การใช้ยาต้านไวรัส ร่วมกับ ยาต้านวัณโรค ในผู้ป่วยเอชไอวี

การระบาดของโรคเอดส์และวัณโรคเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขของหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยซึ่งพบอุบัติการณ์ของโรควัณโรคสูง วัณโรคเป็นเชื้อฉวยโอกาสที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ไวรัสสาเหตุของโรคเอดส์) ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัดเจนหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศและพบจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น สูตรยารักษาวัณโรคในปัจจุบันประกอบด้วยยา 4 ชนิดโดยจะต้องรับประทานเป็นเวลานาน 6 เดือน ส่วนการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ยา 3 ชนิดร่วมกันเพื่อประกอบเป็นสูตรยาในการรักษา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์มีอัตราการเสียชีวิตลดลงกว่าร้อยละ 80 และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องไปตลอดจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนบุคคลทั่วไป
ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นวัณโรคร่วมด้วยและมีระดับภูมิคุ้มกันที่บกพร่องมากโดยดูจากปริมาณเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ในร่างกายที่ลดลงควรจะได้รับยาต้านไวรัสหลังจากที่ผู้ป่วยทนต่อยารักษาวัณโรคได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วมกับวัณโรคนั้นค่อนข้างจะซับซ้อนเพราะยาต้านไวรัสมีปฏิกิริยากับยารักษาวัณโรคที่มีชื่อว่าไรแฟมปิซินซึ่งใช้เป็นยาหลักตัวหนึ่งในสูตรยาวัณโรค 4 ชนิดที่ใช้การรักษา ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ยาวัณโรคนี้ส่งผลให้ปริมาณยาต้านไวรัสบางตัวที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปมีระดับลดลง และนำไปสู่ประสิทธิภาพการรักษาที่ด้อยลงอย่างมากทำให้เกิดการดื้อยาจนต้องมีการใช้ยาสูตรสำรองซึ่งมีราคาสูงมาก

ผู้วิจัยและคณะได้ดำเนินการวิจัยในเชิงลึกเพื่อศึกษาสูตรยาและขนาดของยาต้านไวรัสที่เหมาะสมที่สุดในกรณีที่ต้องทำการรักษาสองโรคนี้ไปพร้อมๆ กัน โดยมีวัตถุประสงค์คือ ศึกษาประสิทธิผลและระดับของยาต้านไวรัสในเลือดระหว่างสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ 2 สูตรซึ่งเป็นยาสองสูตรหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยเอดส์ในประเทศ คือสูตรที่มียาอีฟาวิเรนซ์เป็นส่วนประกอบเปรียบเทียบกับสูตรยาที่มีเนวิราพีนเป็นส่วนประกอบ ในผู้ป่วยเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องอย่างมากและกำลังได้รับยาต้านวัณโรคที่มียาไรแฟมปิซินเป็นส่วนประกอบ
  
การดำเนินงานและผลงานวิจัย
โครงการนี้ได้ทำการเปรียบเทียบผลการรักษาเอชไอวีและระดับของยาต้านไวรัสเอชไอวีในเลือดระหว่างสูตรยาต้านไวรัสที่มีอีฟาวิเรนซ์ขนาด 600 มก.ต่อวัน เปรียบเทียบกับยาสูตรที่มีเนวิราพีนขนาด 400 มก.ต่อวัน ในผู้ป่วยเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องอย่างมากและกำลังได้รับสูตรยาต้านวัณโรคที่มียาไรแฟมปิซินเป็นส่วนประกอบและยังไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อน โดยที่ทั้งสองกลุ่มจะได้รับยาต้านไวรัสเอดส์อีก 2 ชนิดเหมือนกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วว่ายาไรแฟมปิซินจะไปลดปริมาณยาต้านไวรัสในร่างกายลง โครงการนี้จึงได้มีการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของยาอีฟาไวเรนซ์และยาเนวิราพีนในเลือดที่ 1.5 เดือน และ 3 เดือนหลังเริ่มให้ยาต้านไวรัส ร่วมกับมีการเปรียบเทียบการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสโดยทำวัดปริมาณเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือดที่ลดน้อยลงในร่างกายทุกๆ 3 เดือน ทำการติดตามการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและผลการรักษาไปจนครบ 1 ปี

ผลการศึกษานี้เป็นการศึกษาวิจัยแรกในโลกที่ทำการศึกษาแบบเปรียบเทียบยาสองชนิดนี้อย่างเป็นระบบ randomized controlled trial) มีผู้ป่วยจำนวน 142 ราย ได้รับการคัดเลือกแบบสุ่มเพื่อที่จะทำการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน พบผู้ป่วยมีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากับ 53 กิโลกรัม เป็นเพศชายร้อยละ 67 เป็นวัณโรคนอกปอดและวัณโรคแพร่กระจายร้อยละ 40 และมีค่าเฉลี่ยของเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ที่ต่ำคือเท่ากับ 65 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับภูมิคุ้มกันที่บกพร่องอย่างมากหรือเป็นเอดส์ระยะท้ายของผู้ป่วยคนไทยขณะที่มีการติดเชื้อสองชนิดนี้ร่วมกันผลการวิจัยพบว่าการใช้สูตรยาต้านไวรัสที่มียาอีฟาไวเรนซ์เป็นส่วนประกอบนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าสูตรยาที่มีเนวิราพีนเป็นส่วนประกอบเมื่อต้องใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรค โดยประเมินและเปรียบเทียบจากสัดส่วนผู้ที่มีความเข้มข้นของยาต้านไวรัสในร่างกายที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้และผลการรักษาที่ 1 ปีผ่านไป ซึ่งพิสูจน์จากสัดส่วนผู้ป่วยที่มีความเข้มข้นของยาต้านไวรัสในร่างกายที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาเนวิราพีน (ร้อยละ 21) มีมากกว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาอีฟาไวเรนซ์ (ร้อยละ 3) และพบว่าปัจจัยนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะล้มเหลวของการรักษาเอชไอวีภายหลังหนึ่งปี โดยพบว่าผู้ที่ได้รับยาอีฟาไวเรนซ์มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะล้มเหลวของการรักษาน้อยกว่าผู้ที่ได้รับยาเนวิราพีน 3.6 เท่า

ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกใช้สูตรยาต้านไวรัสที่มียาอีฟาไวเรนซ์เป็นส่วนประกอบเป็นทางเลือกแรกให้กับผู้ป่วย และยังพบอีกว่าควรมีการปรับเพิ่มขนาดยาอีฟาไวเรนซ์จากปกติที่ขนาด 600 มก. ต่อวันเป็น 800 มก. ต่อวันในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากยารักษาวัณโรคและน้ำหนักตัวที่มาก อย่างไรก็ตามสูตรยาที่มียาเนวิราพีนเป็นส่วนประกอบก็ยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่สามารถทนต่อยาต้านไวรัสที่มียาอีฟาไวเรนซ์ได้ การติดตามการรักษาและการรับประทานยาที่สม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเน้นย้ำให้กับผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยสูตรใดก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการล้มเหลวในการรักษา และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปในอนาคต


การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
ผลการวิจัยนี้ทำให้สามารถให้คำแนะนำอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นครั้งแรกว่าควรเลือกยาต้านไวรัสสูตรที่มีอีฟาวิเรนซ์เป็นส่วนประกอบมากกว่าสูตรที่มีเนวิราพีนเป็นส่วนประกอบในกรณีที่มียาทั้งสองชนิดนี้ให้เลือกใช้ได้ในผู้ป่วยเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องอย่างมากและกำลังได้รับยาต้านวัณโรคที่มียาไรแฟมปิซินเป็นส่วนประกอบ การเลือกสูตรยาต้านไวรัสสูตรแรกที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพดีที่สุดจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตทำงาน และดูแลครอบครัวได้ตามปกติ ลดภาระให้กับครอบครัวและสังคม นอกจากนั้นยังลดโอกาสเกิดภาวะล้มเหลวของการรักษาจากการเกิดการดื้อยาต้านไวรัส ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการที่ต้องใช้ยาต้านไวรัสสูตรสองได้อย่างมาก

ผลการวิจัยยังสรุปได้ว่าควรมีการปรับขนาดยาให้สูงขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก ผลงานวิจัยที่เกิดจากโครงการนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติหลายฉบับ ได้แก่ วารสาร Clinical Infectious Diseases ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ระดับนานาชาติทางด้านโรคติดเชื้อที่มีค่าผลกระทบ (impact factor) สูงที่สุด (impact factor = 8.186) วารสาร AIDS (impact factor 6.931) วารสาร Antimicrobial Agents and Chemotherapy (impact factor 4.672) และวารสาร AIDS Research and Therapy (impact factor 1.77) นอกจากนั้นยังได้รับแจ้งจากทางบรรณาธิการว่าบทความหลักที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Infectious Diseases เป็นบทความที่ได้ถูกอ้างอิงสูงสุดบทความหนึ่งในรอบหนึ่งปีของวารสารอีกด้วย

ผลการวิจัยนี้ยังได้ถูกนำไปอ้างอิงในแนวทางการรักษาผู้ป่วยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น แนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ระดับชาติปี 2553 (national guideline on HIV/AIDS diagnosis and treatment 2010) ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับอีก 3 องค์กรได้แก่ สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยโดยเอกสารนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปยังโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วยเอดส์และต่อผู้ป่วยโดยตรง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก .trf.or.th

Report : LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่