คอลัมน์ นอกลู่ในทาง: เดิมพันรอบใหม่ของสามก๊กมือถือ

กระทู้ข่าว

คอลัมน์ นอกลู่ในทาง: เดิมพันรอบใหม่ของสามก๊กมือถือ
มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
โดย : เชอรี่ ประชาชาติ

          ผลการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz เพื่อนำมาพัฒนาบริการ 4G  เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ถือว่าเหนือความคาดหมาย เพราะคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า 1 ใน 2 ผู้ชนะ ต้องมี บริษัท แอ็ดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือยักษ์มือถือ "เอไอเอส" ด้วยเป็นแน่และก็เป็นไปตามโผ ไม่ได้หมายความว่า ใครล็อกไว้ แต่เพราะ "เอไอเอส" อยู่ในสถานะที่ต้องชิงคลื่นใหม่ให้ได้ ถ้าไม่ได้มีปัญหาแน่ ด้วยว่าเทียบคู่แข่งรายอื่นแล้วมีต้นทุนคลื่นในมือน้อยที่สุด แต่มีลูกค้ามากที่สุด จนเริ่มได้ยินเสียงบ่นเรื่องคุณภาพบริการบ้างแล้ว ขืนไม่ได้คลื่นความถี่ใหม่มาลดโหลดระบบแย่แน่ๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยที่การประมูลคลื่น 2.1GHz สำหรับพัฒนาบริการ 3G  เจอโรคเลื่อนมือวางอันดับหนึ่งในสมรภูมิธุรกิจมือถือ "เอไอเอส" ย่อมไม่อยากเดินซ้ำรอยเดิมการเปิดศึกชิงคลื่นรอบนี้แพ้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

          "เอไอเอส" คว้าไลเซนส์มาได้ที่ราคา 40,986 ล้านบาท คิดเป็น 206% ของมูลค่าคลื่นใบอนุญาตที่สอง
          สำหรับอีก 1 ผู้ชนะ เป็น บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด ใน เครือทรู ที่ราคา 39,792 ล้านบาท คิดเป็น 200% ของมูลค่าคลื่น ซึ่งก็ไม่ถือว่าพลิกโผ เพราะทรูเองประกาศตัวชัดเจนมาตลอดว่าตั้งใจเอาจริงกับการประมูลคลื่นเช่นกันแม้จะทำให้ต้องแบกภาระหนี้ต่อไปอีกหลายปี

          งานนี้ 2 ผู้ชนะจึงไม่ทำให้ใคร "เซอร์ไพรส์" หากเป็นผู้แพ้อีก 2 รายต่างหาก
          รายหนึ่งคือ "แจสโมบายบรอดแบนด์" บริษัทในเครือจัสมิน อีกหนึ่งยักษ์สื่อสารยุคบุกเบิกที่ผลัดไม้เปลี่ยนมือจากรุ่นพ่อ ดร.อดิศัย โพธารามิก สู่รุ่นลูก พิชญ์ โพธารามิก

          อีกรายคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ "ดีแทค"
          เซอร์ไพรส์แรกเกิดจากไม่มีใครคาดคิดว่า "แจสโมบาย" หนึ่งเดียวที่ไม่ได้มีดีกรีเป็นยักษ์มือถือจะสู้ราคาสุดฤทธิ์ชนิดหายใจรดต้นคอ "ทรู" และเคาะราคาสุดท้ายไปที่ 38,996 ล้านบาท

          เรียกว่า แพ้ไปแบบเฉียดฉิวแต่ก็ยังไม่เซอร์ไพรส์เท่า "ดีแทค" พลันที่ราคาเคาะสุดท้ายปรากฏตัวเลขที่ 17,504 ล้านบาท ห่างจากคู่แข่งรายอื่นเป็นเท่าตัว ประมาณว่าเคาะสู้ไม่ถึงครึ่งทางก็ยกธงขาวเสียแล้ว

          แม้ใคร ๆ จะคิดไว้แล้วว่า "ดีแทค" คงไม่สู้ราคาเท่าไรนัก หากพิจารณาจากคลื่นเดิมที่มีอยู่ในมือมากกว่าใคร กับอายุสัมปทานที่เหลืออยู่อีก 3 ปี ถ้าจะรอให้สัมปทานหมดในปี 2561 แล้วค่อยประมูลตอนนั้นก็ (คง) ยังไม่สาย

          ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ "ดีแทค" ไม่มีบริการ 4G เพราะให้บริการบนคลื่น 2.1GHz และ 1800 MHz ในสัมปทานเดิมอยู่แล้ว แต่มีผลต่อความเชื่อมั่นในบริษัทและบริการมากทีเดียว

          ด้วยความที่การประมูลคลื่นความถี่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากการเคาะราคาสู้กันยืดเยื้อข้ามวันข้ามคืน ยาวนานถึงกว่า 33 ชั่วโมง และทำให้ภาครัฐได้เงินเข้ากระเป๋า รวม 2 ใบอนุญาตมากถึงกว่า 80,000 ล้านบาท

          เมื่อ "ดีแทค" ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงมือวางอันดับสองในตลาดแต่เคาะราคาแบบไม่อยากสู้จึงมีคำถามตามมามากมาย บ้างก็ว่า ต่อไป "ดีแทค" จะไม่มีบริการ 4G แล้ว บ้างก็ว่า 4G ที่ให้บริการอยู่เป็นของเก๊ บ้างก็บอกว่าเป็นการส่งสัญญาณของ "เทเลนอร์" บริษัทแม่ว่ากำลังจะถอนทัพการลงทุนในไทยหรือเปล่า ?

          "ทีมดีแทค" จึงต้องออกมาย้ำว่ามีบริการ 4G บนคลื่น 1800MHz ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. (ก่อนประมูลไม่กี่วัน) เช่นกันกับบนคลื่น 2.1 GHz ก็มีตั้งแต่ พ.ค.ปีที่แล้วโน่นเลย

          ดังนั้น ผลแพ้ชนะในการประมูลครั้งนี้จึงไม่มีผลกับบริการ 4G แต่อย่างใด และว่า กำลังเร่งขยายเครือข่าย 4G คลื่น 1800 MHz เพิ่มเติมให้ครบ 1,800 สถานี ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ด้วย

          เมื่อรวมบนคลื่น 2.1 GHz จะมีสถานีฐาน 4G ราว 6,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถรองรับลูกค้าได้หลายล้านราย
          ส่วนที่ "ราคาเคาะครั้งสุดท้าย" ห่างจากคู่แข่งเป็นโยชน์นั้น ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ของ "ดีแทค" อธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่า ไม่ตั้งใจประมูล

          "เรามีความต้องการคลื่นจากการประมูลน้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่นแต่ตั้งใจ และอยากได้คลื่น แต่เวลาประมูลจะทำการประเมินมูลค่าคลื่นดูว่า คลื่นที่มีอยู่แล้วนำมาเปิด 4จี จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ในระดับไหน ถ้าจะได้คลื่นมาเพิ่มอีก มูลค่าเพิ่มที่จะได้โดยไม่เดือดร้อนลูกค้ามากนักควรเป็นเท่าไรที่ไม่ทำให้ต้นทุนสูงไป เราเคาะราคาด้วยเหตุผลทางธุรกิจ โดยเอาอารมณ์ออกไป มูลค่าคลื่นจะมีเท่าไรก็ตามนั้น แต่ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าใจว่าเขามีเหตุผลที่ต้องเคาะราคาด้วยข้อจำกัดความถี่"

          "ประเทศ" ย้ำว่า การประเมินมูลค่าคลื่น ไม่มีใครถูกหรือผิด เพราะความต้องการไม่เท่ากัน แต่สำหรับ "ดีแทค" ถ้าประมูลได้มาที่ราคา 40,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สูงไป

          ก็ว่ากันไป... จะถูกจะแพง จะคุ้มค่าหรือไม่สำหรับใคร คงต้องดูกันยาวกว่านี้
          ระดับ "เอไอเอส และทรู" ไม่ใช่ธรรมดา ย่อมคิดสาระตะมาแล้วว่าช็อตจากนี้จะเขย่งก้าวกระโดดอย่างไรให้สมกับที่ทุ่มทุนไปไม่น้อย
          ผลแพ้ชนะในสมรภูมิธุรกิจนี้ ไม่ได้จบที่การประมูลคลื่น หากเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันรอบใหม่ที่มีเดิมพันสูงยิ่ง โดยเฉพาะกับตำแหน่งมือวางอันดับสอง (ดีแทค) และสาม (ทรูมูฟเอช)

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (หน้า 14)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่