พระเจ้าอโศกมหาราช กับ Dialectic

สรุปและวิเคราะห์เพิ่มเติม การบรรยายเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559   (บรรยายโดย อาจารย์ ดร.มนตรี ธีรธรรมพิพัฒน์)
  
                                                                                                                                          

การบรรยายของอาจารย์ ดร.มนตรี เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช ในวันที่ 12 มกราคม 2559 ได้เน้นให้เห็นประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ได้อย่างมากทีเดียว โดยอาจารย์ ดร.มนตรี ได้เริ่มจากการแบ่งประเด็นในการศึกษาวิเคราะห์ไว้น่าสนใจใน 3 ประเด็นคือ
1. สถานะและบทบาทของอโศกราชกุมารก่อนขึ้นครองราชย์  
2. ที่มาของอำนาจทางการเมือง
3. แนวคิดการเมืองการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช  
ในแต่ละประเด็นจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้คือ

1. สถานะและบทบาทของอโศกราชกุมารก่อนขึ้นครองราชย์  ในประเด็นนี้ นักวิชาการบางท่านอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ผมคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มที่มีความหมายมาก เพราะเราไม่สามารถที่จะเข้าใจแนวทางความคิดของพระเจ้าอโศกมหาราชโดยการตัดทอนเรื่องราวในชีวิตของท่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตในวัยเยาว์

จากการฟังบรรยาย ทราบความว่า พระเจ้าอโศกทรงเป็นเจ้าชายรอง แต่ได้มีโอกาสช่วยพระบิดาปกครองเมืองในฐานะของอุปราช พระบิดาของพระเจ้าอโศกทรงมีพระนามว่าพินทุสาร พระมารดาทรงพระนามว่าวิมังสาเทวี สมัยพระเจ้าอโศกยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเป็นคู่แข่งของเจ้าชายสุสิมะ พระเชษฐาต่างมารดาในหลายๆเรื่อง จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า  พระเจ้าอโศกถูกใส่ความให้ร้ายมาตลอดจนพระบิดาต้องส่งไปศึกษายังตักสิลา  แต่พอกลับมาก็ยังทรงเป็นคู่แข่งของเจ้าชายสุสิมะเหมือนเดิม

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พระเจ้าอโศกทรงแสดงพระปรีชาสามารถทางการรบอยู่เสมอ จนเป็นที่พอพระทัยของพระบิดาขึ้นมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม พระบิดายังคงพอพระทัยเจ้าชายสุสิมะอยู่ เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดคือตอนที่พระเจ้าอโศกทรงปราบกบฏในเมืองปาฏลีบุตรได้ พระบิดาทรงให้รางวัลพระเจ้าอโศกโดยส่งให้ไปปกครองเมืองอุชเชนีแทน แต่กลับให้เจ้าชายสุสิมะปกครองเมืองปาฏลีบุตร เวลาล่วงเลยจนถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าพินทุสาร ซึ่งในเวลานั้นก็ทรงอยากให้เจ้าชายสุสิมะครองราชย์ต่อจากพระองค์ แต่มติของสภาราชมนตรีกลับให้พระเจ้าอโศกครองราชย์ต่อจากพระบิดา

ขอย้อนกลับมาถึงในช่วงที่พระเจ้าอโศกยังทรงพระเยาว์ พบว่าพระองค์ได้รับความรู้จากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์และอรรถศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปรัชญาฮินดู แต่แน่นอนว่าภายหลังทรงหันมาสนพระทัยพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาได้อย่างครบวงจรจนยากที่จะหาพระราชาในสมัยนั้นที่จะทรงทำได้เสมอเหมือน เพียงแต่ชีวิตในวัยเยาว์อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ตรงนี้มากนักว่าทำไมพระองค์ทรงเลือกพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องนำทาง แต่ชีวิตในวัยเยาว์ก็ได้ตอบโจทย์หลายข้ออยู่เหมือนกัน เช่น

- ในด้านความสามารถนั้น จะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของความสามารถในด้านวิชาความรู้ การรบ และความรู้เรื่องการปกครอง เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นที่โปรดปานมาเป็นอันดับหนึ่งในพระราชหฤทัยของพระราชบิดา แต่พระองค์ยังคงได้รับโอกาสตามสมควรที่จะได้ศึกษาความรู้ในด้านต่างๆ และโอกาสของการได้ช่วยพระบิดาปกครองแว่นแคว้น และโอกาสในการเป็นอุปราช การได้รับความรู้และประสบการณ์เยี่ยงนี้ ทำให้พระองค์ทรงได้รับประสบการณ์ที่ดี และอาจเป็นเหตุให้ทรงตัดสินใจเด็ดเดี่ยวในการประหารชีวิตพระญาติในอนาคต และหันกลับมาสนใจพระพุทธศาสนาในอนาคตด้วย ถึงแม้ว่าสองเหตุการณ์นี้จะดูขัดกันอย่างรุนแรง แต่ก็อาจอิงอาศัยกันอยู่ เพราะถ้าไม่ได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายในการเป็นนักปกครอง ก็อาจไม่ทำให้พระเจ้าอโศกเข้าถึงปรัชญาของพระพุทธศาสนาเลยก็ได้

ในกรณีนี้เหตุการณ์เทียบเคียงที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ขององคุลิมาล ที่กล่าวเช่นนี้ เพียงอยากจะสรุปว่าถ้าองคุลิมาลไม่เคยฆ่าและตัดนิ้วใครเลย ก็อาจไม่บรรลุธรรมได้เร็วขนาดนี้  (หมายถึงเร็วขนาดที่เป็นอยู่)

- ในด้านการแสดงความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ แน่นอนว่าการที่ในท้ายที่สุดแล้ว สภาราชมนตรีและสภาที่ปรึกษาที่เสนอให้พระองค์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้าพินทุสาร แต่การเชื่อมั่นในลักษณะนั้นจะต้องได้มากจากการเล็งเห็นพระปรีชาสามารถและพระอุปนิสัยบางอย่างที่มีอยู่ในตัวพระองค์ และแน่นอนว่าจะต้องมีการเห็นสืบทอดกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ประเด็นที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ การเห็นของสภาราชมนตรีที่เห็นขัดกับพระเจ้าพินทุสาร ถึงแม้พระเจ้าพินทุสารจะถือหางข้างเจ้าชายสุสิมะ แต่มติของสภาฯกลับไม่เห็นด้วย ประเด็นนี้ทำให้เราได้เห็นว่า สภาฯกลับเชื่อมั่นในตัวของพระเจ้าอโศกมากกว่า การเชื่อมั่นตรงนี้อาจเป็นการผสมผสานระหว่างความสามารถในการปกครอง (ซึ่งอาจแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและเหี้ยมโหดของพระองค์ในบางเรื่อง) และการมีคุณธรรมของนักปกครองในด้านที่สภาฯเห็นคล้อย (ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อที่ทำให้ทรงสนพระทัยพระพุทธศาสนาในท้ายที่สุด)

- ในด้านปมระหว่างพระบิดาและพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับเจ้าชายสุสิมะ พระเจ้าอโศกได้รับรู้เหตุการณ์มาตลอดว่าพระบิดาและพี่น้องรู้สึกกับตัวเองอย่างไร พอพระองค์ทรงมีอำนาจเลยจำต้องกำจัดเสี้ยนหนาม สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับเรื่องของทฤษฎีกษัตริย์มาก ถึงจะเป็นความโหด แต่ถือว่าเป็นความโหดที่พอรับได้และเป็นความโหดที่มีที่มาที่ไป และสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมในท้ายที่สุดพระองค์ถึงได้มาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

2. ที่มาของอำนาจทางการเมือง ในประเด็นนี้ได้กล่าวไปบ้างแล้วในประเด็นที่ 1 ว่าพระเจ้าอโศกทรงได้สิทธิแห่งความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์มาจากมติของสภาราชมนตรี ซึ่งในขณะนั้นคนส่วนใหญ่รวมทั้งเจ้าชายสุสิมะจะรับรู้มาว่าพระเจ้าพินทุสารทรงอยากให้เจ้าชายสุสิมะขึ้นครองราชย์ เป็นเหตุให้เมื่อเจ้าชายสุสิมะทรงทราบมติของสภาราชมนตรี ทำให้เกิดศึกชิงบัลลังก์กันขึ้น แน่นอนว่าพระเจ้าอโศกก็ทรงไม่ยอมแพ้ จึงเข้าทำการศึกครั้งนี้ด้วย เป็นเหตุให้พระเจ้าอโศกทรงสังหารพี่น้องต่างมารดาทุกพระองค์เพื่อกำจัดเสี้ยนหนาม รวมทั้งเจ้าชายสุสิมะด้วย หลังจากปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างราบคาบ พระองค์ก็ทรงพร้อมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถหาผู้ใดเทียบได้

ผมเองเห็นว่าพระราชประวัติในช่วงนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะอาจทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระองค์ทรงหันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากในภายหลัง หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงแต่งตั้งพระอัครมเหสีคือพระนางอสันธมิตตา แต่ไม่นานนักพระนางก็สิ้นพระชนม์ สี่ปีผ่านไปพระเจ้าอโศกทรงแต่งตั้งพระมเหสีองค์ใหม่คือพระนางติษยรักษิตา ในกาลต่อมาพระนางติษยรักษิตาเกิดไปลุ่มหลงพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกคือเจ้าชายกุณาละ แต่เจ้าชายกุณาละไม่ทรงเล่นด้วย ทำให้พระนางติษยรักษิตาโกรธแค้นเป็นอันมาก ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศกได้ส่งเจ้าชายกุณาละไปตักสิลา พระนางติษยรักษิตาได้ทำพระบรมราชโองการปลอมขึ้น โดยสั่งให้เจ้าชายกุณาละควักดวงตาทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นการลงโทษด้วยข้อหากบฏและเจ้าชายกุณาละก็ทำตามพระบรมราชโองการนั้น

ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศกทรงรู้ความจริง ทรงตั้งพระทัยที่จะลงโทษพระนางติษยรักษิตา แต่เจ้าชายกุณาละได้ทรงทัดทานไว้ ขณะนั้นเจ้าชายกุณาละได้บรรลุธรรม มีดวงตาเห็นธรรมจากภายใน จึงอภัยให้พระนางติษยรักษิตาไปแล้ว เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้พระเจ้าอโศกได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาครั้งแรกอย่างชัดเจนผ่านมาทางการตัดสินพระทัยเพื่อให้อภัยของเจ้าชายกุณาละ เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าถึงแม้ใครจะคิดร้ายหรือทำร้ายเรา แต่การให้อภัยและไม่ไปจองเวรจะทำให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการผูกพยาบาท ถึงแม้ในประวัติศาสตร์จะไม่กล่าวถึงความรู้สึกของพระองค์ต่อเหตุการณ์นี้มากนัก แต่เราก็พอทำนายได้ว่าพระองค์ได้ทรงเรียนรู้หลักคิดของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นหลักคิดที่ต่างจากหลักของการปกครองในปรัชญาฮินดูในสมัยนั้น เพียงแต่หลังจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงทำสงครามอยู่เรื่อยๆ (เพราะยังไม่สามารถละทิ้งภารกิจด้านการรบได้ด้วยเหตุผลหลายประการ) เมื่อรัชสมัยล่วงเข้าปีที่ 8 ทรงยกทัพไปทางใต้ยังเมืองกลิงคะ ทรงทำศึกใหญ่เพื่อที่จะเอาเมืองกลิงคะมาเป็นของพระองค์ ศึกครั้งนี้ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นทำให้เลือดนองแผ่นดิน เหตุการณ์นี้ทำให้พระองค์ทรงคิดวางมือจากสงครามและไม่อยากข้องแวะอีก ประกอบกับช่วงนั้น ทรงได้ฟังธรรมจากสามเณรนิโครธซึ่งเป็นพระหลานเธอในพระองค์ก็ทำให้พระองค์ทรงซาบซึ้งในรสพระธรรมมากยิ่งขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่