Return of "J" dee.

'กลุ่มสุขุมวิทยา' เปิดปฏิบัติการดัน หุ้นตระกูล J 'เจเอเอส แอสเซ็ท' เข้าตลาดต่อ JMT 'นงลักษณ์ ลักษณะโภคิน'ย้ำ'สามธุรกิจหลัก' พารายได้โต้โต20%
หลัง 'ตระกูลสุขุมวิทยา' นำพา บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2552 จนสามารถขึ้นแท่น 'หุ้นห่านทองคำ' ประจำพอร์ตเซียนหุ้นรุ่นใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' 'พรีนาถ โชควัฒนา' 'ขาว-ณภัทร ปัญจคุณาธร' หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าแห่งประเทศไทย 'วราณี เสรีวิวัฒนา' ภรรยา 'ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา' และ'หมอบำรุง ศรีงาน' เป็นต้น

ผ่านมาถึงปี 2555 'อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' ในฐานะหุ้นใหญ่ JMART ปฏิบัติการดัน บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ซึ่ง JMART ถือหุ้นอยู่ 55.88% เข้าตลาดหุ้นเป็นตัวต่อไป แม้ความสวยของหุ้น JMT จะถูกใจขาใหญ่เพียงรายเดียว นั่นคือ 'วราณี เสรีวิวัฒนา'
แต่ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนขนาดใหญ่และเซียนหุ้นคนดัง พร้อมใจกันเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน JMT ที่บริษัทเสนอขายให้นักลงทุนในวงจำกัดราคาหุ้นละ 14.20 บาท นำทีมโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS และ 'นเรศ งามอภิชน' เสนอซื้อฝั่งละ 18 ล้านหุ้น

ล่าสุด 'กลุ่มสุขุมวิทยา' ตัดสินใจนำ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ผู้ประกอบการบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง JMART ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 67.5% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นตัวที่สาม ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 120 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.77 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้น JMART ไม่เกิน 48.156 ล้านหุ้น คิดเป็น 40% ของหุ้นที่เสนอขาย ที่เหลือจะขายให้กับประชาชนทั่วไปไม่น้อยกว่า 72.234 ล้านหุ้น

สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้น JMART ที่จะได้สิทธิในการจองซื้อหุ้น J ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Right) ในสัดส่วนการใช้สิทธิที่ 10.89 หุ้น JMART ต่อสิทธิการจองซื้อ 1 หุ้นไอพีโอ รวมไม่เกิน 48.156 ล้านหุ้น

เช่น 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' 'พีรนาถ โชควัฒนา' 'วราณี เสรีวิวัฒนา' 'ขาว-ณภัทร ปัญจคุณาธร' และ 'นพ.สมยศ อนันตประยูร' เป็นต้น (รายชื่อ ณ วันปิดสุมดทะเบียน 9 ก.ย.2558)

'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' เซียนหุ้นเทคนิคประจำ บล.เอเซีย พลัส ยืนยันกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ว่า ผมจะใช้สิทธิจองซื้อหุ้น J จำนวน 1 ล้านกว่าหุ้น และจะซื้อหุ้นเพิ่มอีก 1 กว่าล้านหุ้น หลังได้รับการจัดสรรผ่านมาทางบล.เอเซีย พลัส สำหรับนโยบายการลงทุนหุ้น J คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะ ส่วนตัวมองว่า ปัจจุบันธุรกิจของ 'เจเอเอส แอสเซ็ท' ยังมีขนาดเล็ก ซึ่งในอนาคตมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันการมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น JMART จะช่วยสนับสนุนให้กิจการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ฉะนั้นหากบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผน เชื่อว่าผลประกอบการคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

'การเข้าจดทะเบียนในครั้งนี้ จะทำให้ J เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น'

บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท ก่อตั้งเมื่อปี 2555 จากแผนกเล็กๆ เมื่อ 15 ปีก่อน กลายเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการขยายตัวก้าวกระโดดทุกปี โดยปี 2555-2557 บริษัทมีรายได้ 211 ล้านบาท 348 ล้านบาท และ 450 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ 1.บริหารพื้นที่เช่า ภายในศูนย์การค้าในส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ “IT Junction” สาขาแรกเปิดเมื่อปี 2543 ในห้างบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดนครปฐม

ณ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทมีโครงการบริหารพื้นที่ในรูปแบบ IT Junction จำนวน 43 สาขา คิดเป็นพื้นที่ให้เช่ารวม 10,159 ตร.ม.ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพและปริมณฑล และจังหวัดสำคัญทั่วประเทศไทย

2.การพัฒนาและบริหารพื้นที่ในรูปแบบตลาดชุมชน ภายใต้ชื่อ “J Market” ล่าสุดบริษัทมีจำนวนตลาดชุมชน ภายใต้ชื่อ J Market จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ J Market @ อมรพันธ์ เกษตร J Market ราษฏร์พัฒนา และ J Market ไทรม้า พื้นที่รวม 6,121 ตร.ม.และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ J Market ลาดปลาเค้า (โครงการ J.Night) โดยจะมีรูปแบบเป็นตลาดนัดกลางคืน ซึ่งมีกำหนดเปิดประมาณไตรมาส 3 ของปี 2558

3.การพัฒนาและบริหารพื้นที่ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) ภายใต้ชื่อ “The Jas” โดยเมื่อเดือนพ.ย.2557 บริษัทได้เปิดโครงการ The Jas วังหิน ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา คิดเป็นพื้นที่ให้เช่า 5,750 ตร.ม.ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ The Jas รามอินทรา

'ผู้นำในการบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าและเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์' 'นงลักษณ์ ลักษณะโภคิน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ยืนยันเป้าหมายสำคัญของบริษัท

สำหรับแผนธุรกิจ 'การบริหารพื้นที่เช่า ภายในศูนย์การค้าในส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ IT Junction' ปัจจุบันทั้ง 43 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 60% ต่างจังหวัด 40% ได้สร้างรายได้หลักให้บริษัทมากถึง 85%

เราตั้งใจจะขยายสาขาไม่น้อยกว่า 8 แห่งต่อปี โดยจะขยายเข้าไปใน 'บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์' ที่มีอยู่ 120 แห่ง ปัจจุบันเพิ่งเข้าไปบริหารพื้นที่ในบิ๊กซีเพียง 40 แห่งเท่านั้น เป้าหมายสำคัญ คือ 'ต้องกำไรตั้งแต่วันแรก'

สำหรับกุญแจสำคัญที่จะทำให้ 'IT Junction' ประสบความสำเร็จ คือ พื้นที่เช่าของเราต้องมีความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ความแตกต่างที่ว่า คือ ลูกค้าที่เช่าพื้นที่ไม่ต้องสต็อกสินค้า แต่ JMART ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ทำกิจการขายมือถือจะเป็นผู้สต็อกสินค้าให้เอง
ที่สำคัญเราจะขายสินค้าในราคาส่งให้กับลูกค้าที่เช่าพื้นที่ของเรา โดยบริษัทจะการันตีว่า 'ถ้าซื้อสินค้าที่อื่นได้ราคาถูกกว่า เรายินดีคืนเงินให้ลูกค้า 2 เท่า'

'บริษัทจะใช้คอนเน็ตชั่นที่ดีของ JMART มาช่วยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับผู้เช่า โดยเมื่อปีก่อนมีการจัดกิจกรรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600 ครั้ง'

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าต่อว่า ส่วน 'งานพัฒนาและบริหารพื้นที่ในรูปแบบตลาดชุมชน ภายใต้ชื่อ J Market' ปัจจุบันตลาดนัดชุมชน 4 สาขา สร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 4-5% ซึ่งตลาดนัดชุมชน ลาดปลาเค้า พื้นที่ 10 ไร่ ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถแบ่งล็อกได้ 600 ล็อก ซึ่งสามารถวางขายสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ เช่น วางขายในเต้นท์ หรือภายในห้อง เป็นต้น

บริษัทตั้งใจจะขยายตลาดนัดชุมชนปีละ 1-2 แห่ง ซึ่งแต่ละสาขาต้องสร้างรายได้ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี โดยโมเดลการขยายตลาดจะเน้นรูปแบบความเป็นตลาดชุมชนเหมือนเดิม โดยเราจะมีทั้งผู้เช่ารายวันที่ต้องมาต่อแถวเช่าพื้นที่ก่อน 5 โมงเย็น ,ผู้เช่ารายเดือน และผู้เช่ารายปี ซึ่งผู้เช่ารายปีเราจะให้เฉพาะผู้ที่มีธุรกิจที่น่าสนใจเท่านั้น

สาเหตุที่บริษัทสนใจทำตลาดนัดชุมชนเป็นเพราะรูปแบบนี้จะมีเม็ดเงินผ่านเข้ามาค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายทำแล้วอาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีระบบการจัดการที่ดี ทำให้ไม่สามารถขยายสาขาเพิ่มเติมได้ ซึ่งเมื่อเราลงมือทำ ก็สามารถขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง

'เรามีการบริหารจัดการพื้นที่เช่าเป็นระบบ มีวิธีตามเก็บเงิน และมีระบบการทำสัญญา ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทจนทำให้ผลประกอบการขยายตัวรวดเร็ว'

เธอ เล่าต่อว่า สำหรับ 'การพัฒนาและบริหารพื้นที่ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน ภายใต้ชื่อ The Jas' แม้ปัจจุบันจะสร้างรายได้ให้บริษัทเพียง 11% แต่ถือเป็นกิจการที่สร้างอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50% ตามแผนต้องการขยายสาขาใหม่ปีละ 1 แห่ง มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 40 ล้านบาท
ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ส่วนใหญ่อยากใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆที่พักอาศัย เมื่อความต้องการเปลี่ยนไป เราจึงตัดสินใจลงทุนสร้าง Community Mall เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ล่าสุดมีสาขา 2 แห่ง โดยสาขาแรก คือ The Jas วังหิน ถือเป็นสาขาที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เห็นได้จากอัตราการเช่าพื้นที่ที่อยู่ในระดับ 96% ส่วนสาขาที่ 2 คือ The Jas รามอินทรา กม.2

'จุดเด่น' ของ The Jas คือ เรามีพันธมิตรที่ดีเป็น 'แม่เหล็ก' ในการดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ โดยจะทำสัญญาร่วมกัน 10 ปี เช่น ซูปเปอร์มาร์เก็ตท็อปส์ , สตาร์บัคส์ ,MK และ Yayoi เป็นต้น ปัจจุบันเรายังคงมองหาพันธมิตรที่มีความมั่นคง และตรงตามความต้องการของลูกค้าต่อไป

ตามแผนงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) สัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า 60% ธุรกิจบริหารพื้นที่ในรูปแบบตลาดชุมชน 20% และธุรกิจศูนย์การค้าชุมชน 20% เราตั้งเป้าหมายจะขยายสาขาทั้ง 3 กิจการให้ได้ 100 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 49 สาขา

'รายได้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 20% นั่นคือ เป้าหมายของเรา'

'นงลักษณ์' ทิ้งท้ายว่า สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวน 333 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ 233 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และนำไปชำระคืนเงินกู้ยืม 100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง จากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ที่มีอัตราหนี้สินต่อทุน 1.73 เท่า

'ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาการเข้าไปบริหารพื้นที่เช่าในต่างประเทศ ปัจจุบัน JMART ได้นำร่องออกไปลงทุนในประเทศพม่าแล้ว'

source: http://bit.ly/1HeGh8l

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่