ทร. ส่งอากาศยาน-เรือรบ ไล่ล่าเรือประมงเวียดนาม ลอบจับปลาน่านน้ำไทย

กระทู้ข่าว


ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งอากาศยาน และเรือรบลาดตระเวน ไล่ล่าเรือประมงเวียดนามลักลอบจับปลาในเขตน่านน้ำไทย พบมีจำนวนนับสิบลำ จัดการนำเข้าฝั่งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายไทยตอบสนองกฎเหล็ก ไอยูยู ทางด้านทิศใต้ของเกาะกูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ประมาณ 50 ไมล์ทะเล...

เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 12 ธ.ค.58 พล.ร.ท.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 1 (ศรชล.เขต 1) ได้สั่งการให้ หมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 (มวบ.ทรภ.1) เข้าตรวจสอบเรือประมงเวียดนามลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย โดยมี น.ท.ศานิต จงรักษ์ นักบินที่ 1 พร้อมด้วย น.ท.ปกรณ์ แก้วช่วง ผบ.ฝูงบิน 101 กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ เป็นผู้ควบคุมอากาศยานเครื่องบินลาดตระเวน แบบที่ 1 ดอร์เนียร์ 228 หมายเลขประจำเครื่อง 1112 พร้อมด้วยเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงท้ายเหมือง และเรือตรวจการณ์ 217 (ต.217) เข้าลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ ณ บริเวณ แลตติจูด 10 องศา 54 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 102 องศา 14 ลิปดาตะวันออก อยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะกูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ประมาณ 50 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการบินลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ ประมาณ 3 ชม. รัศมีประมาณ 20 ไมล์ทะเล พบเรือประมงติดธงสัญลักษณ์เวียดนาม นับ 10 ลำ ลักลอบทำการประมงในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ทำการมาร์กจุดที่พบและแจ้งให้เรือรบหลวงที่ร่วมปฏิบัติการเข้าตรวจสอบพิสูจน์ทราบเพื่อจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายไทยต่อไป



ทร.ส่งอากาศยาน ไล่ล่าเรือประมงต่างชาติ
ด้าน น.ท.ปกรณ์ แก้วช่วง ผบ.ฝูงบิน 101ฯ กล่าวว่า จากการบินลาดตระเวนตรวจสอบเป็นวงกว้างใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ในรัศมีประมาณ 20 ไมล์ทะเล พบมีเรือประมงสัญชาติเวียดนามเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยประมาณ 10 ลำ จึงได้แจ้งให้เรือรบที่เข้าร่วมปฏิบัติการเข้าดำเนินการตรวจสอบ และหากพบว่าเป็นเรือประมงต่างชาติที่เข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยจริง ก็จะเข้าจับกุมนำเรือและลูกเรือทั้งหมดเข้าฝั่งที่ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 จ.ตราด หรือที่ท่าเทียบเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินคดีในข้อกล่าวหาว่า รุกล้ำน่านน้ำไทย และลักลอบจับสัตว์น้ำในเขตราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายต่อไป



น.ท.ศานิต จงรักษ์ นักบินลาดตระเวน ได้กล่าวถึงการปฏิบัติการไล่ล่าเรือประมงต่างชาติเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยว่าเป็นการปฏิบัติที่ต้องขึ้นบินในช่วงเช้ามืด เพื่อไม่ให้เรือประมงที่เข้ามาลักลอบจับปลารู้ตัวและหลบหนีไป ประกอบกับในวันนี้สภาพอากาศดี มองเห็นได้ในระยะไกล ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นหลังจากบินขึ้นจากสนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง แล้วต้องใช้เพดานบินสูงถึง 6,000 ฟุต แต่เมื่อถึงที่ต้องลดเพดานบินต่ำห่างจากพื้นทะเลประมาณ 1,000 ฟุต ซึ่งสามารถมองเห็นเรือประมงได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสัญชาติอะไร มีลูกเรือเท่าไร มีความผิดในเรื่องของการค้ามนุษย์หรือลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เพื่อจับปลาในเขตน่านน้ำไทย จึงได้พอร์ตที่อยู่พร้อมแจ้งให้เรือรบที่ร่วมปฏิบัติการเข้าตรวจสอบเพื่อจับกุมต่อไป



เรือประมงเวียดนาม ลอบจับปลา น่านน้ำไทย
พล.ร.ท.รังสฤษดิ์ กล่าวว่า การปฏิบัติดังกล่าวนี้ ทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ ถือเป็นความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนและบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU FISHING) ในฐานะของหน่วยงานราชการในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล.

เครดิตภาพ: จาก ทัพเรือภาคที่ 1

ที่มา  http://www.thairath.co.th/content/548115

ร.ล.รัตนโกสินทร์


ขนาด
ระวางขับน้ำปกติ 870 ตัน เต็มที่ 962 ตัน
อาวุธ
ปืนใหญ่เรือ OTO Melara ขนาด 76 มม./62 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 1 แท่น
ปืนใหญ่กล Breda ขนาด 40 มม./70 คาลิเบอร์ แท่นคู่ 1 แท่น
ปืนใหญ่กล Rheinmetall ขนาด 20 มม./90 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 2 แท่น
แท่นยิง Mk.141 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Harpoon 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง
แท่นยิง Albatross สำหรับอาวุธปล่อยน้ำวิถีพื้น-สู่-อากาศ Aspide 1 แท่น 8 ท่อยิง
แท่นยิง Mk.32 mod.5 สำหรับตอร์ปิโด Mk.46 2 แท่น แท่นละ 3 ท่อยิง
แท่นยิงเป้าลวง 1 แท่น 10 กล่องยิง สำหรับเป้าลวง Dagaie
อิเล็กทรอนิกส์
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Thales ZW06
เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Thales DA05
เรดาร์ควบคุมการยิง Thales WM25 mod.41
เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales LIROD 8
เรดาร์เดินเรือ Decca 1229C และ Furuno
โซนาร์ Atlas DSQS-21C
ระบบ ESM AN/SLD-4 (V) (ITT Electronics System ES-3601)
ระบบอำนวยการรบ Thales SEWACO (FORESEE-TH)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ร.ล.ท้ายเหมือง เรือผิวน้ำประเภท เรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง “เรือตรวจการณ์ปืน ชุด ร.ล.กันตัง” (3 ลำ)


ปืนใหญ่เรือ Bofors ขนาด 76 มม./50 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 1 แท่น
ปืนใหญ่กล Bofors ขนาด 40 มม./60 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 1 แท่น
ปืนใหญ่กล Oerlikon GAM-C01 ขนาด 20 มม./90 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 2 แท่น
ปืนกล ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 2 แท่น
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Decca
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ต.217

ขนาด
ระวางขับน้ำปกติ 31 ตัน เต็มที่ 35 ตัน
อาวุธ
ปืนใหญ่กล Oerlikon GAM-C01 ขนาด 20 มม./90 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 1 แท่น
ปืนกล ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
อิเล็กทรอนิกส์
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Anritsu หรือ Furuno


เครื่องบินลาดตระเวน แบบที่ 1 ดอร์เนียร์ 228

อาวุธ
กระเปาะจรวดอากาศ-สู่-พื้น ขนาด 2.75 นิ้ว
อุปกรณ์ภารกิจ
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Bendix-FIAR (ปัจจุบัน Telephonics) RDR-1500
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ปล. ข้อมูล เรือ และเครื่องบิน  ถ้าผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่