็คเกจชิงลูกค้า-ขอบอร์ด 2 หมื่นล้านลงทุนเพิ่ม
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

          "เอไอเอส"จัดหนัก โปรใหม่ 4จี 50 แพ็คเกจ การันตีคิดราคาโปรโมชั่นถูกสุดในตลาด เริ่มต้น 299 ซื้อเน็ตเพิ่มต่อเดือนได้ 100 บาทต่อกิกะไบต์ ระบุปี 2559 แข่งเดือดแน่ เร่งขยายโครงข่าย 4จี อัพสปีด เป็นแอลทีอี แอดวานซ์ ครบ 77 จังหวัด เดือนพ.ค.นี้ ภายใต้งบลงทุน 4 หมื่นล้าน

          หลังการขับเคี่ยว เคาะราคาชิงคลื่น 4จี 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จบลงอย่างดุเดือด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่จับตามองว่า  ใครจะเปิดตัวให้บริการเป็นรายแรกและจะ มีโปรโมชั่นที่ดึงดูดเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญ แชมป์จะยังครองแชมป์ต่อไป หรือคู่ท้าชิงจะก้าวขึ้นมาเทียบ ล่าสุด แชมป์เก่าอย่าง เอไอเอสก็ออกมาประกาศเปิดบริการ พร้อมโปรแรง ราคาต่ำสุดในตลาด

          นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสเป็น ผู้ให้บริการ 4จีบนเทคโนโลยีแอลทีอี แอดวานซ์ รายแรกของไทย หลังประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งลองเทสต์สปีด แล้ว ความเร็วมากถึง 400 กิกะบิตต่อวินาที มากกว่า 4จีธรรมดาที่ให้บริการกันอยู่ 10 เท่า

          หลังได้รับใบอนุญาตเมื่อ 25 พ.ย. 2558 ปัจจุบัน เอไอเอสมีสถานีฐาน 4จีแล้ว 7,000 แห่ง ใช้งบประมาณ 14,520 ล้านบาท ครอบคลุม 42 จังหวัด และภายในเดือนพ.ค.นี้ จะขยายโครงข่าย 4จี ให้ครบ 77 จังหวัด สถานีฐานเพิ่มเป็น 14,000 แห่ง

          ปีนี้บริษัทคาดใช้งบลงทุนขยายโครงข่ายราว 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ สำหรับการขยายโครงข่าย 3จีบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีสถานีฐาน 3จี 27,000 แห่ง

          ทั้งนี้ สาเหตุที่เอไอเอสลงทุน 20,000 ล้านบาท ขยาย 3จีเพิ่มเติมด้วย เพื่อรองรับลูกค้า 2จี และขยายโครงข่าย 4จีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อีก 20,000 ล้านบาท จากที่ใช้งบลงทุนไปแล้ว 14,520 ล้านบาท ซึ่งงบลงทุน 4จีเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาทต้องรออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 4 ก.พ.นี้ แต่อาจไม่ได้ใช้ทั้งหมดภายในปีนี้

          ส่วนโปรโมชั่นใหม่ 4จี เอไอเอสได้เปิดตัวแล้ว 50 แพ็คเกจ ซึ่งลูกค้าที่เป็น 4จีปัจจุบันใช้ความเร็ว 4จีได้เลย ส่วนลูกค้าใหม่ เลือกซื้อแพ็คเกจได้ตามความต้องการใช้งานของ ตัวเอง โดยราคาค่าบริการรายเดือนเริ่มที่ 299 บาท ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1.5 กิกะไบต์ หากความเร็วสิ้นสุดลง ซื้อเพิ่มได้ราคากิกะไบต์ละ 100 บาทต่อเดือน ถือเป็นราคาที่ดึงดูดใจมาก เพราะเดิมราคาอินเทอร์เน็ตต่อกิกะไบต์ อยู่ที่ 250-350 บาทต่อเดือน

          นายสมชัย กล่าวว่า ราคาโปรโมชั่นที่ออกมานั้นได้ผ่านการอนุมัติจาก กสทช. เรียบร้อยแล้ว และค่าบริการในทุกแพ็คเกจถูกลงกว่าค่าบริการ 3จีตามที่ กสทช. กำหนด ทั้งในอัตราค่าบริการด้านเสียง (วอยซ์) และบริการข้อมูล (ดาต้า)

          ส่วนของลูกค้า 2จีย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบมจ. ทีโอที ไปตั้งแต่เดือนก.ย.2558 เอไอเอสได้ออกแพ็คเกจให้ลูกค้า 2จีมาแลกรับเครื่อง 3จี หรือ 4จีได้นั้น ปัจจุบันลูกค้าย้ายมาเป็น 3จีแล้วกว่า 1.5 ล้านเลขหมาย จากทั้งหมด 12 ล้านเลขหมาย

          หลังจากนี้ ต้องรอให้ลูกค้าตัดสินใจย้ายเอง เพราะเป็นสิทธิ์ของลูกค้า แต่เอไอเอสเชื่อว่า จะได้ลูกค้าจำนวนที่เหลือค้างในระบบ 2จีทั้งหมดมาเป็นลูกค้า 3จี และ 4จีในอนาคต อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ได้ขอขยายสิทธิ์คุ้มครองคลื่นความถี่ 900 หลังหมดสัญญาสัมปทานไปแล้วอีก 12 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอ กสทช.อนุมัติต่อไป

          "ในส่วนของทีโอทีที่เอไอเอสร่วมเป็นพันธมิตรนั้น ในตัวการพิจารณาได้รับการ อนุมัติจากบอร์ดทีโอทีแล้ว เหลือเพียงรอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดสัญญาที่จะลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน คาดว่าภายในไตรมาส 1 นี้จะเริ่มโครงการได้อย่างเป็นทางการ สำหรับธุรกิจด้านโมบายย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเอไอเอสมองทีโอทีเป็น พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ เป็นคู่สัมปทานที่ดีต่อกันตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเอไอเอสได้ลงทุน เพื่อสร้างระบบโทรคมนาคมในประเทศ ตลอดที่เป็นคู่สัญญากับทีโอทีมากกว่า 250,000 ล้านบาท"

          นายสมชัย กล่าวด้วยว่า จากเป้าหมายของเอไอเอสที่ต้องการจะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์ เอไอเอสมุ่งมั่นจะมอบบริการยุคดิจิทัลที่ดีที่สุดให้แก่คนไทย ทำให้ที่ผ่านมาได้เตรียมการเพื่อรองรับการมาถึงของ 4จี อย่างครบถ้วน

          ดังนั้นวินาทีแรกที่ได้รับใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ พนักงานเอไอเอสกว่า 12,000 คน จึงเร่งทำงานอย่างหนัก เพราะตระหนักดีถึงหน้าที่ในการเร่งนำเทคโนโลยี 4จี ที่ เชื่อมั่นได้ในเรื่องของคุณภาพทุกด้าน มาให้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งจากการออกแบบเครือข่ายโดยวิศวกรมืออาชีพ ความพร้อมของงานบริการลูกค้ายุค 4จีในทุกจุด ดิจิทัล เซอร์วิส และคอนเทนต์ การเตรียมเซอร์วิสที่ตอบโจทย์

          ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งที่สร้าง ความมั่นใจได้ว่า เอไอเอส แอดวานซ์พร้อม จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคมสมบูรณ์แบบ ที่จะสนับสนุนและยกระดับการเติบโตทุกด้านของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ ภาพรวมจากการลงทุนต่อเนื่อง การเปิด โอกาสใหม่ๆ ให้แก่ ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่สตาร์ทอัพมากกว่า 300 ราย ไปจนถึงองค์กรรัฐและเอกชน

          ปีแข่งดุ ชิงออกราคาต่ำสุด
          นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า การแข่งขันปีนี้จะดุเดือดอย่างมาก แต่ไม่ได้เรียกว่าเป็นสงครามราคาเพราะค่าบริการนั้น เอไอเอสระบุชัดเจนว่า จำกัดปริมาณการใช้ ไม่ได้อันลิมิเต็ด แต่ในโปรโมชั่นที่ออกมานั้น กล้าพูดได้ว่า ต่ำสุดในตลาด โดยมองว่าแพ็คเกจราคา 488 บาทต่อเดือนที่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 10 กิกะไบต์จะเป็นแพ็คเกจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

          ทั้งนี้ ปัจจุบันในระบบเอไอเอสมีลูกค้า แล้ว 45 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 20 ล้านราย ส่วนเครื่องลูกข่าย ที่รองรับ 4จีมีแล้ว ประมาณ 4 ล้านเครื่อง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนหลังจากนี้ เนื่องจากจะมีสมาร์ทโฟนที่ออกมาตอบโจทย์และรองรับการใช้งาน 4จี

          "ในแง่ของการตั้งเป้าหมาย คาดว่าจากจำนวนลูกค้าที่ใช้งานดาต้าจะย้ายมาเป็นลูกค้า 10 ล้านราย เพราะต้องการสัมผัสประสบการณ์แอลทีอี แอดวานซ์ของเอไอเอส ซึ่งได้พันธมิตรเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์คือบริษัท หัวเว่ย จำกัด ซึ่งจะทำให้โครงข่าย 4จีต่อจากนี้ของเอไอเอสเป็นแอลทีอี แอดวานซ์ทุกแห่ง"

          เทียบโปร4จี3ค่ายมือถือ
          ผู้สื่อข่าว รายงานว่า จากการตรวจสอบแพ็คเกจ และโปรโมชั่นของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งประกาศว่า ให้บริการ 4จี อยู่ใน ตลาดปัจจุบัน พบโปรโมชั่นใหม่ที่เอไอเอส ออกมานี้มีราคาต่ำสุดแล้ว โดยแพ็คเกจ 4จี รายเดือนเริ่มต้น 299 บาท เล่นเน็ต 3จี และ 4จีได้ 1.5 กิกะไบต์ โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที ฟรีเอไอเอส ซูเปอร์ ไวไฟ ราคาแพ็คเกจสูงที่สุด 1,888 บาทเล่นเน็ต 3จี และ 4จีได้รวม 75 กิกะไบต์ โทรฟรีทุกเครือข่าย 1,500 นาที ฟรีเอไอเอส ซูเปอร์ไวไฟ เอไอเอส คลาวด์ 100 กิกะบิต ดูหนังเอไอเอส เพลย์ได้ 4 เรื่องต่อสัปดาห์

          ส่วนโปรโมชั่นของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) แพ็คเกจต่ำสุดอยู่ที่ 399 บาท เล่นเน็ต 3จีและ4จีได้ 1.5 กิกะไบต์ โทรฟรีทุกเครือข่าย 150 นาที ส่วนโปรโมชั่น สูงสุดในแพ็คเกจ เลิฟ แอนด์ โรลล์ เต็มแม็กซ์ อยู่ที่ 1,999 บาทเดือน เล่นเน็ตได้ 12 กิกะไบต์ โทรได้ 2,200 นาที

          "ทรูมูฟ เอช" แพ็คเกจ 4จีไอ-สมาร์ท ราคาแพงสุดอยู่ที่ 1,899 บาทเดือน โทรได้ 2,000 นาที เล่นเน็ตได้ 20 กิกะไบต์ แพ็คเกจต่ำสุด 399 บาทเช่นเดียวกับดีแทค เล่นเน็ตได้ 1.25 กิกะไบต์ โทรฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที เป็นต้น

          ข้อมูล4จีสร้างปรากฏการณ์ใหม่
          ขณะที่ ดีแทคเผยข้อมูล และสถิติน่าสนใจ 4จีกำลังนำไทยสู่ดิจิทัล และการพัฒนาประเทศในระยาว จากการตอบสนองความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เร่งการใช้งานดาต้าแบบก้าวกระโดด ใช้งานดาต้าด้วยจำนวนมากกว่าการใช้งาน 3จีทั้งในธุรกิจและชีวิตประจำวัน

          ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่ยุค 4จีด้วย ความพร้อมของอุปกรณ์ หรือสมาร์ทโฟน ที่รองรับการใช้งาน และทิศทางตลาดที่ ตอบรับผลิตภัณฑ์ใหม่จาก 4จี โดยปีนี้จะเป็นการวางรากฐานและขยายโครงข่ายของประเทศ และนำเทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพ 4จีมาเปิดให้บริการ

          การใช้งาน 4จีสนับสนุนความต้องการชมคอนเทนท์ในรูปแบบวีดิโอเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ทำให้แอพพลิเคชั่นรับชมวีดิโอคลิปได้รับความนิยม และแอพพลิเคชั่นถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต สตรีมมิ่ง จะมีบทบาทและเติบโตมากขึ้น

          ทรูยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
          ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของบริษัททรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า ตลาดโทรคมนาคมปีนี้จะไม่เกิดสงครามราคา เพราะสงครามราคาต่อสู้กันมานานจนปัจจุบันราคาค่าบริการของประเทศถูกเป็นที่ 2 รองจากอินเดีย จึงพิสูจน์แล้วว่าอยู่ในราคาที่สมดุล ประชาชนรับได้ที่เหลือคือ ต้องการคุณภาพ ปัจจุบันการให้บริการดาค้าราคาถูกที่สุด คือ ไต้หวัน

          การแข่งขันยุคใหม่จะต้องกลับไปที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หากลูกค้าต้องบริโภคดาต้ามากขึ้น ราคาของดาต้าต่อหน่วยก็ต้องถูกลงอยู่แล้ว หากลูกค้าต้องการบริโภคคอนเทนท์ การทำธุรกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมก็ต้องแข่งขันกันเพื่อให้ราคาได้ประโยชน์ และใช้งานได้จริงมีดิจิไทซ์เซซั่น มีการตลาดที่ดีขึ้น แข่งขันได้สูงขึ้นสิ่งที่จะแข่งขันกันคือ คอนเทนท์ แอพพลิเคชั่น และโซลูชั้น



แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 1,4)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่