" ทำยังไงให้หายคิดถึง" CR: นิ้วกลม

ดอกไม้ทำไงให้หายคิดถึง
---
คำถาม : เวลาคิดถึงใครมากๆ ควรทำยังไงเพื่อให้หายคิดถึงคะ (การที่เราจะลืมคนที่เราผูกพันและรู้สึกดีๆ ด้วย ควรทำยังไงดีคะ เพราะไม่อยากคิดถึง)
คำตอบ : จากคำถาม พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็นความคิดถึงประเภทที่ไปไม่ถึงใช่ไหมครับ เพราะไม่อย่างนั้นคงไลน์ไป โทรไป หรือเฟซไทม์ไปคุยด้วยให้หายคิดถึงแล้ว

                 ผมชอบความคิดถึงนะครับ ผมว่าความคิดถึงเหมือนแผ่นดีวีดีที่เราสามารถหยิบขึ้นมาดูได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสม ความคิดถึงก็เหมือนหนัง มีทั้งสุขและทุกข์ สนุกและซึ้งคละเคล้ากันอยู่ในก้อนความคิดถึงนั้น เพราะเป็นเช่นนั้นมันจึงมีเสน่ห์ แต่เมื่อมันเป็นอย่างนั้น จึงมีพลังดึงดูดให้เราตกลงไปในห้วงแห่งความคิดถึงได้ และเร้าอารมณ์เราได้ไม่ต่างจากหนังดีๆ เลยทีเดียว ที่สำคัญ มัน "based on true story" ซะด้วย ส่วนตัวผมจึงคิดว่าเราอาจไม่จำเป็นต้อง "กำจัด" ความคิดถึง แต่คงต้อง "จำกัด" มัน ให้อยู่ในพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม ให้มันรู้กาลเทศะนั่นเอง ความต่างของความคิดถึงกับดีวีดีอยู่ตรงนี้แหละครับ เราเลือกหยิบความคิดถึงขึ้นมากดปุ่ม play ไม่ได้ตามใจต้องการ มันมาของมันเอง แถมพอจะกด stop มันก็ไม่ยอมหยุดง่ายๆ เสียด้วย
...
ทีนี้จะ "จำกัด" ความคิดถึงยังไงดี เม่าเศร้า

                เราคงต้อง "ตีเส้น" ให้ความคิดถึงมั้งครับ และอุปกรณ์กำหนดอาณาเขตของความคิดถึงที่เป็นไปไม่ได้น่าจะเป็น "ความจริง"
สิ่งที่ทำให้ความคิดถึงลุกลามใหญ่โตคือจินตนาการที่มีวัตถุดิบจากความรู้สึกดีในอดีต หรือไม่ก็ความเพ้อฝันในอนาคต หวังว่าสิ่งดีๆ จะกลับมา หวังว่าอนาคตจะดีกว่าวันนี้ แต่ทันทีที่เราเอา "ความจริงตอนนี้" ราดรดลงไป ไฟความคิดถึงจะดับมอดลงไปไม่น้อย เราห้ามความคิดถึงไม่ได้ แต่เราเอาน้ำเย็นๆ ของ "ความจริง" ราดใส่มันได้ทุกครั้งที่มันผุดขึ้นมา หากทำได้ ความคิดถึงจะไม่งอกเงยเป็นจินตนาการ แต่มันจะเป็นเหมือนแผ่นบันทึกภาพทรงจำในอดีตแบบไม่ปรุงแต่งฟูมฟาย เหมือนไฟล์วิดีโอที่ถูกอัดไว้ โดยไม่ทำ CG หรือรีทัชแต่งเติม กำหนดอาณาเขตให้มันไม่วิ่งเล่นเพ่นพ่านมากนัก เราก็จะใช้เวลากับมันน้อยลง ให้ความคิดถึงไม่มาก่อกวนเวลาการงานการเรียนจนเกินพอดี การตั้งเป้า "จำกัด" น่าจะทำได้จริงมากกว่า "กำจัด" ให้หายไปเลย แหม คนเรารู้สึกดีต่อกันขนาดนี้ จะให้ไม่คิดถึงกันเลยคงเป็นไปไม่ได้นะครับ
...
                 กระนั้น ในห้วงยามอื่นที่เราสามารถใช้เวลากับความคิดถึงได้เต็มที่ เช่น ช่วงว่างหรือยามค่ำ ผมว่าเราสามารถดื่มด่ำกับความสุขจากการคิดถึงได้นะครับ มีความสุขที่ได้ฉายภาพช่วงเวลาที่ผูกพันกัน รู้สึกดีๆ ต่อกัน จมดิ่งไปกับความรู้สึกนั้นได้นานๆ แรงบันดาลใจนี้อาจทำให้เราอยากเขียนจดหมาย เขียนบทกวี เล่นดนตรี แต่งเพลง วาดภาพ และสร้างสรรค์งานศิลปะเก็บไว้ ด้วยความงามในความหม่นเศร้าของห้วงอารมณ์นี้ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธอารมณ์โศกเศร้าแต่สวยงามนี้ แค่รับรู้ว่าอาณาเขตของความรู้สึกนี้อยู่ตรงไหน ตอนไหน เรารู้กันกับความรู้สึกของตัวเอง ความคิดถึงเป็นอารมณ์ที่เป็นบวกนะครับ แต่การพยายามที่จะทำให้ความคิดถึงเป็นความจริงต่างหากที่จะนำมาซึ่งอารมณ์ลบ คำว่า "แค่คิดถึง" จึงกำลังดี จึงคิดว่าเราอาจไม่ต้องพยายาม "หายคิดถึง" แต่ต้องไม่ลากเส้นต่อจากความคิดถึงไปถึงอารมณ์อื่น เช่น ความอยากเป็นเจ้าของ ความอยากแก้ตัว ความเสียดาย ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้ต่างหากที่เราอยากให้หายไป ไม่ใช่ความคิดถึงเสียหน่อย

                ใครกันจะอยากให้ความคิดถึงหายไป ชีวิตหนึ่งจะมีคนที่ทำให้เราคิดถึงได้สักกี่คนกัน เก็บความทรงจำดีๆ เอาไว้ replay เป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ดีมิใช่หรือ ขอให้คิดถึงอย่างมีความสุขครับ

Cr: นิ้วกลม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่