การค้นพบยาที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสโรค FIP ในแมว

ขออนุญาตเล่าเรื่องลูกชายคนเล็กก่อนนะครับ ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ชานม แมวส้ม อายุประมาณ 4 เดือน ลูกแมวจรที่ผมและแฟนเก็บมาเลี้ยง เนื่องจากมาป้วนเปี้ยนขอกินข้าว กินเสร็จก็หนีแอบหลบนอนอยู่ในแถวโรงรถของบ้านผมเป็นอาทิตย์ ตีซี้กันพอควร ขานมยอมเดินเข้าใกล้ และสุดท้ายประมาณหนึ่งอาทิตย์ก็จับได้ และเอาเข้ามาเลี้ยงภายในบ้าน ซึ่งวันแรก ๆ ในบ้าน ชานมตื่น เครียด กลัว และค่อนข้างที่จะอยากหนีเต็มที่ เกือบจะหลุดออกจากบ้านไปครั้งหนึ่ง ต้องพยายามตะล่อม และไล่จับกันจนผมและแฟนเหนื่อย และชานมก็คงเครียดพอควร

นาน ๆ เข้า ก็พอคุ้นเคยกันในบ้าน ก็เลยพาชานมไปตรวจเลือด ฉีดวัคซีน ที่คลีนิค ชานมตื่นกลัวมาก วิ่งหนีจนต้องตามไล่จับกันวุ่นวาย แต่ทุกอย่างก็ผ่านมาโดยดี

พออยู่มาเรื่อย ๆ ก็เข้ากับแมวตัวอื่นในบ้านได้ วิ่งเล่น ไล่กันสนุก ตามนิสัยของแมวเด็ก กินเยอะ ขับถ่ายได้ปกติ เหมือนกับมีความสุขดี และก็ติดแฟนผม วิ่งเข้าหา คลอเคลียตลอด

เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปด้วยดี ผมกับแฟนก็โล่งใจ

ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2558 ชานมเริ่มไม่เล่น นิ่ง เอาของเล่นมาล่อยังไงก็ไม่เล่น ตัวอุ่น ๆ เล็กน้อย กินน้อยลง และเหมือนท้องโตขึ้นนิดนึง
ผมกับแฟนพาชานมไปที่โรงพยาบาลสัตว์

คุณหมอจับตรวจเลือด ก็ปกติ มีค่าฮีมาโตรคิทต่ำนิดหน่อย ประมาณ 29 นอกนั้นไม่มีอะไร อุณหภูมิสูงเล็กน้อย และคลำที่ท้องเหมือนมีของเหลวเด้ง ๆ นิดหน่อย ไม่เยอะมาก แต่คุณหมอแนะนำให้ทำอัลตราซาวน์

ผลการอัลตราซาวน์ พบน้ำในช่องท้อง แต่ยังปริมาณไม่มาก คุณหมอเสนอให้เจาะออก เพื่อนำมาตรวจเช็คว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ โดยอธิบายว่ามีโอกาสเป็นไปหลายโรค และก็เอ่ยชื่อโรค FIP หรือโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบขึ้นมา

ความเป็นพ่อแมวแม่แมวมานานเราก็รู้ว่า FIP ไม่มีทางรักษา และเสียชีวิตไม่ช้าก็เร็ว ทำให้ผมและแฟนถึงกับจิตตกและพูดอะไรไม่ออก

ชานม แมวเด็ก 5 เดือน ก็ถูกเจาะหน้าท้องเพื่อเอาของเหลวออกมาโดยใช้การอัลตราซาวน์นำ ระหว่างการเจาะ ชานมร้องลั่นเป็นระยะ ๆ แฟนผมก็ทนไม่ได้ ร้องไห้ออกมา

ของเหลวในช่องท้องเจาะมาได้ประมาณ 10 ซีซี มีสีเหลือง ถูกนำไปตรวจสอบค่าโปรตีนในของเหลว และถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อทำ PCR เพื่อยืนยันโรค FIP

ผมกับแฟนก็ถามหมอจากประสบการณ์ของหมอ คุณหมอคิดว่ายังไง หมอก็ตอบกลับมาว่า ถ้าเป็นแมวเด็ก มีน้ำในช่องท้อง น้ำที่เจาะออกมีสีเหลือง และมีประวัติความเครียดจากการย้ายที่อยู่ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีโอกาสเป็น FIP สูง

ระหว่างที่รอผลประมาณ 5 วัน หมอให้ยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ และขอให้ป้อน Virbagen Omega dose 100,000  u ที่ผมใช้รักษาแมวอีกตัวที่เป็นโรคเหงือกอักเสบเรื้องรังอยู่ไปก่อน

จากวันนั้น ผมก็จึงได้เริ่มค้นหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับโรค FIP ผ่านทางอินเตอร์เนท และระบบรวบรวมบทความวิจัยที่ทำงานผมสามารถเข้าถึงได้
จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หาย มีแต่การรักษาแบบพยุงอาการ

มีงานวิจัยที่พัฒนามาเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรค FIP ที่เสนอโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น และนำมาใช้ในประเทศกลุ่มยุโรป คือการใช้ Virbagen Omega ปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการให้ยาสเตอรอยด์ที่ช่วยลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

โดยช่วงแรกให้ฉีด VIrbagen Omega 1 Mu/kg วันเว้นวัน พร้อมกับให้ยา  prednisolone  2 mg/kg วันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งอาการดีขึ้น มีของเหลวในช่องท้องลดลง จึงเริ่มให้ Virbagen Omega ห่างขึ้นเป็นอาทิตย์ละ 2 วัน และถ้าดีขึ้นอีกก็ใช้อาทิตย์ละครั้งไปเรื่อย ๆ

แต่ก็มีงานวิจัยตามออกมาเสนอว่าวิธีการข้างต้นไม่ได้ผล แต่วิธีการนี้ก็ยังถูกมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

คุณหมอโทรมาแจ้งผล PCR ว่า ชานมเป็นโรค FIP จริง ของเหลวที่เจาะออกมาได้มีโปรตีนสูง มีค่าอัลบูมินต่ำ

ผมกับแฟนไม่มีเวลามาจิตตกอีกแล้ว เราโทรหาคลีนิกรักษาสัตว์ถามราคายา Virbagen Omega เพิ่งจะเริ่มการรักษาตามวิธีการข้างต้น

Virbagen Omega หนึ่งขวด ขนาด 10 MU ชานมหนัก 3 กิโลกรัม 1 ขวด ฉีดได้ 3 ครั้ง

ผมโทรไปหาคลีนิกคุณหมอนันที่สุขุมวิท 47 ที่ผมพาแมวไปหาเป็นประจำ คุณหมอรับปากจะโทรถามเซลล์ขายยาให้ แต่คุณหมอนันมีเมตตามาก เสนอว่าของคุณหมอมีเหลือ แต่จะหมดอายุเดือนมกราคม 2559 อยู่ 2 ขวด คุณหมอคงไม่ได้ใช้ ถ้าใช้ทัน คุณหมอยินดีให้เราฟรี ผมแจ้งว่าทัน และเราไปก็รับยาจากคุณหมอนัน ต้องขอบคุณคุณหมอนันที่มีเมตตาต่อชานมเป็นอย่างยิ่ง

วันนั้น เราก็เริ่มต้นรักษาชานมด้วย Virbagen Omega พร้อมยากิน prednisolone และยาปฏิชีวนะตามวิธีการข้างต้น

ถึงวันนี้ ผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน อาการของชานมทรง ๆ ไม่ดีขึ้นมาก กินน้ำมาก กินข้าวเองยังพอได้บ้าง ผมกับแฟนต้องป้อน Royal Canin Recovery วันละ 2/3 กระป๋อง อาการซึมเหมือนเดิม กลายเป็นแมวคิดนาน เหมือนแมวแก่ และได้ไปเจาะเอาของเหลวออกอีก 1 ครั้งประมาณ 80 ซีซี และเมื่อเจาะออกไป ของเหลวใหม่ก็เริ่มสะสมในท้องชานมภายในเวลา 3-4 วัน ผมถือว่าอาการไม่ได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้แย่ลงไปมาก

ช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการรักษาโรค FIP นี้

พบว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค FIP เป็นตระกูล CORONA VIRUS แบบเดียวกับโรค SARS และโรค MERS ในคนซึ่งร้ายแรงมากและระบาดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาหลายหนทั่วโลก

การระบาดและความรุนแรงของโรค SARS และ MERS ที่ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการไวรัสตระกูลนี้ขึ้นมาจำนวนมากตั้งแต่ปี คศ. 2003 เป็นต้นมา และในงานวิจัยเหล่านั้นบางชิ้นก็ได้ศึกษาการจัดการเชื้อ FIP Virus ไปพร้อมกันกับไวรัสโรค SARS และ MERS

การวิจัยส่วนใหญ่เป็นการวิจัยระดับเซลล์ หมายความว่า นำเซลล์ของคนหรือสัตว์ แล้ว infect ด้วยไวรัส แล้วลองนำยาต้านไวรัสชนิดต่าง ๆ หรือยาสกัดจากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มาลองใช้กับเซลล์ที่ติดเชื้อ แล้วดูการยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสหลังจากให้ยา

ส่วนการศึกษาในตัวสัตว์ เท่าที่อ่านเจอยังเป็นการเสนอแบบ Case Studies ไม่ได้เป็นการวิจัยแบบ double-blind

ในปี คศ. 2006 มีการพบว่าสาร Pyridine N-oxide derivatives บางตัว ยับยั้งการเจริญเติบโตของ FIP Virus และ SARS Virus เป็นการศึกษาในระดับเซลล์
Pyridine N-oxide derivatives are inhibitory to the human SARS and feline infectious peritonitis coronavirus in cell culture (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16387746)

ในปี คศ. 2006 เช่นเดียวกัน พบว่า derivatives of glycopeptide antibiotics ยับยั้งการเจริญเติบโตของ FIP Virus และ SARS Virus เป็นการศึกษาในระดับเซลล์
Inhibition of feline (FIPV) and human (SARS) coronavirus by semisynthetic derivatives of glycopeptide antibiotics (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16675038)

ในปี คศ. 2012 พบว่า Peptide Heptad Repeat สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ FCoV (Corona Virus ก่อนที่จะกลายพันธ์เป็น FIP Virus) ในระดับเซลล์
Peptides Corresponding to the Predicted Heptad Repeat 2 Domain of the Feline Coronavirus Spike Protein Are Potent Inhibitors of Viral Infection (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3849439/)

ยาและสารที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสที่สามตัวไม่ได้มีขายทั่วไป เป็นสารเคมีที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ และยังไม่มีการนำมาทดลองใช้ในสัตว์หรือคน ทำให้จะต้องมีการทำวิจัยต่อในสัตว์หรือคน และผลิตเป็นยาออกมา ซึ่งคงใช้เวลาอีกนาน

แต่วันพุธที่ผ่านมา ผมได้พบงานวิจัยจากญี่ปุ่น ที่ได้มีการทดลองใช้ยา Cyclosporin A (หรือชื่อยาที่ใข้กับหมาแมวในไทย Atopica แก้เรื่องผิวหนังอักเสบ กล่องละ  15 เม็ด ๆ ละ 25 mg  ราคาไม่เกินกล่องละพันบาท) ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส FIPV เป็นประสบความสำเร็จในระดับเซลล์ และมีงานวิจัยอีกชิ้นจากกลุ่มวิจัยเดียวกันเป็น Case Study ที่นำ Atopica ไปใข้นำแมวที่คาดว่าเป็น FIP ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ FIPV ได้จริงในตัวแมว ไม่ใช่แค่ระดับเซลล์เท่านั้น

2012 Suppression of feline coronavirus replication in vitro by cyclosporin A (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22546085)

2015 Treatment of a case of feline infectious peritonitis with cyclosporin A (http://blogs.bmj.com/vetrecord/2015/06/01/treatment-of-a-case-of-feline-infectious-peritonitis-with-cyclosporin-a/)

(ผมมี Full Paper ของทั้งสองบทความ ท่านใดสนใจ แจ้ง email ไว้นะครับ)

คร่าว ๆ  ใข้ Atopica ใน dose ที่สูงกว่า dose ที่ใช้ในการรักษาผิวหนังอักเสบ ต่อเนื่องกัน 4-5 วัน ถ้าน้ำในช่องท้องลดลง ให้ลดปริมาณยาลงเรื่อย ๆ จนควบคุมการเพิ่มของน้ำในช่องท้องได้ ใน Full Paper มีรายละเอียดอยู่

แต่ Atopica เป็นยาลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีงานวิจัยบอกว่าถ้าใช้นานอาจติดเชื้อ ท็อกโซพลาโมซีสในสมอง และโรคอืน ๆ ได้

สุดท้าย ผมในฐานะพ่อแมวอยากจะส่งผ่านความรู้จากการวิจัยที่ผมได้พบเจอ หากท่านมีแมวที่ป่วยด้วยโรค FIP และอยากจะลองใช้ Atopica ผมขอเสนอให้เอา Full Paper 2 เรื่องนี้ไปในสัตวแพทย์ที่ดูแลแมวของท่านอยู่ให้แนะนำในการใช้ยา และข้อควรระวัง โปรดอย่าใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ

สำหรับชานม ผมได้ส่งบทความเหล่านี้ไปให้คุณหมอที่ดูแลชานมตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และขอให้คุณหมอช่วยอ่าน และเย็นนี้ ชานมมีนัดตรวจเลือดกับคุณหมอ และผมก็คงจะไปขอคำแนะนำจากคุณหมอในการใข้ยา Atopica กับชานม แล้วถ้ามีอะไรคืบหน้า จะ update เพิ่มเติมนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่