'ยูโซ' กองทุนเน็ตรากหญ้าหายไปไหน?


'ยูโซ' กองทุนเน็ตรากหญ้าหายไปไหน?
คม ชัด ลึก (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559


          ช่วงปลายปี 2558 "รัฐบาล คสช." จัด "บิ๊กแพ็กเกจ" ของขวัญปีใหม่ คืนความสุขให้ประชาชนเกือบ 200 โครงการ และหนึ่งในนั้นคือ โครงการโทรศัพท์ฟรีกับไวไฟฟรีเพื่อส่ง "คำอวยพรฟรี" ระหว่าง 30 ธันวาคม 2558-2 มกราคม 2559

          โครงการนี้คงใช้ได้เฉพาะกับผู้ที่อยู่ในตัวเมืองเท่านั้น แต่คนชายขอบหรือผู้อยู่ห่างไกลชุมชนเมืองที่ไม่มีสัญญาณมือถือหรือไม่มีไวไฟ ไม่มีโอกาสได้โทรศัพท์อวยพรหรือส่งข้อความอวยพรเหมือนคนอื่น...

          ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามผลักดันให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการโทรคมนาคม เช่นเดียวกับประเทศไทย ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2548 "กสทช." โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ประกาศหลักเกณฑ์และการจัดให้มีงบประมาณสำหรับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง หรือ "กองทุนบริการกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง"  เรียกสั้นๆ ว่า "กองทุนยูโซ" (Universal Service Obligation : USO) โดยมีเงินรายได้มาจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เข้าเกณฑ์ต้องชำระค่าธรรมเนียม ในอัตราร้อยละ 3.75

          หมายความว่า บริษัทได้รับการจัดสรรคลื่นไปทำธุรกิจ โทรศัพท์มือถือหรือเครือข่ายไอทีต่างๆ ต้องทำบัญชีแสดงรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายและนำมาจ่าย กสทช.ร้อยละ 3.75 เพื่อจัดเอาไปช่วยคนยากจนหรือหมู่บ้านทุรกันดารให้เข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต หรือเรียกกันว่า "กองทุนสำหรับเน็ตรากหญ้า"

          ขณะนี้ กองทุนยูโซ มีเงินให้เตรียมใช้แล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมามีแผนการทำงานแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
          ระยะที่ 1 ช่วงปี 2548-2551 จัดให้มีบริการโทรคมนาคมทางเสียง (Voice Service) เช่น ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ จัดบัตรโทรศัพท์สำหรับกลุ่มคนพิการ คนชรา คนมีรายได้น้อย ฯลฯ
          ระยะที่ 2 ช่วงปี 2552-2553 จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต (USONet or Tele-Center) เช่น ศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ฯลฯ
          ระยะที่ 3 ช่วงปี 2555-2559 ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มมีเงินรายได้ร้อยละ 3.75 จากผู้รับใบอนุญาตฯ จึงเป็นช่วงที่ริเริ่ม "โครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก" (OFC) เชื่อมโยงสัญญาณและอินเทอร์เน็ตจากศูนย์กลางไปยังตำบลต่างๆ ในระดับชุมชน สถานีอนามัย และโรงเรียนชายแดน เป้าหมายอย่างน้อย 2,500 แห่งทั่วประเทศ ผู้ได้ประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

          ปัจจุบันเม็ดเงินจากโครงการยูโซได้ดำเนินการไปในส่วนแรกรวมแล้วประมาณ 1,500 ล้าน ได้แก่ ศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน 520 แห่ง ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน 377 แห่ง และศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ 40 แห่ง

          ส่วนที่ 2 อีกประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับโครงการเพื่อผู้พิการ ได้แก่ โครงการบริการข้อมูลข่าวสารระบบเดซี่ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม (Daisy) สำหรับคนตาบอด เช่น ห้องสมุดหนังสือเสียง ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ 1414 ฯลฯ โครงการศูนย์ถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunications Relay Service) เป็นโครงการร่วมมือกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เน้นช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูดให้สามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เช่นคนปกติทั่วไป

          หากพิจารณาจากเงินที่จัดเก็บได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เงินจากโครงการยูโซใช้ไปเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น และยังไม่เข้าถึงเป้าหมาย "เน็ตรากหญ้า" ตามแผนที่ตั้งไว้ !?!

          "วเรศ บวรสิน" ผอ.สำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม อธิบายว่า ตั้งแต่ปี 2555 ผลการจัดเก็บในโครงการยูโซได้ไปแล้วประมาณ 23,216 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าสู่ยุค คสช.ทุกอย่างก็ต้องชะลอไว้ก่อน และวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 กระทรวงการคลังได้ขอยืมเงินจำนวน 14,300 ล้านบาท ไปใช้แทนเงินกู้บางส่วนสำหรับ "โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนเร่งด่วน"

          "ตอนนี้มีเงินคงเหลืออีกประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการขับเคลื่อนแผนการทำงานบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ทั่วถึง เพียงแต่ต้องรอว่า รัฐบาล คสช.จะอนุมัติให้เริ่มทำงานได้วันไหน" ผอ.วเรศ กล่าว

          ด้าน "รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์" ประธานเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนแห่งกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก แสดงความเห็นว่า งบประมาณที่กองทุนยูโซได้มานั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำไปสร้างสมดุลให้แก่กลุ่มผู้ยังเข้าไม่ถึงไอซีที ประเทศส่วนใหญ่จัดเก็บเงินส่วนนี้ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปจัดทำโครงการให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความรู้มีทักษะและเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน

          "เป็นการคืนกำไรสู่สังคม ตอนนี้สังคมเข้าสู่ยุคสื่อใหม่ที่ทุกคนใช้ประจำในชีวิตประจำวัน การบริการเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์มือถือ ไวไฟ อินเทอร์เน็ต ไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในคนเมืองหรือพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น แต่คนชนบท คนชรา คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ต้องมีโอกาสเข้าถึงด้วย

          ตอนนี้คนไทยไม่ค่อยรู้จักโครงการของยูโซ การบริหารจัดการเงินส่วนนี้ไม่ควรอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว หรือแค่ กสทช. แต่ควรให้ทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สถาบันการศึกษาฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ควรนำเงินมาใช้ทำโครงการที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและให้เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึงต่อคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด" ดร.กมลรัฐ กล่าวแนะนำทิ้งท้าย


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 1,2)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่