เตือนภัย‘โคมติดถังแก๊ส’ระเบิดลอยได้หายนะการบิน

ในช่วงเทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลยี่เป็งของทุกปี ชาวไทยนิยมปล่อยโคมลอยตามประเพณีเป็นจำนวนมาก แต่ใครจะรู้ว่า ปัจจุบันโคมลอยส่องแสงสว่างดูสวยงามได้ถูกดัดแปลงโดยใช้ “แก๊สถังเล็กเป็นเชื้อเพลิง” เพื่อให้ลอยได้สูง โดยโคมลอยบางประเภทอาจมีระยะความสูงเกือบ 2 หมื่นฟุต ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัย จนถึงขั้นที่สายการบินส่วนใหญ่ต้องปรับตารางการบินในช่วงเทศกาลดังกล่าว

             เหตุใดการปล่อยโคมลอยจึงมีผลกระทบต่อความปลอดภัยการเดินอากาศ
             กัปตัน “สนอง มิ่งเจริญ” นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวในรายการเก็บตกจากเนชั่น (ภาคเที่ยง) ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ว่า ในมุมมองของนักบิน จะมองว่า โคมลอยเป็นวัสดุแปลกปลอม หรือว่าเป็นสิ่งที่อาจจะเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบินได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องยนต์หยุดการทำงาน หรือเครื่องยนต์ดับ ทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน

             ส่วนข้อสงสัยที่ว่าโคมลอยสามารถลอยขึ้นไปถึงระดับการบินได้หรือไม่นั้น จากสถิติอย่างไม่เป็นทางการที่เคยคุยกับเพื่อนนักบินในสมาคมนักบินไทย เคยพูดกันถึงประเด็นนี้ หลายคนบอกว่า เคยพบโคมลอยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าในระดับ 2 หมื่นฟุต ถึง 3 หมื่นฟุต ก็มี

             ทั้งนี้ หากนักบินประสบกับเหตุการณ์อย่างนี้ จะแก้ไขอย่างไร เพราะโคมลอยบังคับทิศทางไม่ได้ นายกสมาคมนักบินไทย ชี้แจงว่า โคมลอยที่เห็น นักบินจะเห็นในระยะไกล ก็จะไม่มีผลกระทบต่อเครื่องบิน หากเทียบเคียงกับกรณีเครื่องบินชนกับนก ลักษณะการเกิดคือ นกมาเป็นกลุ่ม เป็นฝูง เข้ามาในบริเวณที่เครื่องบินทำการบินอยู่ เคยมีปัญหาเรื่องของนกที่สหรัฐอเมริกา ที่เครื่องบินบินเข้าไปในฝูงนก ทำให้เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องดับ ทำให้นักบินต้องนำเครื่องบินลงฉุกเฉิน ลักษณะอย่างนี้ถือว่าอันตรายมาก

             ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น นักบินจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้นายกสมาคมนักบินไทย บอกว่า หากมีปัญหาขึ้นอย่างนี้ เป็นที่แน่นอนว่า จะหยุดการบิน ไม่เข้าไปในบริเวณที่มีการประกาศว่า จะมีการลอยโคม โดยปกติเวลาถึงเทศกาลประเพณีต่างๆ ก็จะมีประกาศแจ้งเตือนนักบิน ไม่ให้นำเครื่องบินเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ซึ่งนักบินก็จะปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน หรือบางสนามบิน อย่างเช่น เชียงใหม่จะประกาศงดเที่ยวบินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

             ทั้งนี้ ในกรณีที่มีประกาศแจ้งเตือนไม่น่ากลัว เราก็จะยกเลิกเที่ยวบิน แต่จะมีบางกรณีที่มีผู้เล่นโคมลอยทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาล อาจลอยตามบ้าน หากโคมลอยที่ใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน จะมีระยะเวลาในการที่โคมจะดับเอง แต่ที่ไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในละแวกใกล้เคียง หากโคมลอยตกไปแล้วจะเกิดอัคคีภัย
            
“ในกรณีข้างต้นที่บอกว่า ใช้ถังแก๊ส ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด และชัดเจน เพราะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก”

             ส่วนที่ภาครัฐออกมาจัดระเบียบ ให้ลอยโคมได้ในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงกำหนดบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น จะเพียงพอต่อการดูแลความปลอดภัยด้านการบินหรือไม่นั้น ตรงนี้ถือว่า เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าจะต้องทำให้เข้มข้น การกำกับดูแลมาตรการต่างๆ ต้องให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการเก็บสถิติต่างๆ ว่า มีจำนวนโคมลอยที่นำมาเล่นกัน รวมถึงจำนวนลอยโคมที่อยู่นอกพื้นที่แจ้งเตือน พวกนี้ต้องเก็บสถิติเพราะเป็นวิทยาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหานี้ในปีต่อๆ ไป

             เกี่ยวกับข้อกังวลของ “โคมลอยถังแก๊ส” ขณะเดียวกันในสังคมออนไลน์ ในเฟซบุ๊กของกัปตัน Charoenchai Kangsamutr ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ว่าด้วยเรื่องโคมลอย โดยพูดถึงประสบการณ์ตรงระหว่างขับเครื่องบินที่ต้องเจอกับโคมลอยว่า ในห้วงทำอาชีพขับเครื่องบินมาต้องพบกับ FOD (foriegn object damage หรือวัตถุแปลกปลอมอาจถูกแรงลมพัดขึ้นมาสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบิน) ชนิดนี้นับได้เป็นสิบครั้ง แต่จากแนวโน้มว่ามันมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี จะห้ามยังไงคงห้ามไม่ได้ เพราะ..พูดตรงๆ เลยคือยังไม่มีเครื่องตก คนตายให้เห็นคาตา ก็ยังมีคนส่วนนึงทำหูทวนลมไปเรื่อยๆ ทางออกกลางๆ ที่มองเห็นได้ก็คือ ห้ามปล่อยโคมลอยในช่วงบิน ...ก็คงมีคนฝ่าฝืนอยู่ดี

             ความเห็นส่วนตัวผม เอาตรงๆ ถ้าท่านจะใช้โคมแบบดั้งเดิม และมีปริมาณไม่มากนัก รวมทั้งกำหนดเขตห้ามปล่อยบริเวณสักยี่สิบกี่โลเมตรรอบๆ สนามบิน โอกาสที่โคมจะทำความเสียหายให้แก่อากาศยานจะมีน้อยมาก เพราะโคมธรรมดาจะลอยอยู่ไม่สูงมากและลอยอยู่แค่สิบถึงสิบห้านาที (ไม่พูดถึงตกลงไปใส่บ้านเรือนซึ่งอาจทำให้เกิดไฟไหม้นะครับ)

             ปัญหาจริงๆ คือโคมที่ดัดแปลง หรือมีขนาดใหญ่ ซึ่งผมจะเรียกมันว่าโคมลอยพิสดารก็แล้วกัน พวกนี้อันตรายมาก มีทั้งติดถังแก๊สกะปุ๊กลุก ซึ่งเคยเจอลอยสวนกันที่ความสูงเกือบสองหมื่นฟุต เหมือนระเบิดลอยได้ดีๆ นี่เอง

             บางส่วนปล่อยพร้อมๆ กันและมีขนาดใหญ่ถึงไม่มีถังแก๊สก็เป็นอันตรายเช่นกัน สิ่งเหล่านี้คนในท้องที่ถ้าช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งตำรวจ ควบคุมตัวคนแผลงๆ พวกนี้ดำเนินการตามกฎหมายน่าจะช่วยให้ประเพณีนี้เป็นสิ่งสวยงามของทางภาคเหนือและดำเนินต่อไปได้

             ดังนั้น ขอความกรุณา ลองนึกดูว่าถ้ามีญาติพี่น้องคนรู้จักอยู่ในเครื่องแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น เราอาจจะเสียใจแต่ก็คงสายไปเสียแล้ว โคมลอยพิสดารเนี่ย หากใครเห็นหรือรู้ว่ามีการจะใช้ ช่วยๆ กัน เตือนกัน ถ้าไม่ฟังให้บอกตำรวจ เพราะเห็นว่าจะเห็นผลได้ดีที่สุดนะ

             ขณะเดียวกันอีกมุมมองหนึ่งในฟากของผู้ผลิตโคมรายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาโต้ในเรื่องโคมดัดแปลงติดถังแก๊สไม่น่าเป็นไปได้
            
             นิกร วงศ์วิราช เจ้าของร้านลุงทองโคมลอย ผู้จัดจำหน่ายโคมรายใหญ่ ใน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามข้อมูลว่ามีโคมลอยประดิษฐ์ที่ติดถังแก๊สนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะลอยในความสูงขนาด 2 หมื่นฟุตนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโคมลอยตามปกตินั้น จะมีน้ำหนักเบา วัสดุทั้งหมดประกอบด้วยแผ่นกระดาษบาง ไม้ไผ่ขนาดเล็ก รวมทั้งลวดขนาดเล็ก และเชื้อเพลิงเป็นกระดาษชำระชุบด้วยขี้ผึ้ง ไม่สามารถแบกน้ำหนักได้มาก การผลิตโคมแต่ละชิ้นนั้น คำนวณกันเป็นน้ำหนักกรัม หากลวดหนาไป หรือเชื้อเพลิงขี้ผึ้งมากเกินกว่าที่โคมรับไหวแม้แต่กรัมเดียวก็จะน้ำหนักเกินจนลอยขึ้นสู่ฟ้าไม่ได้
          
           “หากมีผู้ดัดแปลงโคมให้สามารถลอยขึ้นฟ้าด้วยเชื้อเพลิงจากถังแก๊ส โคมดังกล่าวก็จะต้องมีขนาดที่ใหญ่ยักษ์ อาจจะใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 10 เมตร จึงจะสามารถรับน้ำหนักได้ หากจะเป็นไปได้อาจจะประดิษฐ์จากว่าวควันที่จัดประกวดในเทศกาลยี่เป็ง ซึ่งเป็นโคมที่มีขนาดใหญ่ แต่ตามปกติแล้วจะใช้การอัดควันและความร้อนเข้าไปให้สามารถลอยได้ในเวลากลางวัน ซึ่งปกติแล้วว่าวควันจะไม่มีโครงไม้หรือโครงลวด จึงไม่น่าจะมีสิ่งใดผูกรั้งถังแก๊สได้ รวมทั้งหากปล่อยขึ้นฟ้าได้จริงด้วยขนาดใหญ่จะต้องมีผู้พบเห็นเป็นพยานจำนวนมาก ผมนึกภาพไม่ออกว่า โคมดัดแปลงที่ว่านั้นจะมีรูปร่างเป็นแบบใด"

             ทั้งนี้ สินค้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) กำหนดให้ใช้เชื้อเพลิงที่ทำจากกระดาษชำระชุบขี้ผึ้งอยู่ 3 ขนาด คือขนาดเล็กมีขนาดไม่เกิน 25 กรัม ขนาดกลางไม่เกิน 45 กรัม และขนาดใหญ่ไม่เกิน 55 กรัม ส่วนโคมลอยขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 70 เซนติเมตร โดยจะเผาไหม้ในอากาศไม่เกิน 6-8 นาที เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โคมลอยสูงขึ้นกระทบการบิน อีกทั้งวัสดุที่ใช้ในการทำโคมลอยที่โครงของโคมลอยจะทำด้วยไม้ไผ่และใช้ลวดผูกเป็นส่วนประกอบนั้น เส้นลวดจะต้องผูกด้วยเส้นด้ายด้วยเพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต เมื่อโคมไฟตกมาติดกับสายไฟฟ้า

http://www.komchadluek.net/detail/20151125/217444.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่