แถลงการณ์ พท. ค้านระบบ ลต.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ชี้ ไม่เป็นสากล

กระทู้ข่าว
แถลงการณ์เพื่อไทย ค้านระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ชี้ ไม่เป็นสากล ระบุ สร้างปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา เพราะไม่สะท้อนเจตนารมณ์แท้จริงของ ปชช. หนุนใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม ตาม รธน. 2540 หรือ 2550
          ตามที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดที่จะนำระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” มาใช้ โดยกำหนดมี ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ แต่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยจะนำคะแนนของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปคำนวณ เพื่อหาจำนวนที่นั่งของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ส่วนคะแนนที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะถูกตัดทิ้ง ไม่นำมาคำนวณในส่วนของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เคยมีใช้มาก่อนในประเทศใด
          พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
          1. การพิจารณาว่าจะนำระบบการเลือกตั้งแบบใดมาใช้นั้น ควรต้องพิจารณาปัจจัยด้านต่างๆ และผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้าน เช่น โอกาสและความเท่าเทียมกันของพรรคการเมือง ในการส่งผู้สมัคร ความต้องการของประชาชน ความมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ต้องเป็นระบบที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนโดยส่วนรวมมากที่สุด ไม่ใช่ระบบที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
          2. เมื่อ กรธ.กำหนดให้มี ส.ส. สองประเภท ก็ควรให้ประชาชนได้แสดงเจตนาในการเลือกตั้ง ตามประเภทของ ส.ส. และวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งแต่ละประเภท ดังกล่าว แต่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้เลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองไปพร้อมกัน จึงไม่อาจทราบถึงความต้องการของประชาชนได้ว่าที่ลงคะแนนไปนั้น ประสงค์จะเลือกผู้สมัครหรือเลือกพรรคการเมือง จึงเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ที่ประสงค์ที่จะเลือกผู้สมัครที่ตนรัก และเลือกพรรคที่ตนชอบ หรือประสงค์จะเลือกพรรค แต่ไม่ประสงค์จะเลือกตัวบุคคล เพราะในทางปฏิบัติประชาชนอาจไม่ชอบผู้สมัคร แต่ชอบพรรค ชอบพรรคแต่ไม่ชอบผู้สมัคร ระบบนี้จึงไม่ได้สะท้อนความต้องการอันแท้จริงของประชาชน
          3. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่า ผู้เลือกตั้งต้องการสนับสนุนตัวบุคคล หรือพรรค การตัดคะแนนผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งในเขตทิ้งไป และนำเฉพาะคะแนนของผู้สมัครที่แพ้เลือกตั้งไปคำนวณจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเสียมากกว่า ประชาชนอาจเลือกผู้สมัครแต่ไม่เลือกพรรค เลือกพรรคแต่ไม่เลือกผู้สมัคร หรือเลือกทั้งพรรคและผู้สมัคร แต่คะแนนที่เลือกพรรคกลับถูกตัดทิ้งไป ข้ออ้างที่ว่าเคารพทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกจึงไม่จริง ระบบนี้จึงไม่มีความเป็นธรรม และที่น่าเป็นห่วงมาก คือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งในระบบเขตมีจำนวน ส.ส.มาก อาจไม่ใช่พรรคเสียงข้างมากในสภา เพราะถูกตัดคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อออกไปหมด
          4. ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 นั้น ได้เคยนำมาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งประชาชนมีความคุ้นเคย และออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นตลอด ซึ่งระบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขต และการคิดคะแนน ก็สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจนว่า จะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองต่างก็แข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น แต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่นำเสนอนั้น ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่า จะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง อันผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้ง และระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองไม่ต้องแข่งขันกันด้านนโยบายมากนัก เพราะถึงจะแพ้การเลือกตั้งก็นำคะแนนที่แพ้มาคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้อยู่แล้ว
          5. ระบบจัดสรรปันส่วน (APPORTIONMENT) ไม่ใช่ระบบสัดส่วน (PROPORTIONAL REPRESENTATION) ซึ่งเป็นระบบที่แท้จริงในการสะท้อนทุกคะแนนไม่ให้สูญเปล่า เพราะจะนับคะแนนที่ประชาชนลงคะแนนให้แต่ละพรรค (POPULAR VOTES) แล้วคำนวณที่นั่ง ส.ส.ตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้มาทั้งประเทศ ดังนั้นระบบจัดสรรปันส่วนจึงไม่ให้ความเป็นธรรม และสะท้อนความนิยมของพรรคอย่างแท้จริง
          6. ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ได้ส่งผลให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อใช้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็ยิ่งจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ง่ายขึ้น ต่างจากระบบผสมที่กำหนดให้การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ นอกจากนี้ การซื้อสิทธิขายเสียงจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการทางกฎหมาย และองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้ง
          7. กรธ. ตั้งใจว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล แต่ระบบจัดสรรปันส่วนไม่เป็นสากล และ กรธ.น่าจะ ฉุกคิดได้ว่าทำไมประเทศแม่แบบประชาธิปไตย และประเทศที่เจริญทั้งทางวัตถุและการเมือง จึงไม่ใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้ง การกล่าวอ้างว่าไทยไม่จำเป็นต้องลอกตำราฝรั่งนั้น ต้องถามว่าระบบรัฐสภา องค์กรอิสระ การแบ่งแยกอำนาจ สิทธิเสรีภาพประชาชน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การยุบสภา การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เราคิดเองหรือนำองค์ความรู้มาจากต่างประเทศ
          8. พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ปัญหาของการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ดี แต่เกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ปัญหาที่ผู้แพ้การเลือกตั้งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และใช้วิธีการเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้องค์กร และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นต้น ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่ใช้ในอดีตนั้นมีข้อดีมากกว่า แม้จะมีข้ออ้างว่า รัฐบาลเข้มแข็งเกินไป ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอลง แต่ควรไปแก้ที่สาเหตุของปัญหา เช่น เพิ่มระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้น สร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจให้เหมาะสม เป็นต้น
          พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ใช่เป็นระบบที่เป็นสากล และไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยและการเมืองไทยแต่อย่างใด เป็นระบบที่จะสร้างปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา ระบบที่ กรธ.จะนำมาใช้นั้น ยังไม่เคยใช้มาก่อน ควรต้องศึกษาผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ถ่องแท้ เนื่องจากประเทศชาติไม่ใช่เครื่องทดลองทางความคิดของ กรธ. ที่คิดอะไรได้ก็จะนำมาใช้ทันที ระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น ควรใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ตามรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และเปิดโอกาสให้เลือกทั้งคน และพรรค โดยไม่ตัดคะแนนใดๆ ที่ประชาชนมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่แพ้เลือกตั้งหรือที่ชนะเลือกตั้งก็ตาม
          พรรคเพื่อไทย
          5 พฤศจิกายน 2558

          ที่มา: http://www.thairath.co.th
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่