ความคืบหน้ากรณีสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นฯ นายเผด็จเผยวัดธรรมกายจะคืนเงินให้ 500 ล้านบาท จากที่บริจาคกว่า 900 ล้านบาท

อ้างอิง
http://thaipublica.org/2014/07/credit-unions-klongchan-36/

------


22 กรกฎาคม 2014

เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2557 รอ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมใหญ่ คสช. ครั้งที่ 7/2557 ว่า คณะ คสช. ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้”นิติบุคคลอื่น” เป็นลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ พ.ศ. …

จากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งประสบปัญหาการดำเนินการและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก สมควรที่จะดำเนินการให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฟื้นฟูกิจการได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายนี้เป็นการกำหนดให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นลูกหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย ทำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสามารถยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกและเจ้าหนี้อื่นที่นำเงินมาฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น สหกรณ์อื่น ให้ไม่ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ จะส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป

โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดใหม่ที่นำโดยนายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินการเข้ามาบริหาร ได้มีการประชุมบรรดาเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นผู้ฝากเงินรายย่อย รายใหญ่ และสหกรณ์ต่างๆ เพื่อขอมติฟื้นฟูกิจการในเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา จากนั้นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้ยื่นแผนต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 และศาลนัดสหกรณ์คลองจั่นเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงการฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ซึ่งการยื่นขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนั้นเพื่อขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนคดีสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ที่ฟ้องให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นล้มละลาย

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินการเปิดเผยว่าสาเหตุที่ต้องให้มีร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ “นิติบุคคลอื่น” เป็นลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ พ.ศ. … นั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลายที่มีอยู่ครอบคลุมนิติบุคคลเท่านั้น ไม่ได้รวม “สหกรณ์” อยู่ จึงไม่สามารถที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายได้ ดังนั้นกฎกระทรวงนี้ทำให้สหกรณ์สามารถขอฟื้นฟูกิจการได้แล้ว กระบวนการต่อจากนี้ต้องส่งกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ถ้าประกาศใช้แล้วสหกรณ์ก็จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางทันที เพราะขณะนี้แผนฟื้นฟูเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และกรมส่งเสริมสหกรณ์

“15 เดือนที่ผมเข้าทำงาน ได้ดำเนินการจนมีความคืบหน้าในเรื่อง 1. เพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ “สหกรณ์” สามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ 2. ทำแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจนเสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะยื่นขอฟื้นฟูต่อศาล 3. ดำเนินการฟ้องร้องกับบรรดาลูกหนี้สมทบมูลหนี้จำนวน 13,000 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องในคดีต่างๆ อาทิ คดีวัดธรรมกายที่ฟ้องในนามสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น การฟ้องขอทรัพย์คืนจาก ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ยึดมาจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร โดยคดีที่ดำเนินการฟ้องร้องนี้ ตามขั้นตอนอาจจะช้า แต่เราได้ดำเนินการเพื่อเอาคืนกลับมาให้สมาชิก”นายเผด็จกล่าว

นอกจากนี้ นายเผด็จกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่คืบหน้าเป็นเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่จริงใจในการแก้ปัญหา รวมทั้งคดีต่างๆที่หน่วยของรัฐที่เข้ามาดำเนินการเป็นเวลา 15 เดือนแล้ว คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ประกอบกับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ทำให้การแก้ไขปัญหาหลงทาง

“การแก้ปัญหาล่าช้า ยิ่งนาน ความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ก็ลดลง ไม่มีใครอยากจะช่วยเหลือ และการที่จะให้รัฐมาช่วยเหลือก็เป็นเรื่องยากเพราะเป็นเงินภาษีประชาชน ตอนนี้แม้จะมีการเจรจากับธนาคารออมสินเพื่อขอกู้เงิน แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐต้องค้ำประกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องยาก ตอนนี้ทราบว่าทางวัดธรรมกายจะคืนเงินให้ 500 ล้านบาท จากที่บริจาคไปกว่า 900 ล้านบาท และมีบางคดีเริ่มมีการเจรจาขอจ่ายเงินคืน” นายเผด็จกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่