ชวนทำวุ้นไข่กบ (Aiyu Jelly) ของดีประจำ Night Market ไต้หวัน พร้อมลายแทงวัตถุดิบ!

ระยะหลังมานี้รู้สึกจะเห็นกระทู้เที่ยวไต้หวันบ่อยขึ้น เราเองก็เพิ่งไปไต้หวันมาเมื่อสัปดาห์ก่อนนี่เองค่ะ และแน่นอนว่าการไปเที่ยวไต้หวัน กิจกรรมนึงที่ขาดไม่ได้คือการเดินตลาดกลางคืน (night market) ที่มีอยู่มากมายหลายแห่ง เชื่อว่าคนที่ได้ไปเดิน night market ส่วนใหญ่คงเคยเห็นหรือชิมเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่เป็นน้ำมะนาวใส่วุ้นกันมาแล้ว เพราะเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่มีขายใน night market ทุกแห่ง ขายกันหลายเจ้า เรียกว่าหัวถนนท้ายถนนเลยทีเดียว


บางทีคนไทยก็เรียกว่าวุ้นไข่กบตามยี่ห้อที่เจอบ่อย ซึ่งเป็นรูปกบวางไข่

ชื่อจริงๆ ของวุ้นนี้คืออ้ายหยู่ปิง (Aiyu bing, 愛玉冰) ค่ะ เป็นวุ้นที่ทำมาจากเมล็ดของผลไม้สกุลมะเดื่อชนิดหนึ่งที่เรียกว่า climbing fig (Ficus pumila var. awkeotsang) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของไต้หวัน และจัดเป็นชนิดย่อยของ climbing fig Ficus pumila L. หรือต้นตีนตุ๊กแกที่เลื้อยเกาะกำแพง ผลของมันจะถูกเก็บมากรีดตามยาว แล้วปลิ้นเอาด้านในที่มีเมล็ดออกมาตากแห้ง แล้วจึงค่อยขูดเอาเมล็ดออกมาทำอาหาร เมล็ดอ้ายหยู่ที่มาจากภูเขาอาลีซาน (Alishan, 阿里山) ถือว่าเป็นของดีมีคุณภาพมาก


หน้าตาลูกอ้ายหยู่ตากแห้ง กับเมล็ดแบบซูมๆ ค่ะ

วุ้นของอ้ายหยู่เป็นวุ้นเพกติน (pectin) ซึ่งเป็นสารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทไฟเบอร์หรือใยอาหารชนิดหนึ่ง จึงดีต่อระบบขับถ่ายและลำไส้ ที่สำคัญคือร่างกายไม่สามารถย่อยได้ก็เลยไม่มีแคลอรีค่ะ! นอกจากนี้คนจีนยังจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่นเดียวกับเก๊กฮวย เฉาก๊วย ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ จึงเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากในหน้าร้อน

เราชอบอะไรวุ้นๆ แบบนี้อยู่แล้ว เลยติดใจจนต้องไปค้นหาสูตรและวิธีทำ ปรากฎว่าในเน็ทมีสูตรอยู่เพียบค่ะ แต่ที่ยากก็คือที่ซื้อวัตถุดิบ พยายามงมหาอยู่หลายวัน ในที่สุดก็เจอว่ามีคนเคยไปซื้อที่ถนน Dihua ในไทเป ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านขายของแห้ง ใบชา และเครื่องยาจีน อยู่ไม่ไกลจาก Taipei Main Station เท่าไหร่ พิกัดตามนี้ค่ะ

หรือจะ search ด้วยคำว่า Dihua Street, Datong District, Taipei ก็ได้ค่ะ


มีแต่ร้านของแห้งเรียงรายยาวไปตลอดเส้นทาง ทั้งสองฟากถนนเลยค่ะ เยอะมากกกกก มีคนเกาหลีกับญี่ปุ่นมาเดินเล่นบ้างเหมือนกันนะ

หาที่อื่นไม่ว่าจะร้านชำหรือร้านของแห้งในตลาดก็ไม่เจอเลย แต่ที่นี่มีขายตั้งหลายร้าน ทั้งแบบตักขายตามน้ำหนัก ราคาชั่งละประมาณ 1,100 - 1,300 ดอลลาร์ไต้หวัน (หนึ่งชั่ง = 600 กรัม) บางร้านก็ขายแบบท้ั้งผลเลย ให้ไปขูดเมล็ดกันเอาเอง ก็จะราคาถูกหน่อยประมาณชั่งละ 900 ดอลล่าร์ค่ะ


เราว่าไอ้แบบทั้งลูกนี่เมล็ดมันร่วงลงไปอยู่ด้านล่างก็มี ซื้อเฉพาะเมล็ดน่าจะคุ้มกว่านะ


แบบเป็นแพ็คสำเร็จรูป ราคา 240 ดอลลาร์ แพ็คนึงมี 3 ถุงเล็ก ถุงละ 38 กรัมค่ะ แบบแพ็คนี่แถมถุงกรองให้ด้วย

หอบหิ้วกลับมาแล้วก็ลองทำดู เห็นเขาว่าอาหารชนิดเนี้ยทำง่ายมากจนคนที่ต้มไข่ไม่เป็นก็ยังทำได้ ก็น่าจะจริงนะ เพราะสูตรวุ้นมีแค่นี้เองค่ะ

1. เมล็ดอ้ายหยู่ 38-40 กรัม
2. น้ำ 2 ลิตร ถ้าชอบวุ้นนิ่มหรือแข็งก็เพิ่มลดน้ำได้นิดหน่อยนะคะ

แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่นิดนึง คือน้ำที่ใช้นี่เหมาะที่สุดคือน้ำประปา แต่ถ้าทำใจกินน้ำก๊อกไม่ได้ก็ให้ใช้น้ำกรองธรรมดาค่ะ ห้ามใช้น้ำกรองด้วยระบบ RO หรือน้ำกลั่น เนื่องจากเพคตินที่อยู่ในเมล็ดอ้ายหยู่เป็นชนิด low methoxyl pectin (LM pectin) ซึ่งจะเกิดเจลได้โดยการจับตัวกับแคลเซียมอิออน (Ca2+) ที่ละลายอยู่ในน้ำ ถ้าใช้น้ำกรอง RO หรือน้ำกลั่นมันจะสะอาดจนมีแร่ธาตุน้อยนิดเกินไป วุ้นจะเหลวไม่แข็งตัวค่ะ

อุปกรณ์ก็มีแค่ชามอ่างกับผ้าขาวบาง หรือจะใช้ถุงชงกาแฟ ถุงเท้าใหม่ รึผ้าอะไรก็ได้ค่ะที่กรองเจ้าเมล็ดเล็กๆ นี่ได้


จัดการเทเมล็ดอ้ายหยู่ใส่ผ้าขาวบาง มัดปากให้ดี แล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 5 นาทีให้มันดูดน้ำพองๆ หน่อยค่ะ


ล้างมือให้สะอาดนะคะ พร้อมแล้วก็ลงมือขยำขยี้ ถูๆ บีบๆ น้ำออกจากถุงผ้า ถึงตอนนี้มันจะมีเมือกออกมาจากเมล็ดค่ะ


ขยำๆ บีบๆ ไปประมาณ 5-10 นาที ก็จะได้น้ำวุ้นสีเหลืองๆ กากเมล็ดที่คั้นเมือกออกมาหมดแล้วก็ทิ้งไปได้ค่ะ แต่ตามร้านขายน้ำ เขาจะเอามาวางโชว์เป็นปั้นๆ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าร้านเขาใช้เมล็ดอ้ายหยู่ของแท้นะจ๊ะ

เอาน้ำวุ้นที่ได้มาไปแช่ตู้เย็น ที่จริงจะทิ้งไว้เฉยๆ มันก็เป็นวุ้น แต่ไหนๆ จะกินเป็นของหวานอยู่แล้วก็แช่เย็นเลยดีกว่า สูตรดั้งเดิมของไต้หวันเขาใส่น้ำมะนาวกับน้ำผึ้ง

ตรงนี้ก็มีนิทานเล่าว่า เมื่อประมาณสองร้อยปีที่แล้ว มีพ่อค้าชาชาวไต้หวันเดินทางผ่านลำธารแห่งหนึ่ง แล้วสังเกตเห็นว่าน้ำในลำธารเป็นสีเหลือง เขาลองดื่มน้ำนั้นดูแล้วพบว่าอร่อยชื่นใจ แก้กระหายได้เป็นอย่างดี พอมองไปรอบๆ ก็เห็นว่าต้นไม้ริมลำธารมีผลไม้ห้อยระย้า บางผลก็ตกลงไปในน้ำ  พ่อค้าจึงเก็บผลไม้นั้นกลับบ้าน เอาไปลองปรุงกับน้ำผึ้งและน้ำมะนาว จากนั้นก็ให้ลูกสาวเป็นคนขาย (บ้างก็ว่าลูกสาวเป็นคนคิดสูตรน้ำมะนาวใส่น้ำผึ้ง) ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ก็เลยตั้งชื่อวุ้นนี้ว่าอ้ายหยู่ (愛 = รัก, 玉 = หยก) ตามชื่อของลูกสาว แต่นแต๊น!! กลายเป็นเครื่องดื่มที่คนไต้หวันรู้จักกันดีในปัจจุบันค่ะ


สรุปว่าทำตามสูตรดั้งเดิมละกันเนอะ เราชอบออกเปรี้ยว ก็ใช้น้ำตาลทรายประมาณ 2 จวักตักแกง น้ำผึ้ง 1 จวัก มะนาวไร้เมล็ดแบบลูกใหญ่ 2 ลูก น้ำก็กะๆ เอาให้เข้มข้นหน่อยเพราะเผื่อเติมน้ำแข็ง


ผ่านไป 2 ชั่วโมง เอาออกจากตู้เย็นมา หน้าตาประมาณนี้ค่ะ เอาช้อนตักจะเห็นว่าเป็นวุ้นแล้ว ง่ายสุดๆ


ตักขึ้นมาแบบเต้าฮวย หรือจะหั่นเต๋าแบบเฉาก๊วย ก็ตามถนัดค่ะ


ของเรารอบแรกด้วยความดีใจว่าจะได้กินแล้ว เลยเอาช้อนจ้วงมาก้อนเบ้อเร่อ ปรากฏว่าตอนกินมันดิ้นหนีช้อนเฉยเลย ลื่นมากค่ะ รอบหลังเลยตัดเป็นชิ้นเล็กๆ กว่าเดิม อมยิ้ม07


แบ่งใส่ชามเติมน้ำผึ้งผสมมะนาวใส่น้ำแข็งทุบ  เปรี้ยวๆ หวานๆ สดชื่น ตัววุ้นก็จะลื่นๆ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของเมล็ดอ้ายหยู่ กินตอนบ่ายอากาศร้อนๆ นี่ชื่นใจมากค่ะ

นอกจากใส่น้ำมะนาวแล้วก็ยังใส่ในเครื่องดื่มอื่นๆ เช่นชานมไข่มุก น้ำบ๊วย จะใส่หวานเย็น น้ำแข็งไสก็ได้ค่ะ จุ๊บๆ

ถึงตรงนี้ ใครที่เคยไปเที่ยวภูเก็ตอาจนึกถึงขนมหวานที่เป็นวุ้นสีเหลืองอ่อนๆ มีสรรพคุณกินแก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นที่นิยมกินเพื่อคลายร้อนเหมือนกัน

ใช่แล้วค่ะ "โอ๊ะเอ๋ว" ขนมหวานพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ตนี่แหละ วุ้นใสๆ ใส่ถั่วแดง เฉาก๊วย โปะน้ำแข็งไส ราดน้ำเชื่อมหรือน้ำแดง.... โอ๊ะเอ๋วไม่ได้ทำจากผงวุ้นแต่ทำจากเมือกของเมล็ดโอ๊ะเอ๋วและกล้วยน้ำว้าสุก


ที่มาของโอ๊ะเอ๋วคือของหวานชนิดหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยนและไต้หวัน ที่มาถึงไทยผ่านชาวจีนที่อพยพเข้ามา บางแหล่งก็ว่าผ่านมาจากทางชาวจีนฮกเกี้ยนในปีนัง

ซึ่งเมล็ดโอ๊ะเอ๋วที่ว่า ก็คือเมล็ดอ้ายหยู่นั่นเองค่ะ

เขียนมาซะยาว สุดท้ายนี้แค่อยากจะบอกว่า ใครได้ไปเที่ยวไต้หวัน แนะนำให้ลองชิม Aiyu Jelly ดูนะคะ เผื่อยังไงถูกใจอาจได้ซื้อกลับมา ทำของดีประเทศไต้หวันกินกันกับคนที่บ้านหรือเพื่อนๆ

เราว่ามันเหมาะกับอากาศร้อนบ้านเรามากๆ เลยค่ะ! อมยิ้ม02
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่