Thales เปิดเผยระบบการรบเรือ OPV ลำใหม่ของกองทัพเรือไทย และแผนการปรับปรุงเรือชุด ร.ล.ปัตตานี

กระทู้ข่าว
10/11/2558 10.30 น. ThaiArmedForce.com - กองทัพเรือไทยกำลังอยู่ระหว่างเตรียมต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ลำใหม่ ต่อเนื่องจาก ร.ล.กระบี่ โดยกองทัพเรือยังคงเลือกบริษัท Thales Nederland B.V. เป็น lead system integrator และ combat system integrator เช่นเดิม โดยเรือจะมีขีดความสามารถสูงกว่าเดิม ตามแนวทางการพัฒนาเรือ OPV ของกองทัพเรือไทย และจากผลประเมินการปฏิบัติการกับ ร.ล.กระบี่ มานานกว่า 2 ปี นอกจากนี้ Thales ยังเสนอแผนปรับปรุงเรือ OPV ชุด ร.ล.ปัตตานี และนราธิวาส ให้มีขีดความสามารถใกล้เคียงกับเรือลำใหม่อีกด้วย



ในเรือ OPV ลำใหม่ ยังคงใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS ที่มีคอนโซลแสดงผลและควบคุมการรบ MOC Mk 3 จำนวน 4 ชุด และจอแสดงสถานการณ์ขนาดใหญ่ (collaboration wall) อีก 2 ชุด สำหรับระบบตรวจการณ์และควบคุมการยิง ที่เชื่อมต่อกัน ประกอบด้วย เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ-อากาศ Variant (rotating 2D dual C/X-band TWT) ซึ่งติดตั้งคู่กับ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ-ควบคุมเฮลิคอปเตอร์ Scout (rotating 2D X-band FMCW LPI solid-state) และระบบถาม/ตอบรับสัญญาณพิสูจน์ฝ่าย (IFF) แบบ Mk X(A) TSB2525 รวมถึง เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง STIR 1.2 EO Mk 2 (dual X/Ka-band solid-state; color TV-LLTV-LWIR-MWIR-laser rangefinder) ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ (R-ESM) Vigile Mk 2 นอกจากนี้ยังมี ระบบออปโทรนิกส์ตรวจการณ์ MX-10MS (color HDTV-LLTV-MWIR-laser rangefinder-laser illuminator) ของ L3 Wescam ระบบควบคุมการยิงเป้าลวง SKWS C-Guard ของ Terma เรดาร์เดินเรือ ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่น VisionMaster FT ของ Sperry Marine (X-band และ S-band) อย่างละ 1 ชุด รวม 2 ชุด เรดาร์เดินเรือ แบบ ARPA หรือ chart radar (X-band) ของ Furuno อีก 1 ชุด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมี ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับอากาศยาน (ADS-B) และ ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับเรือ (AIS) โดยระบบทั้งหมด Thales จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบ TACTICOS

ขณะที่ระบบอาวุธที่ Thales จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบ TACTICOS ประกอบด้วย ปืนหลัก คือ ปืนใหญ่เรือ 76/62 Compact ใช้ป้อมปืน stealth shield ขนาด 76 มม./62 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 1 แท่น ของ OTO Melara ปืนรอง คือ ปืนใหญ่กล DS30MR Mk 44 ขนาด 30 มม./70 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 2 แท่น ของ MSI-DSL/ATK และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ คือ อาวุธปล่อยฯ พื้น-สู่-พื้น RGM-84D Harpoon 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง ของ Boeing (ไม่มีการระบุตำแหน่งที่จะติดตั้งแท่นยิง) แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือไทย ยังคงกังวลใจเกี่ยวกับข้อจำกัดการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไทยในช่วงนี้ กองทัพเรือจึงยังคงทางเลือกที่จะติดตั้ง อาวุธปล่อยฯ C-802A (YJ-83) 2 แท่น แท่นละ 2 ท่อยิง ของ China Aerospace Science and Industry Corporation เอาไว้ ซึ่งทาง Thales ยืนยันว่าสามารถติดตั้งใช้งานได้ (เช่นเดียวกับอาวุธปล่อยฯ C-704 ของ China Aerospace Science and Technology Corporation บนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด ต.991 และ ต.994 ที่ใช้ระบบอำนวยการรบของ Thales) อย่างไรก็ดี ThaiArmedForce.com เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยินยอมขายอาวุธปล่อยฯ Harpoon ให้กับไทย เพราะ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พึ่งอนุมัติการขายอาวุธปล่อยฯ พื้น-สู่-อากาศ RIM-162B ESSM ของ Raytheon/BAE ไปโดยไม่มีเงื่อนไขใด นอกจากนี้ Thales จะเชื่อมต่อ แท่นยิงเป้าลวง DL-12T 2 แท่น แท่นละ 12 ท่อยิง ของ Terma สำหรับเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี ซึ่งจะทำให้เรือ OPV ลำใหม่นี้ เป็นเรือ OPV ลำแรกของกองทัพเรือไทย ที่มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเองจากการถูกโจมตีด้วยอาวุธปล่อยฯ นอกเหนือจากการเป็นเรือ OPV ลำแรก ที่จะได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยฯ ต่อต้านเรือผิวน้ำ

Thales ยังติดตั้ง ระบบสื่อสารแบบรวมการ (ICS) FICS และระบบเครือข่ายการสื่อสารไฟเบอร์ออปติก FOCON IP เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกเรือ ซึ่งนอกจากระบบวิทยุสื่อสารแล้ว ยังรวมถึง ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี (datalink) Link Y Mk 2 ของ Thales ที่รับส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ TACTICOS ทำให้กองทัพเรือไทย สามารถปฏิบัติการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ระบบวิทยุสื่อสารผ่านดาวเทียม (SATCOM) แบบ M-VSAT และ/หรือ INMARSAT-M ซึ่งคาดว่าจะเป็นรุ่น Sailor ของ Cobham ระบบวิทยุสื่อสารใต้น้ำ Aquacom ของ Ocean Technology Systems เพื่อสื่อสารกับนักดำน้ำที่ปฏิบัติการร่วมกัน และ ระบบเครื่องขยายเสียงกำลังสูง (LRAD) รวมทั้ง Thales ยังติดตั้งระบบ datalink Link RTN ของ Avia Satcom/Rohde & Schwarz โดยเชื่อมต่อกับระบบ TACTICOS โดยตรง ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลกับเรือลำอื่นๆ ของกองทัพเรือเองได้ด้วย

นอกจากนี้ Thales จะเชื่อมต่อ ระบบสะพานเดินเรือแบบรวมการ (IBS) ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่น UniMACS 3000 series ของ Imtech Marine เหมือนกับ ร.ล.กระบี่ โดย IBS จะเชื่อมต่อกับเรดาร์เดินเรือทั้ง 3 ชุด และระบบเครือข่ายข้อมูลนำร่อง (NDDS) ที่รับข้อมูลจากอุปกรณ์นำร่องต่างๆ เช่น เข็มทิศไยโร เครื่องวัดความเร็วเรือ เครื่องหาตำบลที่เรือด้วยด้วยดาวเทียม ฯลฯ เรือ OPV ลำใหม่ ยังติดตั้ง ระบบช่วยเดินอากาศทางยุทธวิธี (TACAN) โดยเชื่อมต่อผ่านระบบ ICS ของเรือ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เรือลำใหม่จะมี ฮ.ประจำเรือ ซึ่งจะบรรทุกไปกับเรือภายในโรงเก็บ ฮ. (ไม่ได้บินมาปฏิบัติการร่วมกันจากฐานบนฝั่ง) เพราะ โดยทั่วไป ตามหลักนิยมของกองทัพเรือไทย จะติดตั้งระบบ TACAN กับเรือผิวน้ำที่มีอากาศยานประจำเรือ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในเรือ OPV ลำใหม่ จะไม่มีการขยายขนาดลานจอด ฮ. ให้ใหญ่ขึ้น โดยจะยังคงรองรับ ฮ. ขนาด 7 ตัน (ฮ. S-76B หรือ Super Lynx 300 หรือ EC645 T2) เช่นเดิม เพียงแต่จะมีการขยายขนาดเก๋งเรือส่วนท้ายที่อยู่ติดกับลานจอด ฮ. ออกไปทางด้านกราบทั้ง 2 ด้าน โดยลดพื้นที่ดาดฟ้าบริเวณกราบเรือที่ออกแบบไว้วางตู้คอนเทนเนอร์ และเพิ่มความสูงให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นโรงเก็บ ฮ. ขนาด 7 ตัน

สำหรับการปรับปรุงเรือชุด ร.ล.ปัตตานี และนราธิวาส Thales เลือกใช้แผนแบบเช่นเดียวกับเรือ OPV ลำใหม่ เพื่อให้มีความคล้ายกันของอุปกรณ์ต่างๆ ให้มากที่สุด ประกอบด้วย การเปลี่ยน ระบบอำนวยการรบ จาก COSYS 100 ของ Rheinmetall เป็น TACTICOS เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ-อากาศ จาก RAN-30X/I ของ Selex เป็น Variant และ Scout ระบบ IFF จากของ Selex Communications เป็น TSB2525 และ เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง จาก TMX/EO ของ Rheinmetall เป็น STIR 1.2 EO Mk 2 โดยจะมีการติดตั้ง R-ESM Vigile Mk 2 ระบบออปโทรนิกส์ตรวจการณ์ MX-10MS ระบบควบคุมการยิงเป้าลวง SKWS C-Guard และ datalink Link Y Mk 2 เพิ่มเติม สำหรับอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม Thales จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบ TACTICOS ที่ติดตั้งใหม่ ประกอบด้วย เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Pilot Mk 2 (2D X-band FMCW LPI solid-state) ของ Saab เรดาร์เดินเรือ-ควบคุมเฮลิคอปเตอร์ NSC-25 SeaScout ของ Raytheon Anschutz (S-band และ X-band) อย่างละ 1 ชุด และ 2 ชุด รวมทั้ง ระบบ ICS และ IBS ของ Raytheon Anschutz อย่างไรก็ดี ในแผนงานไม่มีการระบุถึง datalink Link RTN และ SATCOM แบบ M-VSAT ที่ติดตั้งอยู่ก่อนแล้วบนเรือชุดนี้ แต่เชื่อว่าระบบทั้ง 2 Thales จะทำการเชื่อมต่อให้เช่นเดียวกับบนเรือ OPV ลำใหม่

ในส่วนของระบบอาวุธ Thales จะเชื่อมต่อเฉพาะ ปืนใหญ่เรือ 76/62 Compact 1 แท่น เข้ากับระบบ TACTICOS เท่านั้น โดยไม่รวมถึง ปืนใหญ่กล GI-2 ขนาด 20 มม./93 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 2 แท่น ของ Denel Land Systems เนื่องจากเป็นปืนที่ทำการยิงได้เฉพาะในแบบ manual (ใช้คนยิงที่ป้อมปืน) และไม่มีการกล่าวถึงอาวุธปล่อยฯ Harpoon ในแผนงาน แม้ว่า ร.ล.ปัตตานี และนราธิวาส จะได้รับการออกแบบให้ติดตั้งอาวุธปล่อยฯ ได้ตั้งแต่ต้นที่สร้างเรือก็ตาม

http://thaiarmedforce.com/taf-military-news/54-rtn-news/772-drawing-and-meterials-contract-for-rtns-new-opv.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่