กัมพูชา บูชากรรม ตอนที่ 12

อารัมภบท
ข้อมูลนี้เป็นการนำเอาเรื่องราวของความขัดเเย้งในการเมืองประเทศกัมพูชาและนำเสนอข้อมูลทางทหาร โดยมิได้มีเจตนาเพื่อการปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความแตกแยกใดใด

ตอนที่ 15 เลือดเน่า เผาแผ่นดินเขมร

กัมพูชา ในปีพุทธศักราช 2519 ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์เขมรแดง ซึ่งถูกควบคุมขับเคลื่อนด้วยระบบกลไกขององค์กรสูงสุด โดยกลุ่มอดีตนักศึกษาปัญญาชนจากกรุงปารีส ซึ่งนำโดย
พี่ชายหมายเลข 1 พล พต เลขาธิการทั่วไปของพรรค
พี่ชายหมายเลข 2 นวน เจีย ประธานสภาตัวแทนประชาชนกัมพูชา
พี่ชายหมายเลข 3 เอียง ซารี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พี่ชายหมายเลข 4 เคียว สัมพัน ประธานสภาเปรซิเดียมและประมุขรัฐของกัมพูชาประชาธิปไตย
พี่ชายหมายเลข 5 นายพล ตา มก หรือ ชิต เชือน ผู้นำกองทัพเขมรแดง และกลุ่มรัฐมนตรีอื่นๆ เช่น ซอน เซน,วอน เวต,เอียง สารี ต่างเป็นคณะผู้ปกครองหลัก เคียว พอนนารี ภรรยาของพล พตเป็นผู้นำของสมาคมสตรีประชาธิปไตยเขมร และน้องสาวคือเคียว ธิริทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม ยุน ยัต ภรรยาของซอน เซนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษา หลาน ๆ ของพล พตทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหลายคน ลูกสาวของเอียง ซารีเป็นประธานโรงพยาบาลแม้จะไม่จบชั้นมัธยมศึกษา หลานของเอียง ซารีเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุพนมเปญแม้จะรู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก และสมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ ได้แก่ กองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงจากครอบครัวชาวนาในชนบท ทั้งหมดนี้คือกลไกขับเคลื่อนระบอบใหม่ โดยการจัดตั้งองกรค์สูงสุดหรือ อังการ์เลิง สำหรับนำมาใช้เพื่ออำพรางตนเองจากการรับรู้ของชาวกัมพูชารวมไปถึงสมาชิกระดับล่างของพรรค ทั้งนี้กลุ่มคอมมิวนิสต์เขมรแดงยังได้บัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า "กัมพูชาประชาธิปไตย" เมื่อ 5 มกราคม 2519 ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ระบุสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีความเสมอภาคกัน และจะไม่มีคนว่างงานในกัมพูชาประชาธิปไตย จากตัวบทกฎหมายนี้ ยังผลให้ประชาชนพลเมืองทั้งชายหญิงในทุกๆวัย ถูกส่งไปใช้แรงงานด้านเกษตรกรรมในที่กันดารทั่วกัมพูชา และต้องทำงานเป็นเวลา 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 9 วันติด ใครทำงานช้าหรืออิด ๆ ออด ๆ หรือคุยสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องราวเก่าๆในยุคของระบบเก่าจะถูกลงโทษอย่างหนัก ในส่วนวันที่ 10 ต้องมานั่งฟังการอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ และผลจากกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่มีใครได้พักผ่อนเลย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกใช้แรงงานอย่างหนัก คือ กลุ่มของเด็ก หญิงมีครรภ์ที่พึ่งคลอด และคนชราเจ็บป่วย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นบุคคลที่ให้แรงงานได้น้อย จึงง่ายต่อการถูกจับสังหาร โดยวิธีการส่วนมากคือ ตีด้วยโคนจอบหรือไม้หน้าสาม หรือ ใช้ก้านตาลคมๆปาดคอ

(ภาพนี้อาจจะดูยากหน่อย แต่คงไม่ยากเกินจะจินตนาการนะครับ ก้านตาลคมๆ โคนจอบหนักๆ)

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ในส่วนของหญิงมีครรภ์ซึ่งได้คลอดบุตรแล้ว ทารกแรกเกิดจะถูกจับแยกออกจากผู้เป็นแม่ โดยผู้เป็นแม่มีเวลาให้พักฟื้นร่างกายเพียง 2-3วันเท่านั้น ส่วนทารกน้อยจะถูกรวบสองขาแล้วตีเข้ากับโคนต้นไม้ ฟาดเปรี้ยง ! แล้วโยนลงหลุมซึ่งขุดรอไว้อยู่แล้ว ในส่วนของผู้ที่ถูกจับได้ว่าแอบนำเมล็ดข้าวซุกซ่อนไว้ตามเสื้อผ้าตนเอง หรือ แม้แต่ผู้ที่แอบกินเนื้อศพ ก็จะถูกลงโทษอย่างหนักด้วยการจับมัดมือเท้ากับเสาไม้ แล้วฝังกลบเพียงหัวไว้กับหลุมดินร้อนๆกลางทุ่งนาในลักษณะหัวทิ่มลงพื้นแล้วปล่อยให้ขาดใจตายไปเอง และอีกหลายวิธีการที่โหดเหี้ยมทารุณ พื้นดินภายในประเทศกัมพูชา ณ เวลานั้นจึงเต็มไปด้วยหลุมขนาดใหญ่ผุดขึ้นเต็มสวน ทุ่งนา หรือ ตามโคนต้นไม้ซึ่งแออัดไปด้วยซากศพชาวเขมร ที่คอยส่งกลิ่นเน่าตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ ในขณะที่กลิ่นของซากศพยังคงลอยตลบอบอวลไปทั่วทุ่งนา ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเองที่เสียงร้องคราง แหกปาก ตะโกน โหยหวล ยังคงดังระงมไปทั่วอาคารเรือนจำ กลิ่นคาวและคราบเลือดเน่าปนน้ำเหลืองมนุษย์ ยังคงติดแน่นที่พื้นปูมันลายตารางหมากรุกที่ดูออกสีเหลืองหม่นๆ กิจกรรมสุดหฤโหดภายในคุกนรกแห่งนี้ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากเช้าจรดเย็น จากเย็นค่ำสู่รุ่งเช้า เลือดเน่าๆของชาวกัมพูชาได้ไหลท่วมเผาแผ่นดินเขมรไปอยู่ทุกคืนวัน ในความคิดคำนึงของเหยื่อ .....คงไม่มีใครแล้วที่จะหยุดพวกสัตว์นรกเหล่านี้ได้.....
        กัมพูชา ในปีพุทธศักราช 2520 ระหว่างที่เขมรแดงยังคงเรืองอำนาจเหนือกัมพูชาอยู่นั้น ผู้นำเขมรแดงหลายคนมีความฝันที่จะรื้อฟื้นจักรวรรดิเขมร ซึ่งเคยรุ่งสมัยเมื่อพันปีก่อนโน้น จึงได้ส่งกองกำลังเข้าครอบครองดินแดนบางส่วนของไทยและเวียดนาม ซึ่งในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2520 นี้เอง ได้มีการปะทะกันระหว่างทหารเขมรแดงกับทหารเวียดนามอยู่เป็นประจำ โดยเหตุปะทะนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทหารกัมพูชาได้โจมตีทหารเวียดนามบนเกาะฟู้โกว๊ก และ เกาะโถเจา และยังส่งกำลังล้ำเขตเข้าไปในจังหวัดตามแนวชายแดนเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง ทหารเวียดนามจึงส่งกำลังเข้าโจมตีกัมพูชาที่เกาะปูโลไวและยึดเกาะดังกล่าวไว้เพื่อเป็นการตอบโต้ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวพรมแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ทหารเขมรแดงได้ส่งกำลังเข้ากวาดล้างผู้คนเขมรที่มีเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้พรมแดนพิพาทดังกล่าวด้วย ส่งผลให้ชาวเวียดนามและชาวเขมรเชื้อเวียดจำนวนมากได้อพยพหนีตายออกจากกัมพูชา ทั้งนี้ทางเขมรแดงได้ติดต่อกับเวียดนามเหนือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 เรื่อยมาเพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนและข้อตกลงให้เวียดนามยอมรับกัมพูชาในฐานะประเทศเอกราช แต่เนื่องจากเวียดนาม ถือว่าเขมรแดงเป็นเพียงพรรคคอมมิวนิสต์สาขาหนึ่งของตน และมิใช่คอมมิวนิสต์โดยเนื้อแท้ ดังนั้น ฝ่ายเวียดนามจึงไม่ยินยอมตกลงรับเงื่อนไขดังกล่าว อีกทั้งฝ่ายเวียดนามเองยังไม่ยอมถอนทหาร ออกจากบริเวณที่เขมรแดงถือว่าล้ำเข้ามาในดินแดนกัมพูชา ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเริ่มส่อเค้ารุนแรงขึ้นอีกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2519 เมื่อทางเวียดนามได้ประกาศรวมชาติอินโดจีน และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับลาว เพื่อเป็นการชี้นำให้เขมรแดงยอมร่วมทำตาม ในขณะที่เจ้าสีหนุทรงเล็งเห็นถึงภัยร้ายอันมีต่อราชวงศ์ จึงสละตำแหน่งประมุขของรัฐและลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วง มกราคม ปีพ.ศ. 2519
       ภายหลังจากการสู้รบกันบ่อยครั้งตามแนวชายแดนเวียดนาม พล พต จึงได้ประกาศถึงการมีอยู่ขององค์กรและพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นความลับอย่างยิ่งยวด จากนั้น พล พต จะเดินทางไปเยือนจีน เพื่อร่วมนโยบายต่อต้านเวียดนาม ทั้งนี้พล พต ยังได้กล่าวย้ำว่า พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้จัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2503 และไม่เกี่ยวข้องใดๆกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจากแถลงการณ์นี้สร้างความแค้นเคืองต่อทางการเวียดนามเป็นอย่างมาก ต่อมา ในช่วงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2520 ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแย่ลงอย่างมาก เมื่อกองทัพเขมรแดงได้บุกโจมตีหมู่บ้านตินห์เบียว ในจังหวัดอันยางของเวียดนาม ทางการเวียดนามจึงโต้ตอบด้วยการส่งเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดในกัมพูชา เขมรแดงจึงบุกโจมตีจังหวัดไตบินห์ และ จังหวัดฮาเตียน เพื่อเป็นการโต้ตอบคืนอีกครั้งในเดือนกันยายน นอกจากนั้น กองกำลังเขมรแดงยังเข้าโจมตีตามแนวชายแดนลาว และโจมตีหมู่บ้านในบริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดปราจีนบุรี อีกหลายครั้ง โดยพฤติกรรมอันอุกอาจ และหยามเกียรติอธิปไตยของไทยเราที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 โดยกองกำลังเขมรแดง ได้ข้ามพรมแดนมาปล้นสะดมที่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ อำเภออรัญประเทศ โดยกองกำลังเขมรเข้าโจมตีบ้านหนองดอก่อน จากนั้นจึงโจมตีบ้านกกค้อที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่บ้านหนองดอ มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ ที่บ้านกกค้อ มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ กองกำลังเขมรที่เข้าโจมตีที่บ้านน้อยป่าไร่ ซึ่งกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ เกิดการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 ศพคือ จ.ส.ต. ภิรมย์ แก้ววรรณา ในที่สุดกองกำลังฝ่ายเขมรได้ล่าถอยไป และต่อมาเกิดเหตุอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2520 กองกำลังกัมพูชาข้ามแดนเข้ามาโจมตีที่บ้านสันรอจะงันและบ้านสะแหง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีการปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนและทหารไทย โดย พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตรเป็นผู้นำทหารไทยในการผลักดันกองกำลังกัมพูชาออกไปได้

(ตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ล้างบางที่อรัญฯ)

        ในเวลาใกล้เคียงกัน หมู่บ้านตามแนวชายแดนในเวียดนามถูกโจมตีอย่างหนัก ทำให้เวียดนามหันมาโจมตีทางอากาศต่อกัมพูชาอีกครั้ง เพื้อเป็นการสั่งสอน ส่งผลให้ชาวบ้านทั้งเวียดนามและกัมพูชา ที่อาศัยอยู่บริเวณตามแนวชายแดนเสียชีวิตกว่า 1,000 คน จากนั้นทางการเวียดนามจึงส่งทหารราว 20,000 นาย เข้ามาต่อต้านการโจมตีของเขมรแดง โดยวางกำลังประชิดชายแดนกัมพูชาไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเขมรแดงกับเวียดนามเลวร้ายลงอย่างมาก เพราะเขมรแดงมีท่าทีต้องการทำสงคราม และจีนยังคอยให้การสนับสนุนฝ่ายเขมรแดง โดยเวียดนามและโซเวียตมองว่าจีนมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อตน กองทัพเวียดนามจึงส่งกำลังทหารเข้าประชิดชายแดนกัมพูชาเพิ่ม อีก80,000 นาย เพื่อพยายามบีบให้รัฐบาลกัมพูชายอมเจรจาแต่โดยดี

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่