สิ้นพ.ย. ไทยลุ้นผล FAA ตรวจมาตรฐานการบิน คาดสอบผ่าน

กระทู้ข่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 26 พ.ย. 2558
"กรมท่าอากาศยาน" มั่นใจกระบวนการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่อง ส่งผลไทยไม่ถูก FAA ปรับลดระดับเป็น Category 2 เผยรู้ผลสิ้นเดือนพ.ย.นี้ ด้านอดีตผู้ตรวจ ICAO ย้ำไทยประเมินคะแนน FAA ได้มากกว่า 90% ส่วนนักวิชาการ ติงกฎหมายกพท.ขาดความชัดเจนปฏิบัติ...

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "กฎหมายการจัดตั้งหน่วยงานการบินพลเรือนแห่งใหม่ จะนำประเทศไทยออกจากวิกฤติการบินได้หรือไม่" ว่า การดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอย่างมีนัยยะสำคัญ (SSC) ที่กรมท่าอากาศยานดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้มั่นใจว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ท้วงติงมาได้อย่างแน่นอน ซึ่งทาง FAA จะส่งผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการกลับมาให้กรมท่าอากาศยานภายในสิ้นเดือน พ.ย.2558 ดังนั้น คาดว่า FAA คงไม่ปรับลดมาตรฐานการบินของไทยจาก Category 1 เป็น Category 2 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ประเด็นที่จะต้องแยกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกมาเป็นองค์กรอิสระไม่สังกัดหน่วยงานราชการ เพราะต้องการรักษาบุคลากรด้านการบินให้อยู่กับกพท.ให้มากที่สุด ซึ่งวิธีปฏิบัติงานของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการสามารถรักษาคนไว้ได้ แต่ระบบราชการไทยทำได้ค่อนข้างยาก

ด้านนายสัมพันธ์ พงศ์ไทย อดีตรองอธิบดีกรมการบินพลเรือน (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) และอดีตผู้ตรวจ ICAO กล่าวว่า ผลการตรวสอบมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของไทยโดย FAA เบื้องต้นทาง FAA ได้สอบถามไทยทั้งหมด 290 ข้อโดยไทยสามารถชี้แจงและตอบคำถามได้เป็นที่น่าพอใจ มากถึง 280 ข้อ มีเพียง 10 ข้อเท่านั้นที่ไทยไม่สามารถชี้แจงและตอบคำถามได้ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าไทยมีสัดส่วนการสอบผ่านมากถึง 96.55% ขณะที่สัดส่วนการสอบตกเพียง 3.45% เท่านั้น ซึ่งไทยจะต้องรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการของ FAA อีกครั้ง

นายประเสริฐ ป้อมป้องศึก อาจารย์พิเศษด้านกฎหมายการบิน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ช่วยให้การใช้อำนาจซับซ้อนน้อยลง แต่ไม่รอบคอบ ไม่ครอบคลุมหลักการบริหารจัดการในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ กพท. กำหนดเฉพาะผู้อำนวยการ กพท.เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ทรงวุฒิ ในคณะกรรมการการบินพลเรือน หรือ กบร. ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้

นอกจากนี้ จากตัวกฎหมายยังไม่ได้กำหนดส่วนได้ส่วนเสีย หรือกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม สำหรับปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกองทัพอากาศ ด้วย รวมทั้งจากการกำหนดว่าปลัดกระทรวงคมนาคมจะต้องดูแลกองค้นหาและช่วยเหลือ อากาศยาน และกองนิรภัยการบินและสอบสวนอากาศยานประสบเหตุ ดังนั้นทำให้คิดได้ว่า ต่อไปผู้ที่จะเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม จะต้องมาจากหน่วยงานที่กำกับทางบกและทางน้ำอย่างแน่นอน

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายหากไม่มีกรอบปฏิบัติที่ครอบคลุม ดังนั้นในทางปฏิบัติควรมีหลักการทำงานที่ชัดเจนเพื่อให้กฏหมายขับเคลื่อนไป ได้ ไม่ใช่ตั้งกพท.มาเป็นเพียงที่ปรึกษาของรมว.คมนาคม นอกจากนี้ กพท.ควรมีหน่วยงานหรือมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเป็นผู้แทนประจำองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อศึกษาข้อมูลด้านการบินและการตรวจสอบรายการปฏิบัติงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไทย

นายพรต เสตสุวรรณ รองผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาด้านการบินจะเห็นได้ว่า มันเป็นปัญหามากว่า 8 ปี แล้ว และที่ผ่านมาถือว่า องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้ลดหย่อนการกำกับตรวจสอบกับกรมการบินพลเรือนไทยมาตลอด เพราะเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค จนมองว่าปัญหาหมักหมมมานาน จนล่าสุด บพ.สอบตกมาตรฐานการบิน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบินเกิดคำถามว่าทำไม บพ. ไม่ปรับโครงสร้าง องค์กรให้ทันสมัย และปรับตามเทคโนโลยีทางการบินที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนั้นมองว่า ในเรื่องของ งบประมาณ ที่ผู้ประกอบการสายการบินเอกชนต้องจ่ายค่าบริหารจัดการองค์กรให้กับองค์กร อิสระนั้นทางผู้ประกอยการเอกชนมองว่า องค์กรอิสระควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ การบินเอกชนเข้าร่วม จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อให้มีการปรับปรุงการทำงาน และความต้องการร่วมกันได้.

http://www.thairath.co.th/content/541983
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่