ขวัญใจคนจน ถูกผลักไปอยู่ต่างประเทศ

จันทร์วันนี้ 09.00-12.00 น. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์

“การเสริมสร้างศักยภาพการบริหารในบริบทอาเซียนของผู้บริหารอปท.”  

   ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1946 พันเอกฮวน โดมิงโก เปรอน ได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างท่วมท้น ในอดีตไม่เคยมีใครสนใจคนชั้นล่างของสังคม พวกเกษตรกรและกรรมกรถูกพรรคการเมืองในอดีตหลอกซ้ำซาก แต่เปรอนเป็นคนแรกที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ที่ดิน ขึ้นค่าแรง และให้ความมั่นคงทางสังคมแก่ผู้คนชนชั้นที่เคยถูกกดขี่จากนักการเมืองชนชั้นสูง

เปรอนจึงได้คะแนนจากประชาชนคนรากหญ้าอย่างท่วมท้น ได้เป็นประธานาธิบดี ในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคเปรอนก็ได้ที่นั่งมากถึง 2 ใน 3 ส่วน ส.ว.นั้น พรรคเปรอนกวาดเกือบเกลี้ยง ทิ้งไว้ให้พรรคอื่นเพียงแค่ 2 ที่นั่งเท่านั้น

ความเป็นไปในอาร์เจนตินาราบรื่นมาก คนยากจนแฮปปี้มีความสุข กระทั่งทศวรรษ 1950 การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ต้องซื้อน้ำมันต่างประเทศมาก ตามด้วยภัยแล้งที่ทำให้ไม่มีน้ำทำเกษตรได้เลย ตอนนั้น รัฐบาลไม่รู้จะแก้ไขสถานการณ์ยังไง ทางเดียวที่พอนึกออกคือ กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกามากระตุ้นเศรษฐกิจ

ประเทศก็เหมือนคนนะครับ ยิ่งไม่มีทางไป ก็ยิ่งถูกเอาเปรียบ เพราะต้องการน้ำมันมาใช้ในการอุตสาหกรรม พวกบริษัทน้ำมันต่างประเทศก็ยิ่งบังคับอาร์เจนตินาทำสัญญาที่เสียเปรียบอย่างมาก สถานการณ์เศรษฐกิจจึงเริ่มแย่ลง ค่าครองชีพสูงขึ้นถึงร้อยละ 200 พวกกรรมกรที่เคยชอบรัฐบาลเปรอน บางกลุ่มก็เริ่มมองเปรอนลบ แถมเปรอนยังไปขัดแย้งกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทำให้ถูกฝ่ายศาสนจักรต่อต้าน

ทหารอาร์เจนตินาเห็นโอกาสที่ฝ่ายตัวเองจะได้อำนาจ ก็ส่งคนของตนไปก่อจลาจลต่อต้านเปรอนในเดือนกันยายน ค.ศ.1955 จลาจลในครั้งนั้น ทำให้มีคนตายไปตั้ง 4,000 คน แต่ทหารบอกว่าคุ้ม เพราะทำให้เปรอนต้องลาออกและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

เปรอนถูกพวกทหารและชนชั้นสูงของอาร์เจนตินากีดกันไม่ให้เข้ามาในประเทศอยู่นานถึง 18 ปี ในห้วงช่วง 18 ปีที่อยู่ต่างประเทศนั้น ประชาชนคนชั้นล่างก็ยังถวิลหาแต่เปรอน เพราะตอนมีอำนาจเปรอนช่วยคนจน เปรอนทำให้คนชั้นล่างลืมตาอ้าปากได้

ในห้วงช่วง 18 ปีที่เปรอนอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลทหารและพลเรือนก็หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองประเทศ ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารหรือพลเรือน ต่างก็ก้าวข้ามเปรอนไม่พ้น ต่างยังต้องพยายามหาคะแนนด้วยการพูดถึงเรื่องความชั่วร้ายของประชานิยมของเปรอน ทหารต้องการปฏิบัติการจิตวิทยา รณรงค์ให้คนจนเลิกบูชาเปรอนให้ได้ แต่ไม่ได้ผลครับ วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป ยิ่งนานเท่าใด ความถวิลหาเปรอนก็ยิ่งมีมากขึ้น

รัฐบาลทหารและพลเรือนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาบริหารประเทศโดยด่าเปรอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ มิหนำซ้ำผู้คนยังตกงานเพิ่มมากขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น

สุดท้ายรัฐบาลทหารและพลเรือนก็ต้องทำแบบเดียวกันกับที่เปรอนเคยทำ คือต้องไปกู้เงินจากไอเอ็มเอฟเอามาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ตอนจะทำจลาจลล้มเปรอน ทหารใช้พลเรือนที่เป็นติ่งทหารออกมาเตือนประชาชนให้ระวังเปรอนจะให้บริษัทน้ำมันของต่างชาติเข้ามาลงทุนขุดเจาะน้ำมัน

เปรอนโดนด่าเรื่องให้ต่างชาติมาขุดเจาะน้ำมัน (ทั้งที่ความจริง ไม่เคยทำ) แต่ผู้ที่อนุมัติกลับเป็นรัฐบาลทหารที่หาคะแนนด้วยการด่าเปรอนเป็นรายวันนั่นแหละครับ

ในห้วงช่วงเวลา 18 ปี ทหารก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรวย ทหารชุด A รวยสะดือปลิ้นแล้ว ก็ลงจากอำนาจ ให้ทหารชุด B ขึ้นมารวยสะดือปลิ้นต่อ

พอเศรษฐกิจแย่สุดๆ ทหารก็ให้รัฐบาลพลเรือนติ่งทหารขึ้นมาสองสามปี แล้วก็เอาลง ทหารชุด C ก็ขึ้นมาโกยความมั่งคั่งต่อ วนแบบนี้จนอาร์เจนตินาอ่อนล้าเต็มที

มองไปในแผ่นดิน 2,780,400 ตารางกิโลเมตรของอาร์เจนตินา ทุกตรอกซอกมุมมีแต่ความยากจน เมื่อประเทศมีแต่หนี้สินพะรุงพะรัง ทหารก็ไม่เอาแล้ว พรรคพลเรือนติ่งทหารก็ไม่เอาแล้วนั่นแหละ จึงยอมคนรากหญ้าได้ไปเชิญเปรอนกลับมากู้ประเทศ

เปรอนได้กลับประเทศใน ค.ศ.1973

กลับมาแล้วเป็นยังไง ขออนุญาตกลับมารับใช้ในวันพรุ่งนี้ครับ.

http://www.thairath.co.th/content/537922

" Don't Cry For Me Argentina "  ---  Madonna

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่