FAA สหรัฐ ลดระดับการบินไทย ยังไม่พอใจผลการบินพลเรือนแก้ปัญหา

FAA สหรัฐอเมริกา ประกาศลดระดับไทย จาก category 1 เป็น category 2 หลังเยือนไทย 26-28 ต.ค. 58 เหตุยังวิตกการบินไม่ผ่านมาตรฐาน ขณะเลขาฯ ศบปพ. ยัน ไทยไม่นิ่งนอนใจ แจ้งผลการทำงานตลอด ย้ำเร่งแก้ข้อบกพร่อง หวัง ICAO ประกาศถอนธงแดง

เมื่อค่ำวันที่ 1 ธ.ค. 58 (ตามเวลาในประเทศไทย) องค์กรบริหารการบินแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ได้ประกาศลดระดับประเทศไทยจาก category 1 เป็น category 2 หลังจากที่ FAA ได้ส่งคณะมาเยือนไทย เมื่อวันที่ 26-28 ต.ค. 58 เนื่องจากเห็นว่า ผลการทำงานของกรมการบินพลเรือนไทย เพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวลของ FAA เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทย ยังไม่เป็นที่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข เลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) กล่าวว่า การตัดสินใจของ FAA ในครั้งนี้ มาจากการพิจารณาผลการทำงานของกรมการบินพลเรือนของไทย ระหว่างเดือน ก.ค. 58 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 58 ซึ่งไทยสามารถดำเนินการให้คืบหน้าเป็นไปตามมาตรฐานของ FAA ได้แล้วหลายประเด็น แต่ยังมีบางประเด็นที่ FAA ยังคงยืนยันให้ไทยต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ ทาง FAA เข้าใจว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างเหมาะสม เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกใหม่ (ATPL Re-check) การตรวจสอบผู้ตรวจสอบภาคอากาศใหม่ (DCP Recheck) เป็นต้น

สำหรับผลกระทบจากการลดระดับไทยเป็น category 2 ในครั้งนี้ พล.อ.อ.ปรีชา กล่าวว่า รายได้ที่เอกชนไทยจะเสียไปนั้น จะถูกกระทบบ้างเพราะสายการบินของไทย ที่ปัจจุบันทำ code share กับสายการบินอื่นที่บินเข้าสหรัฐฯ จะไม่สามารถใช้เครื่องบินของสายการบินของไทยได้ แต่ผลกระทบนี้ไม่น่าจะมากนัก เพราะขณะนี้ไม่มีสายการบินของไทยที่บินเข้าสหรัฐฯ โดยตรง แต่แน่นอนว่าอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ไทย โดยเฉพาะมาตรฐานการทำงานของกรมการบินพลเรือนไทย

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่เคยนิ่งนอนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังรีบแก้ไขปัญหา และจะเดินหน้าในการทำงานร่วมกับ FAA ต่อไป โดยแจ้งผลการทำงานของไทยให้ทราบเป็นระยะ เพื่อให้เห็นความคืบหน้าของไทย จนเป็นที่พอใจโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญไทยยังคงเร่งเดินหน้าแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ เพื่อให้ ICAO ประกาศถอนธงแดงของไทยโดยเร็ว เพราะเชื่อว่าเมื่อ ICAO ยอมรับมาตรฐานการบินพลเรือนของไทยได้ ก็จะส่งผลบวกต่อการตัดสินใจทั้งของฝั่งสหรัฐฯ คือ FAA และฝั่งสหภาพยุโรปเช่นกัน.




ขอบคุณ Cr. https://www.thairath.co.th/content/543303
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่