ชี้แจงให้หายข้องใจ อาการบาดเจ็บของโปรเม เอรียา จุฑานุกาล โดยหมอโอลิมปิคส์ของไทย ผ่านทาง Swing Golf Thailand

9 วันหลังจากตัดสินใจถอนตัวระหว่างการแข่งขันรอบที่สามในศึกโอลิมปิก เกมส์ที่บราซิล เนื่องจากอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าซ้าย เอรียา จุฑานุกาล โปรมือสองของโลกขวัญใจชาวไทย สลัดอาการบาดเจ็บคว้าแชมป์แอลพีจีเอ ทัวร์รายการที่ 5 จากศึกแคนาเดียน แปซิฟิก วีเมนส์ โอเพ่นที่แคนาดา กลายเป็นความสำเร็จที่ทำให้ทุกคนรู้สึกโล่งอกที่อาการบาดเจ็บในครั้งนี้ไม่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเส้นทางนักกอล์ฟอาชีพของเธอในระยะยาว

ย้อนกลับไป โปรเม รู้สึกได้ถึงอาการปวดที่บริเวณเข่าซ้ายขณะยืนซ้อมพัตต์หลังจบการแข่งขันรอบที่สองในริโอ เกมส์ 2016 ซึ่งเธอตีเข้ามาอีเวนพาร์ สกอร์รวมอยู่ที่ 6 อันเดอร์พาร์ รั้งอันดับ 8 ร่วมโดยตามหลังตำแหน่งเหรียญทองแดง 2 สโตรก ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอุลตร้าซาวด์และนวดคลายกล้ามเนื้อโดยทีมแพทย์ของโอลิมปิกส์ไทยที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านนักกีฬาจนรู้สึกว่าอาการดีขึ้น

เช้าวันที่ 19 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น โปรเม ลงฝึกซ้อมและพร้อมลงแข่งขันในรอบที่สาม แต่กลับเริ่มรู้สึกถึงอาการปวดที่บริเวณหัวเข่าซ้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลงสนามจนไม่สามารถสวิงได้อย่างปกติ ส่งผลให้คุมเกมไม่อยู่และเสียสกอร์แทบจะตลอดทุกหลุม ก่อนขอถอนตัวเมื่อเล่นไปได้ 13 หลุม ตีเกินไปวันเดียว 14 โอเวอร์พาร์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.อ.น.พ.ปรเมษฐ์ ลัดพลี กรรมาธิการและเลขานุการฝ่ายแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬาในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ให้การรักษาโปรเมระหว่างการแข่งขันที่บราซิล เปิดเผยว่า “สิ่งที่ทีมแพทย์ให้การรักษาไปก่อนหน้านี้ (หลังจบวันที่สอง) อาจทำให้เธอหายปวดลดลงในทันที แต่พอกลับที่พักไปนอน กล้ามเนื้อจุดที่มีปัญหาก็กลับไปตึงอีก ทีนี้เมื่อถึงเวลาแข่งขัน พอกลับไปเดิน กล้ามเนื้อส่วนที่มีปัญหาก็รัดตึงขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกเจ็บปวดอีกครั้งและสวิงไม่ได้ ส่งผลให้ศักยภาพลดลง พละกำลังไม่มี แถมเจ็บปวดอีกต่างหาก เรียกว่าความสามารถเหลือแค่ 50% ถ้าเป็นกีฬาอื่นคงง่าย เพราะสามารถเอากล้ามเนื้อส่วนอื่นมาช่วย แต่กอล์ฟต้องใช้กล้ามเนื้อทุกจุดเพื่อเอาหน้าไม้เล็กๆ มาปะทะลูก จึงถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการเล่นกอล์ฟให้ได้เต็มศักยภาพ”

ความอ่อนล้าของร่างกายและการออกแรงกล้ามเนื้อแบบผิดปกติ อาทิเช่น ก้าวขาเดินลงบังเกอร์ หรือเนินชัน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อรัดหรือขมวดกันซึ่งเป็นกลไกป้องกันตัวเองของร่างกาย ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลต่อกระดูกและข้อ ทำให้มีอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อตามมา

“พอปวดบริเวณใกล้ข้อ ทำให้เหมือนกับอาการของคนปวดข้อ แต่ความจริงแล้วมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อโดยรอบมากกว่า เป็นกลไกเตือนให้เราไม่ใช้มัน หากยังใช้งานก็จะปวดมากขึ้นๆ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการใช้งานมาก การทำอะไรซ้ำๆ อย่างเดินนาน นั่งนาน เป็นสาเหตุได้หมด หรือใช้งานกล้ามเนื้อขาอย่างหนักมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา อยู่ที่ว่ามันจะทนไหวถึงเมื่อไหร่” แพทย์ที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าว

“บทที่มันจะเจ็บ ใครไม่เป็นไม่รู้หรอกว่ามันทรมานแค่ไหน เธอสามารถเดินได้ 10 กว่าหลุมถือว่าได้พยายามอดทนอย่างมากแล้ว อาการตึงของกล้ามเนื้อมันหนักขึ้นๆ ถึงขนาดทำให้ข้อเข่าบวม ถ้าเป็นคนอื่นไม่แน่อาจจะถอนตัวตั้งแต่หลุม 1 แล้วก็ได้ ต้องนับถือน้ำใจและการตัดสินใจของเธอ”

ทั้งนี้ เอรียา ตัดสินใจให้ พ.อ.น.พ.ปรเมษฐ์ หรือคุณหมอป้อง ทำการรักษาด้วยการใช้เข็มคลายกล้ามเนื้อในช่วงเย็นหลังจากถอนตัวจากการแข่งขันทันที เป็นแนวทางการรักษาที่เจ็บปวด แต่ได้ผลเร็ว อาจส่งผลให้เกิดอาการระบมใน 1-2 วันแรก แต่วันที่ 3 จะเริ่มดีขึ้นและสามารถฝึกซ้อมได้ตามปกติ

“เท่าที่คุณวิน (ผู้จัดการส่วนตัวของ เอรียา) เล่าให้ฟัง อาการเริ่มเป็นตอนก้าวขาลงบังเกอร์ ไม่ได้ล้มหรือมีอุบัติเหตุกระแทกรุนแรง บ่งชี้ว่าเป็นอาการจากกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อเข่า เมื่อทราบสาเหตุและวินิจฉัยปัญหาได้ตรง ทำให้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง และสามารถหายได้ในเวลาอันสั้น”พ.อ.น.พ.ปรเมษฐ์ ประสาทศัลยแพทย์ รพ. พระมงกุฏเกล้า และ รพ. กรุงเทพ กล่าว

“บาดเจ็บลักษณะนี้ไม่มีผลในระยะยาว เป็นเรื่องการตึงของกล้ามเนื้อ เป็นการเกิดขึ้นที่สามารถแก้ไขได้จนหายเป็นปกติ แต่ก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ถ้าการวอร์มอัพและคูลดาวน์ไม่พอ หรือใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินกว่าที่มันจะทนไหว ใช้โดยขาดการเตรียมพร้อม ดังนั้นต้องพยายามทำกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้แข็งแรงเป็นพิเศษ”



อาการบาดเจ็บของโปรเมถือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพียงแค่เธอโชคร้ายที่เรื่องแบบนี้มาเกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาสำคัญแบบ 4 ปีมีหนเดียวอย่างโอลิมปิก เกมส์ ตลอดจนถือเป็นความหวังสุดท้ายของทัพนักกีฬาไทยที่จะคว้าเหรียญเพิ่มในริโอ เกมส์ 2016 ทว่ามองอีกแง่หนึ่งต้องขอบคุณอาการบาดเจ็บในครั้งนี้ ทำให้เธอมองเห็นกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย และระมัดระวังตัวเองเพื่ออนาคตที่ยังอีกยาวไกลกับความสำเร็จในการเล่นกอล์ฟอาชีพ

“เมต้องพยายามทำร่างกายในส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้แข็งแรงขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ไม่ใช่ทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้เลย ช่วงแรกต้องเน้นไปที่จุดที่มีปัญหา จากนั้นถึงเสริมไปทั้งตัว ที่สำคัญคือการมีวินัยในการบริหารร่างกาย นักกอล์ฟอาชีพอาจมีความเร่งรีบต้องเดินทางและมีแมตช์แข่งขันต่อในทุกสัปดาห์ ทุกคนมีวินัยในการฝึกซ้อมและจัดการชีวิตดีมาก อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการมีวินัยในการดูแลตัวเอง”พ.อ.น.พ.ปรเมษฐ์ คุณหมอผู้มีความรักในเกมกอล์ฟ กล่าวทิ้งท้าย
#SwingGolfThailand #Rio2016 #AriyaJutanugarn

เกี่ยวกับ พ.อ.น.พ.ปรเมษฐ์ ลัดพลี
ตำแหน่งปัจจุบัน:
- ประสาทศัลยแพทย์ รพ. พระมงกุฏเกล้า และ รพ. กรุงเทพ
- กรรมาธิการและเลขานุการฝ่ายแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬาในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- แพทย์ที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย

เครดิต: Swing Golf Thailand  
http://www.swinggolfthailand.com/news-2/inside-lpga/%e0%b8%ad%e0%b8%b8%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b9%82%e0%b8%ad%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%aa%e0%b9%8c/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่