###ข้อมูลข่าวสหกรณ์ฯคลองจั่นเตรียมฟ้อง “วัดธรรมกาย” เรียกเงินคืนอีก 600 ล้าน###

ข้อมูล

http://thaipublica.org/2015/12/credit-unions-klongchan_76/

--------
นายประกิต พิลังกาสา ประธานผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า สหกรณ์ได้รับเช็คจากกองทุนลงขันของลูกศิษย์วัดพระธรรมกายครบถ้วนตามที่ได้ไกล่เกลี่ยในศาล 684.78 ล้านบาท โดยงวดสุดท้ายจ่ายเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท แต่หลังการฟ้องร้อง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบพบว่ามีเช็คบริจาคเพิ่มเติมอีกประมาณ 600 ล้านบาท ทำให้ยอดรวมบริจาคแก่กลุ่มวัดพระธรรมกาย 1,260 ล้านบาท แต่ขณะนี้ทางสหกรณ์ฯ คลองจั่นยังไม่มีข้อมูลเช็คที่ดีเอสไอระบุ ดังนั้น หลังจากที่บรรดาเจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 สหกรณ์ฯ คลองจั่นจะประสานกับดีเอสไอเพื่อขอตรวจสอบหลักฐานเช็คที่พบเพิ่ม และดำเนินขั้นตอนขอเงินคืนเช่นเดิม คือฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกทรัพย์คืนหากเจรจาเบื้องต้นไม่สำเร็จ โดยยืนยันว่าจะไม่เป็นสิทธิที่กระทำได้ และไม่เกี่ยวกับสัญญาที่เคยทำกับวัดก่อนหน้านี้ว่า “จะไม่เอาความทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง” เพราะเป็นเงินคนละก้อน อีกทั้งไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาของอัยการและดีเอสไอ

สำหรับความคืบหน้าคดีแพ่งกับลูกหนี้นิติบุคคลอื่นๆ ที่ผ่านมาเจรจากันอย่างต่อเนื่องจนมีความคืบหน้า เช่น บริษัทมงคลเศรษฐีเอสเตท บริษัทของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ซึ่งมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นผู้ก่อตั้ง ตกลงชำระหนี้กว่า 289 ล้านบาท โดยยอมให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นไถ่ถอนที่ดินใกล้วัดพระธรรมกายที่นำมาจำนอง ขณะนี้ขายได้แล้ว 4 แปลง มูลค่า 157 ล้านบาท

แผนฟื้นฟู “สหกรณ์ฯ คลองจั่น” ยังไม่มีขอแก้ไข

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้เสนอร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงรายเดียว คือร่างแก้ไขของคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่ยังต้องรอดูไปถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับคือวันที่ 17 ธันวาคม 2558 หรือ 3 วันก่อนการประชุมลงมติโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ

“ที่ผ่านมามีเจ้าหนี้ยื่นค้านร่างแผนฟื้นฟูพอสมควร โดยส่วนใหญ่คัดค้านในประเด็นเดียวกัน คือต้องการให้สมาชิกผู้ถือหุ้นได้สิทธิรับชำระหนี้เช่นเดียวกับเงินฝาก ซึ่งทางกรมก็ชี้แจงว่า ตามกฎหมายผู้ถือหุ้นนั้นคือเจ้าของร่วมไม่ใช่เจ้าหนี้ จึงยกทุกคำร้องของเจ้าหนี้ทุกรายเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย”

นางสาวรื่นฤดีกล่าวอีกว่า ในระเบียบปกติของการฟื้นฟูกิจการ หากมีผู้ต้องการแก้ไขแผน จะต้องทำสำเนาส่งให้เจ้าหนี้ทุกรายพิจารณาก่อนวันโหวตแผน แต่กรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นมีเจ้าหนี้มากกว่า 18,000 ราย ทำให้ยุ่งยาก จึงอนุโลมให้ผู้เสนอแก้ไขนำเสนอรายละเอียดต่อเจ้าหนี้และโหวตแผนแก้ไขในวาระแรกของการประชุมได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องส่งร่างแก้ไขให้กรมบังคับคดี และสหกรณ์ภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้เช่นเดิม

ส่วนนายประกิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนยื่นแก้ไขกับกรมบังคับคดีมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยแผนการบริหารเงินยังคงเดิมทุกประการ รวมทั้งแผนชำระหนี้ที่วางไว้สูงสุด 26 ปี แต่ส่วนที่เปลี่ยนคือ โยกย้ายกลุ่มเจ้าหนี้ที่ดำเนินการผิดพลาดราว 50 คนซึ่งทำให้กลุ่มนี้ได้รับชำระหนี้ในห้วงเวลาที่ต่างจากเดิม นอกจากนี้ยังขยายความข้อความให้ชัดเจนขึ้น เช่น เรื่องการคุ้มครองมูลค่าหุ้น ซึ่งมีสมาชิกลงเงินไว้มากกว่า 5,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่าหุ้นยังมีมูลค่าราคา 10 บาทเท่าเดิม ตราบใดที่ยังไม่ลาออกในช่วงฟื้นฟูกิจการ และสมาชิกยังมีสิทธิได้รับเงินปันผล หากสหกรณ์มีกำไร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่