(บทความ..นายพระรอง) ประชาธิปไตยปลอมๆในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศที่ว่าตามหัวกะทู้นั้น คือประเทศพม่า

       วันก่อน ผมได้มีโอกาสอ่านรัฐธรรมนูญพม่าฉบับ 2008 ที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต http://www.burmalibrary.org/docs5/Myanmar_Constitution-2008-en.pdf  รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับที่ใช้จัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อช่วงที่เพิ่งผ่านมา ทำให้อดไม่ได้ที่จะลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านดูสักครั้ง แม้ตัวผู้เขียนจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ชำนาญนัก แต่ก็ให้ลูกสาวซึ่งมีทักษะและชำนาญมากกว่า มาช่วยแปลซ้ำอีกทีเพื่อยืนยันความเข้าใจของผมให้ถูกต้อง แม้จะลำบากในการทำความเข้าใจวัตถุดิบในการเขียนบทความชิ้นนี้สักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าเขียนเรื่องการเมืองในประเทศเราตรงๆตามที่ผมคิด เพราะก็คงหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายได้เพียงวิธีเดียว คือไม่เขียน ไม่แสดงความเห็น

       และขอชี้แจงทำความเข้าใจก่อนสักนิดกับท่านผู้ที่เข้ามาอ่านว่า ผมจะไม่ลงรายละเอียดรายมาตรา เพราะนั้นจะทำให้เนื้อหากะทู้ยาวเกินไป แต่ผมจะใช้วิธีสรุปถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงประเด็นสำคัญๆของรัฐธรรมนูญพม่าให้อยู่ในเนื้อหาของบทความชิ้นนี้แทน

เข้าเรื่องกันเลยครับ
       พม่าในช่วงปฏิรูปประชาธิปไตย โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการเลือกตั้งทั่วไปซ่อนนัยยะสำคัญไว้ ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เราสมควรพิจารณาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้

       ประชาธิปไตยในพม่าที่คล้ายกำลังเบ่งบานอยู่ในขณะนี้ ผ่านการออกแบบโดยมีรากฐานและแนวคิดมาจากการที่ พม่าเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และในบริบทของสังคมพม่านั้นมีหลายหลากชาติพันธุ์ราวๆ ร้อยกว่าชาติพันธุ์ (จำแนกตามภาษาพูดต่างกันไปถึงกว่า 100 สำเนียง) ซึ่งมีรอยแยกร้าวลึกมาจากอดีตและแหลมคม ดังนั้นโจทย์การดีไซน์ของต่างชาติจึงบีบบังคับให้คนวงในฐานอำนาจ "คนพม่า" ต้องประสานให้ชาติพันธุ์พม่าแท้ๆ(ที่มีประมาณ60%ของจำนวนประชากรทั้งหมด)กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆให้เป็นเอกภาพมากยิ่งกว่าแต่ก่อน ที่ไม่มีซึ่งความร่วมมือ

       รัฐธรรมนูญฉบับบนี้เกิดขึ้นเพราะต่างชาติพยายามเข้ามาแทรกแซง ทั้งจากโลกตะวันตกและประเทศข้างเคียงรอบด้านที่แตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และมีความขัดแย้งกันมาในประวัติศาสตร์ (ประเทศของเราเองก็เคยให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เพื่อใช้เป็นกันชนตามแนวชายแดน) การแทรกแซงจากโลกตะวันตกที่ต้องการให้พม่าเปิดประทศ ซึ่งจากเป้าหมายหลักก็คือต้องการให้พม่า ร้อยกว่าชาติพันธุ์อยู่กันด้วยสันติ ยุติและเลิกใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน

       แต่การเข้ามากดดันของต่างชาติ ทำให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหารของพม่าให้ความสำคัญกับการครองอำนาจของตัวเอง มากกว่าจะประสานรอยร้าวของความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของคนในชาติ การออกแบบประชาธิปไตยของพม่าเมื่อปี 2008 ที่ดูคล้ายสวยงามและเบ่งบานเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว หาได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก คือลดความขัดแย้งของทั้ง ร้อยกว่าชาติพันธุ์ไม่ แม้ว่าฝ่ายของนาง อองซาน ซูจี ที่มีท่าทีที่ดีในการแก้ไขปัญหาด้านนี้จะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งก็ตาม

       เพราะตลอดช่วงปี 2505-2531 พม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยม ซึ่งส่งต่อการออกแบบรัฐในปัจจุบันอย่างมาก จนเงื่อนไขเรื่องการประสานความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยที่กล่าวมาข้างต้น จึงตกไปเป็นประเด็นประกอบประชาธิปไตยในพม่าเท่านั้น

       นักวิชาการไทย อย่างนาย ดุลยภาค ปรีชารัช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้คำจำกัดความประชาธิปไตยในพม่ารอบใหม่นี้ว่าเป็น "รัฐประชาธิปไตยอำนาจ นิยมกึ่งสหพันธ์ใต้เงาองครักษ์" กล่าวคือ เป็นประชาธิปไตยในแง่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกตั้ง ยังเป็นอำนาจนิยม ยังมีวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า กองทัพยังมีบทบาทสูงที่สุดอยู่ดี

       เพราะสหพันธรัฐ เป็นคำที่มีการพูดถึงกันมากในพม่า ที่มีการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค แต่ยังไม่ใช่สหพันธรัฐที่แท้จริงคนพม่าเองก็รู้ดี ยังเป็นลักษณะกึ่งสหพันธรัฐ ภายใต้เงาขององครักษ์ คือโครงสร้างสถาบันการเมืองมีทหารแทรกอยู่ ทุกอย่างต้องอยู่ในร่องในรอย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้กองทัพกลับมาได้ตลอดเวลา หากการเมืองประชาธิปไตยมีปัญหาหรือมีท่าทีไปต่อไม่ไหว

       การออกแบบรัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ แต่ต้องควบคุมความมั่นคในอำนาจการปกครองนั้น ผู้ครองอำนาจทางทหารจึงวางยุทธศาสตร์ไว้ 2 ประการ คือ

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
คือ อุดมการณ์แห่งชาติ 3 ประการ ได้แก่ สหภาพต้องไม่แตกแยก ไม่ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ อธิปไตยต้องมั่นคง ซึ่งการลดความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยอยู่ในยุทธศาสตร์นี้

2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เพื่อเป็นแรงชักจูงต่างชาติให้มาลงทุน เหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในภูมิภาคนี้

แต่หากพิจารณาใน2ยุทธศาสตร์ให้ดี จะเห็นได้ว่า
ข้อ1 นั้นรัฐบาลทหารพม่ายอมให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเอง ในระบอบที่ตัวเองตีกรอบไว้ให้เท่านั้น และก็เป็นตัวแทนแต่เพียงในนาม ไม่มีอำนาจพอที่จะดำเนินนโยบายใดๆได้เลย

ข้อ2 นั้นเป็นการปรับภาพลักษณ์ให้ประเทศพม่าดูน่าลงทุนเพียงลมปากเท่า การพัฒนาจริงๆจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ รัฐบาลใหม่มีรายได้เพียงพอต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนา แต่ในตอนนี้ ฐานะความน่าเชื่อถือทางการคลังของพม่าแทบเป็นศูนย์ในสายตาโลก เพราะปิดประเทศมาร่วมสามสิบปี ดังนั้นการพัฒนาที่ว่าตามยุทธศาสตร์นั้นจะเกิดได้จริงก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปีเป็นอย่างต่ำ

       และสุดท้ายเมื่อนำยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาประเทศผสมผสานกับเรื่องความมั่นคงนั้น ส่งผลให้เกิดระบอบการเมืองใหม่ที่ออกแบบมา ที่อาจเรียกให้เหมาะสมกับสภาพหลังการเลือกตั้งของพม่าได้ว่า ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมกึ่งสหพันธ์ใต้เงาองครักษ์

       การออกแบบรัฐในพม่า แม้ตรวจสอบจากสถาบันของรัฐได้ แต่ทุกโครงสร้างอนุญาตให้ทหารเข้าไปมีบทบาท พูดง่ายๆก็คือ ควบคุมทุกขั้นตอนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจสูงถึงขนาดสั่งการ และยับยั้งในทุกการดำเนินการของรัฐบาลเลยทีเดียว มีอำนาจเหนือกว่าประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียอีก

       ผู้กุมอำนาจทางทหารพม่าประณีตในการออกแบบรัฐมาก จะเห็นได้จากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เป็นองค์กรบริหารราชการทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน เปรียบเหมือนเป็นกล่องดวงใจของสถาปัตยกรรมประชาธิปไตยของพม่า

       ประกอบด้วย สมาชิกประมาณ 10 คน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) รองผู้บัญชาการสูงสุด และเจ้ากระทรวงบางกระทรวง และตัวประธานาธิบดี มีหน้าที่ตัดสินใจ และกำหนดนโยบายสาธารณะที่สำคัญ เช่น นโยบายด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจมหภาค

       กรณีที่ประเทศอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน สภากลาโหมฯ มีหน้าที่บอกรัฐบาลว่าควรประกาศภาวะฉุกเฉิน สภาจะแต่งตั้งผบ.สส.ให้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองในยามไม่ปกติ และอนุมัติเวลาให้ผบ.สส.ทำงานเพื่อทำให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ หากระยะเวลาดังกล่าว ไม่เพียงพอ สภาอาจจะพิจาณาเพิ่มเวลาให้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ อนุญาตให้เกิดการรัฐประหารได้ตลอดเวลานั่นเอง

       ซึ่งสุดท้าย เหตุผลในการร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญของพม่าเมื่อ ปี 2008 ที่อ้างการแบ่งปันอำนาจกับประชาชน ก็เป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายทหารพม่า ที่อยากจะดูดีขึ้นในสายตาต่างชาติเพื่อดึงดูดการลงทุนเพียงเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว อำนาจการปกครองในพม่าก็ยังไม่เปลี่ยนมือ แม้ว่า นางอองซาน ซูจีจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งก็ตาม และอาจจะได้เป็นประธานาธิบดี คนต่อไปของพม่า

แต่ก็เป็นเพียงประธานาธิบดีเพียงแค่นาม ในระบอบประชาธิปไตยปลอมๆเท่านั้นแหละ

       แต่ผู้เขียนไม่มีความเสียใจให้กับประชาชนพม่าหรอกนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่สงสารคนกว่าร้อยชาติพันธุ์ที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการเขียนรัฐธรรมนูญ(ทำเหมือน) ในประชาธิปไตย(ปลอมๆ)ของพม่าหรอกนะครับ เพราะรู้ดีว่ามันยากที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ตราบใดที่ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิมีเสียงดังกว่าด้วยการมีปืน และอีกฝ่ายมีเพียงสิทธิเสียงผ่านปากกา ทำเช่นไรก็ไม่มีทางมีประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรอก

เปรียบเสมือนผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ ผลไม้นั้นย่อมมีพิษด้วย (The fruit of a poisonous tree doctrine)

ถ้าถามว่าเราเรียนรู้เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านไปทำไม แม้จะอยู่ใกล้เคียงกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเขาไม่เกี่ยวกับเรา
ก็ต้องต้องตอบว่า คนฉลาด-จะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
คนฉลาดกว่า-เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองและของคนอื่น
แต่คนฉลาดที่สุด-มักจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น และระมัดระวังตัวเองไม่ให้ผิดพลาดเหมือนอย่างเขา

...แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่มักผิดพลาดซ้ำ 2 ในเรื่องเดิม คนกลุ่มนี้เรียกว่า"คนโง่" ที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากความผิดพลาดของตัวเอง...
แล้วคุณอยากจะเป็นคนแบบไหนกันล่ะ??



ป.ล.ขอคุยกับท่านที่เข้ามาอ่านสักหน่อยว่า ตัวผู้เขียนเองเป็นคนที่ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจและกลั่นกรองเขียนออกมาเป็นบทความในแต่ล่ะครั้ง ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร อย่างบทความชิ้นนี้ ตั้งใจจะเขียนตั้งแต่ตอนหลังการเลือกตั้งในพม่าใหม่ๆ แต่จนแล้วจนรอดก็เพิ่งจะเขียนเสร็จเอง เสียเวลาไปมากกับการแปล และการเช็คซ้ำเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่ตัวผู้เขียนจะกระทำได้

ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากให้ท่านผู้อ่านให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระหลายร้อยบรรทัดที่ผู้เขียน บรรจงเขียนอย่างตั้งใจ มากกว่าข้อความไร้ประโยชน์ไม่กี่บรรทัดของพวกที่ต้องการเบี่ยงเบนประเด็น หรือลดความน่าเชื่อถือของกะทู้ จากพวกเข้ามาป่วน เพราะถ้าท่านผู้อ่านทำอย่างนั้นเหมือนการลงทุนลงแรงรวบรวมข้อมูลของผมเหมือนจะสูญเปล่า

แต่ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณนของผู้อ่านทุกท่านนะครับ นี้เป็นเพียงทัศนะความเห็นของตัวผู้เขียนก็เท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ
นายพระรอง

*ยาวอีกแล้ว แต่ก็ยืนยันได้ว่า นี้คือนายพระรองตัวจริงครับ
หากเจอกะทู้ไหน ผมเขียนบทความสั้นๆ สัญนิฐานไว้ก่อนเลยนะครับ ว่า ไอ้นั้น...ตัวปลอม
(ไม่เหลืออมยิ้มแล้ว ก็ต้องเล่นแบบนี้ยืนยันตัวตนกันล่ะครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่