สมดุลแห่งพลัง ตอน 1

กระทู้สนทนา
การหัดกอล์ฟตอนอายุ 30 กว่า ๆ นี้เป็นเรื่องที่สาหัสเอาการ ความสามารถในการซ่อมแซมร่างกายมันตามซ่อมอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นไม่ทัน ด้วยจิตใจที่หนุ่มเกินอายุทำให้การซ้อมแต่ละครั้งนี้ไม่มีต่ำกว่า 6 ถาด (3 ถาด 100) บางครั้งจัดไป 9 หรือ 12 ถาด และแน่นอนครับหลายครั้งลงเอยด้วยการบาดเจ็บ ผมยังโชคดีอย่างที่ยังไม่เจออาการบาดเจ็บแบบรุนแรง (หนักสุดก็พังผืดรัดข้อมือซ้ายอย่างที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้) แต่อาการที่เจอบ่อยสุดคือ อาการหลังตึง (ถึงแม้บางครั้งจะทำเนียนแกล้งหูตึง เวลาแฟนบอกให้เลิกซ้อม ฮ่า) คำว่าหลังตึงนี้หมายถึงตึงครับไม่ใช่เจ็บ คนละอาการกันนะครับ ถ้าจะให้อธิบายก็ลองนึกถึงว่าผมก้มลงไปผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ แล้วไม่ได้นาน ๆ เป็นทีนะครับ เป็นอยู่บ่อยครั้ง และแน่นอนว่าจบลงด้วยการไปพบคุณหมอ

การไปพบคุณหมอเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก เรียกว่าไปจนจำประโยคที่คุณหมอบอกอาการได้ ประมาณเจอหน้าคุณหมอนี้ไม่ต้องบอกอาการเยอะ ท่องเป็นประโยคได้เลยว่า "กล้ามเนื้อหดรั้งจากการใช้งานหนัก" (เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายให้หยุดการใช้งานก่อนจะบาดเจ็บ) แรก ๆ ก็ใช้การกินยา แก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อ หลัง ๆ เริ่มมาเป็นการทำกายภาพด้วยคลื่นอัลตร้าซาวน์ เรียกว่าซิวมาก ในการไปเจอหมอทำกายภาพ และก็ไม่รู้ทำไมหมอทำกายภาพส่วนใหญ่มักจะหน้าตาดี (ฮ่า) จะเปลี่ยนเป็นคนไหนก็เจอแต่แบบน่ารักจนแอบสงสัยว่าทำไมเวลาหมดไวจัง

ผลจากการไปบ่อยจนสนิทกับหมอกายภาพก็เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น ก็ได้ความรู้ว่าปกติเวลาเราไปนวดแผนไทย เรามักจะชอบหมอที่กดหนัก ๆ เรียกว่านวดหนักคือนวดดี ก็เข้าใจอย่างนี้มาตลอด จนมาได้ความรู้ใหม่ว่าจริง ๆ แล้ว การนวดหนักจะยิ่งทำให้เรายิ่งเมื่อยมากขึ้น สาเหตุคือการกดลงไปยังกล้ามเนื้อหนักจะไปสร้างความเสียหายให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดแผลลึก ๆ ในกล้ามเนื้อ และเมื่อกล้ามเนื้อซ่อมแซมตัวเองก็จะไปสร้างแผลเป็นแข็ง ๆ ในชั้นกล้ามเนื้อ พอกล้ามเนื้อไม่เรียงกันเป็นระเบียบก็จะเสียความยืดหยุ่น และจับติดกันเป็นก้อนจนขาดความยืดหยุ่น ก็จะเมื่อยง่ายเข้าไปอีก

จนมาวันหนึ่งผมได้มีคำถามไปว่า ไอ้อาการที่ผมมาหาหมอบ่อย ๆ นี้ภาษาการแพทย์เค้าเรียกว่าอะไรครับ คุณหมอดีใจให้คำตอบมาสั้น ๆ ว่า "Muscle Imbalance" …


ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ (muscle imbalance) คือ ความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างเคียงให้มีกล้ามเนื้อบางส่วนมาทำงานแทน (compensatation) Richardson ได้ให้คำนิยามของภาวะ muscle imbalance ไว้ว่า " ปัญหาเฉพาะของการทำงานของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เกี่ยวข้องกับการขาดความสามารถในการควบคุม หรือการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อรอบๆข้อต่อหรือบริเวณโครงสร้างนั้นๆ" (Richardson.,1992)

Source: http://charliephysio.blogspot.com/2014/10/5.html

ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อมักจะใช้พูดถึงในศาสตร์ด้านกายภาพ แต่ถ้าเราจะมาพูดในภาษากอล์ฟละความไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อคืออะไร และสมดุลแห่งพลังคืออะไร เรามาหาคำตอบกันครับ

ถ้าจะให้พูดถึงความสมดุลของกล้ามเนื้อกอล์ฟ เราสามารถมองได้ 2 แกน คือ

    - แกนแนวนอน โดยลากเส้นสมมุติขนานพื้นโดยให้จุดกึ่งกลางอยู่กลางลำตัว แบ่งออกเป็นร่างกายซีกซ้ายและซีกขวา
    - แกนแนวตั้ง โดยแบ่งร่างกายออกเป็นส่วน ๆ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทย่อยของการเคลื่อนไหว ได้แก่ การเคลื่อนที่ และความมั่นคง  (Mobility vs. Stability) ซึ่งผมจะมาพูดถึงอีกทีโดยละเอียด

เรามาพิจารณาในแกนที่ง่ายที่สุดก่อน นั่นคือแกนแนวนอน หรือการแบ่งร่างกายออกเป็น ซีกซ้ายและซีกขวา เราจะเห็นได้ทันทีว่าร่างกายของเราไม่มีความสมดุลอย่างแท้จริง นั่นคือแทบไม่มี หรือถ้ามีก็น้อยมากที่ เราจะถนัดการใช้งานร่างกายทั้งสองข้าง หรือถ้ามีก็ต้องเป็นการฝึกฝนอย่างหนักเป็นพิเศษ เช่น นักฟุตบอลที่เล่นได้ทั้งสองเท้า (ถึงอย่างไรก็ย่อมมีข้างที่ถนัดกว่าเสมอ) หรือแม้แต่ตาข้างถนัด (eye dominant) ที่มีคนโพสถามในกระทู้เมื่อเร็ว ๆ มานี้ ความถนัดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวงสวิง ทั้งในแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว อยู่ตลอดเวลา ดังที่ Dr. Greg Rose พูดถึงมันในคำว่า "The Body Swing Connection" ซึ่งเป็นคำที่ผมชอบมาก เพราะมันพูดถึงความสัมพันธ์ของร่างกายที่เชื่อมโยงกับวงสวิงที่เกิดขึ้น

ถึงตรงนี้ เรามี 2 ประเด็นที่จะพูดถึงคือ
    - ความสมดุลของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับวงสวิง ในแบบที่รับรู้ได้ และแบบถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้
    - ความสมดุลของร่างกายที่ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บ

ในประเด็นแรก ความสมดุลของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับวงสวิง ในแบบที่รับรู้ได้ เช่น แขนและมือข้างถนัด พวกนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้และมองเห็นได้ ผมได้รับคำถามจากนักกอล์ฟเสมอ ๆ ว่า สำหรับนักกอล์ฟถนัดขวา แรงบีบของข้อมือด้านไหนที่มีมากกว่ากัน?

ผมให้ลองทายกันเล่น ๆ ดูครับ














คำตอบคือ สำหรับคนถนัดขวา ในระดับ PGA Tour โดยเฉลี่ยจะแรงบีบของข้อมือซ้าย (Lead side) มากกว่ามือขวา (Trail Side) โดยวัดการตัว Dynamometer (หรือเครื่องวัดแรงบีบ) โดยวัดแรงบีบได้ถึง 50 Kg เป็นอย่างน้อย ในขณะที่ชีวิตประจำวันและการออกกำลังกายส่วนใหญ่เราทำด้วยมือขวา และนี้คือตัวอย่างความสมดุลที่ผมหยิบมาพูดถึง

และยังมีอีกตัวที่ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้ เช่น ตาข้างที่ถนัด มนุษย์เรามีตาสองข้างจริงแต่เราจะมีตาข้างถนัดอยู่หนึ่งข้าง และตาข้างที่ว่าจะเป็นตัวหลักในการใช้งาน ซึ่งถ้าอยู่ข้างเดียวกับมือข้างถนัดก็จะเรียกว่าพวกคนส่วนใหญ่ (Same side dominant) แต่ถ้าตาข้างถนัดอยู่คนละฝั่งกับมือข้างถนัดก็จะเป็นพวกส่วนน้อย (Cross side dominant) พวกนี้เป็นพวกน่าอิจฉา (ผมเป็นพวกคนส่วนใหญ่) เพราะนักกอล์ฟระดับตำนานอย่างปู่แจ็ค หรือ ไทเกอร์ เป็นพวก Cross side dominante ครับ การทำการทุกอย่างในวงสวิงกอล์ฟมีส่วนสัมพันธ์กับ Eye dominant ทั้งหมด เช่น การเล็ง, การ address ball ทั้งในการทำ Full swing จนถึงการ Putt พวกนี้สัมพันธ์กันหมด เช่น นักกอล์ฟที่มี Same side dominant มักจะเล็งเปิดไปทางขวามากกว่า Cross side dominant

หรือแม้แต่กำลังการเพ็งที่ไม่เท่ากับของสายตาทั้งสองข้าง ก่อให้เกิดตำแหน่งภาพที่ใกล้เกินความเป็นจริง (Esophoria) จนตีท๊อปได้ง่ายกว่า กับอีกด้านของการเห็นภาพที่ไกลเกินความเป็นจริง (Exophoria) ที่ทำให้เกิดการตีขุดได้บ่อยครั้ง

อีกตัวที่เราไม่มีทางมองเห็นได้เลยก็คือกล้ามเนื้อชั้นใน ถ้ายังจำได้ผมได้พูดถึง กล้ามเนื้อตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Glute Maximus ที่เป็น King ของวงสวิง อันนั้นก็เป็นอีกตัวที่เกี่ยวพันกับเรื่องสมดุลซีกซ้าย-ขวา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กล้ามเนื้อกลูเตียล

กล้ามเนื้อกลูเตียล หรือ กล้ามเนื้อสะโพก (อังกฤษ: gluteal muscle) เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่มารวมตัวกันกลายเป็นส่วนกล้ามเนื้อก้นหรือกล้ามเนื้อสะโพกของมนุษย์ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 3 มัด ได้แก่ กลูเตียสมินิมัส (gluteus minimus), กลูเตียสมีเดียส (gluteus medius) และ กลูเตียสแม็กซิมัส (gluteus maximus)

กล้ามเนื้อกลูเตียลเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีความสำคัญมากในการงอและเหยียดข้อสะโพก (hip joint) โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของมัดกล้ามเนื้อย่อยทั้งสามมัด

การบริหารกล้ามเนื้อในส่วนนี้จะช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของแนวแกนกระดูกสันหลัง

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5



กล้ามเนื้อ Glute ก็มีการแยกออกเป็นสองส่วนเช่นเดียวกันคือ ซีกซ้ายและซีกขวา และจะมีการไขว้แบบทแยงขึ้นไปยังกล้ามเนื้ออีกตัวคือ Latissimus dorsi muscle (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า LAT) ความสมดุลกันทั้งซีกซ้ายและซีกขวาและการไขว้กันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างพลัง โดยพิจารณาจากรูปประกอบ จะเห็นภาพบนเป็นกล้ามเนื้อมีความสมดุลกันทั้งสองด้าน และภาพล่างแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลกันระหว่างกล้ามเนี้อซีกซ้ายและซีกขวาที่ส่งผลกระกบต่อไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ
           อ้างอิง http://ppantip.com/topic/33601858/comment3-1

ความสมดุลของพลังมีนัยยะสำคัญโดยตรงกับวงสวิงและพลังที่เกิดขึ้น ภายใต้กฏธรรมชาติดังต่อไปนี้

    - ไม่มีความสมดุลอย่างแท้จริง ในทุก ๆ ส่วนของร่างกายเรา มีแค่ใกล้เคียงหรือแตกต่างกันน้อยที่สุด เช่น มือข้างถนัด ตาข้างถนัด ขาข้างถนัด และอื่น ๆ
    
    - ความสมดุลของร่างกายเป็นตัวกำหนดการกระทำและความเคลื่อนไหว เช่น คนที่ถนัดขวาเวลาวิ่งมีแนวโน้มที่จะลงน้ำหนักเข้าข้างขวามากกว่าข้างซ้าย, คนถนัดขวาย่อมมีแนวโน้มที่จะตีกอล์ฟโดยใช้แรงบีบจากมือขวามากกว่าข้างซ้าย, คนถนัดตาขวาย่อมใช้ตาข้างขวาในการเล็งลูกกอล์ฟมากกว่าใช้ตาข้างซ้าย
    
    - การกระทำซ้ำ ๆ ด้วยด้านใดด้านหนึ่งโดยเป็นเวลานานทำให้เกิดความชำนาญ และจะค่อย ๆ ลดการใช้งานอีกด้านไปโดยอัตโนมัติ
    
    - อาการบาดเจ็บเกิดจากการทำซ้ำ ๆ (ทั้งการทำซ้ำที่ผิด และการทำซ้ำที่ถูก) แสดงว่า อาการบาดเจ็บย่อมเกิดกับด้านที่ถนัด หรือร่างกายส่วนที่แข็งแรงกว่า ซะเป็นส่วนใหญ่
    
ถ้าย้อนกลับมาดูสาเหตุที่ผมหลังตึงด้านขวา แสดงให้เห็นว่าร่างกายผมแข็งแรงเพียงแค่ด้านเดียว คือด้านถนัดนั่นก็คือด้านขวา และเป็นไปตามกฏธรรมชาติ คือ ความสมดุลกำหนดการเคลื่อนไหวให้ใช้เพียงร่างกายซีกขวา และทำซ้ำ ๆ จนเกิดความถนัดจนเลิกใช้ร่างกายซีกซ้ายไปโดยไม่รู้ตัว และทำซ้ำ ๆ จนเกิดอาการบาดเจ็บ

ดังนั้นสมดุลคือคีย์เวิรด์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวงสวิงกอล์ฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น

    - การเล็งด้วยตาข้างถนัด ส่งผลต่อตำแหน่งลูกที่ตำแหน่งเดียวกันแต่การรับรู้ที่เกิดขึ้นต่างกัน บางคนอาจมองเห็นว่าอยู่ใกล้เท้าขวามาก บางคนกลับรู้สึกว่าอยู่ใกล้เท้าซ้ายไป ทั้ง ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน หรือการเล็งเส้นทางพัตต์ที่เปิดไปทางขวามากเกินไป
          อ้างอิง http://ppantip.com/topic/33716409/comment20

    - แรงบีบของมือ ด้านที่ไม่ถนัด (Lead side) ด้วยวิธีการออกกำลังกาย ความถนัดและการฝึกซ้อม
    - แรงผลัก (Push) ของ Glute ด้านขวาที่มีแรงมากกว่าแรงดึง (Pull) ของ Glute ด้านซ้าย
           อ้างอิง http://ppantip.com/topic/33601858/comment8

    - ประสิทธิภาพของแรงที่สร้างได้ไม่สุด เพราะใช้กล้ามเนื้อเพียงด้านเดียว (ด้านไหนไม่ใช่ก็จะค่อย ๆ ลดบทบาทลง)

การฝึกฝนและการเสริมสร้างร่างกาย ก็ควรที่จะพิจารณาให้มีความสมดุลอย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่