แต่ละประเทศ เอาผิดคณะรัฐประหารอย่างไร?



by Prach Panchakunathorn
3 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:43 น.

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/world/74303.html

ไปย้อนรอยดูความพยายามเอาผิดเหล่านายทหารที่ก่อรัฐประหารในประเทศต่างๆ กัน  จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีปากีสถาน แถลงว่า รัฐบาลปากีสถานเตรียมฟ้องร้องเอาผิด อดีตประธานาธิบดี ที่ก่อรัฐประหารแล้วปกครองปากีสถานแบบเผด็จการนาน 7 ปี การฟ้องร้องนี้จะเป็นครั้งแรกของปากีสถาน ที่ผู้ก่อรัฐประหารสำเร็จจะต้องขึ้นศาล

นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายนาวาส ชารีฟ กล่าวว่า พล.อ.เปอร์เวซ มูชาราฟ อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน จะถูกฟ้องข้อหากบฏ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า พล.อ.มูชาราฟ ยังเป็นที่ยอมรับนับถือในกองทัพ และหากเขาถูกขึ้นศาลจริง กองทัพของปากีสถานซึ่งมีอิทธิพลในการเมืองสูง ก็อาจไม่อยู่เฉย


แต่ในอดีตที่ผ่านมา ก็มีหลายประเทศที่กองทัพมีอำนาจมาก แต่รัฐบาลก็ยังกล้าหาญพอจะต่อสู้เพื่อขังกองทัพไว้ในกรมกอง ไม่ให้ออกมาก่อรัฐประหารได้อีก


ในอาร์เจนตินา กองทัพก่อรัฐประหารในปี 2519 และปกครองแบบเผด็จการอยู่นาน 7 ปี แต่ใน พ.ศ. 2538 รัฐบาลพลเรือนได้จัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนผู้ก่อรัฐประหารขึ้นมา และฟ้องศาล มีนายทหารอาร์เจนตินาถูกฟ้องร้องทั้งหมดกว่า 300 นาย


แต่หลังจากนั้น กองทัพก็ขู่รัฐบาล ว่าจะก่อรัฐประหารอีกครั้ง และบังคับให้รัฐบาลผ่านกฎหมายคุ้มครองคณะรัฐประหารไม่ให้มีความผิด


อย่างไรก็ดี 8 ปีต่อมา รัฐสภาอาร์เจนตินา ออกกฎหมายมาลบล้างกฎหมายที่คุ้มครองคณะรัฐประหารนั้น และเริ่มดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารอีกครั้ง ในที่สุดหัวหน้าคณะรัฐประหารถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนายทหารอีก 3 คนในคณะรัฐประหารถูกจำคุกตั้งแต่ 4 ปีครึ่ง ไปจนถึง 17 ปี ตามแต่ความผิดของแต่ละคน


ในประเทศกรีซ กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2510 และปกครองประเทศเป็นเวลา 7 ปี แต่หลังจากที่เผด็จการทหารสิ้นสุดลง รัฐบาลพลเรือนของนายคอนสแตนติโนส คารามาลิส ก็ถูกกดดันให้ดำเนินคดีกับคณะรัฐประหาร โดยเริ่มจากการออกกฎหมายลบล้างบทนิรโทรกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร


สื่อของกรีซ ณ ขณะนั้นยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีกับ พลจัตวา ดิมิทริโอส  อิโออานนิดิส ซึ่งสื่อเรียกว่า "นักเผด็จการที่มองไม่เห็น" หรือ "The Invisible Dictator" เพราะเป็นผู้ร่วมวางแผนรัฐประหาร แต่อยู่เบื้องหลัง


คณะนายทหารผู้ก่อรัฐประหาร รวมทั้ง พลจัตวา อิโออานนิดิส ถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศ และไต่สวนสาธารณะ ในที่สุดกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหาร รวมทั้ง "นักเผด็จการที่มองไม่เห็น" ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่รัฐบาลของนายคารามาลิส ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต


ในเกาหลีใต้ พล.อ.ชุน ดูฮวาน อดีตผู้นำคณะรัฐประหารและผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ ก็ถูกตัดสินลงโทษแล้ว   พล.อ.ชุน ดูฮวาน อยู่ในอำนาจ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2523 ระหว่างนั้นเขาได้สั่งปิดล้อมเมืองกวางจู และสังหารผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยไปประมาณ 165 คน


แต่หลังจากลงจากอำนาจได้ 16 ปี รัฐบาลพลเรือนของนายคิม ยังซัม ได้ผ่านกฎหมายลบล้างกฎหมายที่ พล.อ.ชุน ได้ออกไว้ หลังจากนั้น พล.อ.ชุน พร้อมพวกอีก 15 คน ถูกจับขึ้นไต่สวนข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด พล.อ.ชุน ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่รัฐบาลของนายคิม ยังซัม อภัยโทษให้  ส่วนนายทหารที่ได้เลื่อนยศจากการล้อมปราบผู้ประท้วงในเมืองกวางจู ถูกถอดยศคืนทั้งหมด


ตุรกีเป็นประเทศล่าสุดที่เอาผิดกับคณะรัฐประหารสำเร็จ กองทัพตุรกีทำรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้ง ในปี 2503, 2514 และ 2523 และพยายามวางแผนทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2546


แต่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีอับดุลเลาะห์ กูล และนายกรัฐมนตรีเรเซป ตอยิป แอร์โดกัน ได้แก้รัฐธรรมนูญ โดยประกาศให้บทนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหารนั้นเป็นโมฆะ และนำผู้ก่อรัฐประหารเข้ากระบวนการยุติธรรม


เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ศาลตุรกีได้ตัดสินลงโทษนายทหารกว่า 300 คน ข้อหาวางแผนก่อรัฐประหารเมื่อปี 2546 ในจำนวนนี้มี อดีตผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่เกษียณอายุแล้ว ถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่ได้ลดโทษเหลือ 20 ปี


ทั้งอาร์เจนตินา กรีซ เกาหลีใต้ และตุรกี ล้วนเป็นประเทศที่เคยเกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่หลังจากเอาผิดคณะรัฐประหารได้แล้ว อาร์เจนตินา กรีซ และเกาหลีใต้ ก็ไม่เคยเกิดรัฐประหารอีก


ในตุรกี อาจจะยังเร็วไปที่จะตัดสิน เพราะคณะรัฐประหารเพิ่งถูกตัดสินจำคุกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่กระนั้นก็ตาม สื่อต่างชาติหลายแห่งก็เริ่มมองว่าการตัดสินครั้งนั้นได้พาตุรกีออกจากวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารแล้ว


ปากีสถานก็สามารถหยุดวงจรรัฐประหารได้เช่นกัน หากรัฐบาลนายชารีฟ กล้าหาญพอจะเผชิญหน้ากับกองทัพ ในนามของประชาธิปไตย




จากตรงนี้ เห็นได้ว่า การก้าวลงอย่างสง่างาม ของคณะรัฐประหาร มีหลายวิธี
การแก้กม.ล้างผิดเป็นวิธีหนึ่ง
การมีกฎหมายคุ้มครองรัฐประหารก็มี
การออกพรบ นิรโทษก็มี **ของไทยก็หลายหนอยู่
ฯลฯ


ขอความร่วมมืองดวิจารณ์ ตัวบุคคล หรือคณะบุคคล
เพื่อไม่เป็นสาเหตุ ของการอุ้มกระทู้


ขอบคุณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่