แชร์ประสบการณ์ในออสเตรเลีย[Work and holiday story 2014]



[Work and holiday story 2014]ประสบการณ์ขุดทองในออสเตรเลีย



         ใครได้วีซ่าแล้วบ้างยกมือขึ้น!!! ยินดีด้วยค่ะ ผ่านด่านแรกมาแล้ว แต่ขอบอกว่าวีซ่าเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับการมาเริ่มต้นใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ สำหรับคนที่เลือกออสเตรเลียเชิญทางนี้เลยค่ะ เชิญมาอ่านกระทู้ดีๆ มีสาระ(เหรอ?)ของเราได้ที่นี่

            มาเหยียบเมลเบริ์นเมืองแห่งศิลปะ เราก็มีความใฝ่ฝันที่จะเดินสะพายกระเป๋าหลุยส์เที่ยวชมโบสถ์เซนต์แพททริก ล่องเรือโบทานิกการ์เด้น อาบแดดที่เซนต์คิลด้าสวยๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเลือกทำงานในMelbourne city จะได้เป็นสาวเมืองกรุงเริศๆ ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินบันเทิงใจเราก็ใช้เงินจนเกือบหมดอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่มีรายได้เข้ามาเลยสักบาท และแล้วเราก็ได้พบกับปัญหาที่ทุกคนได้เจอคือเข้าช่วงกระยิ้มกระสนหางานทำ แล้วจะทำอะไรดีล่ะ อยู่ไทยไม่เคยทำกับข้าว ภาษาอังกฤษก็งั้นๆ ไม่ได้จบhospitality นวดก็ไม่เป็น เลี้ยงเด็กก็ต้องมีwork with childrenตกลงไม่มีไรดีสักอย่าง -_-!

         เห็นเพื่อนทำร้านอาหาร ก็ลองสมัครร้านอาหารดูบ้าง ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งเพิ่งจะได้เริ่มเทรนงานเสริ์ฟในร้านอาหารไทย ถือเป็นอะไรที่วุ่นมากช่วงคนเยอะๆ ต้องท่องเมนู ต้องถือจานหนักๆ เดินเข้าออกครัวจนรองเท้าสึก ได้เงินค่าเทรนมา45$ ถ้าผ่านโปรก็จะได้เพิ่มเป็น55$ต่อชิฟ ถ้าได้ทำทุกวันก็ได้แค่ 385$ต่อวีค เงินเท่านี้ยังไม่ทันได้ช็อปปิ้ง แค่จ่ายค่าห้อง ค่ารถ ค่ากินก็หมดแล้ว พวกรุ่นพี่แนะนำว่าการทำร้านอาหารต้องได้งานชิฟเช้าด้วยถึงจะหาเงินได้ และกว่าจะหางานชิฟเช้าได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ หรือถ้าหากมีประสบการณ์มากพอก็จะได้อัพเงินเป็น 70-80$ในชิฟเย็น ถึงตอนนั้นก็จะเริ่มเก็บเงินได้

         แม่เจ้า!!! อีกกี่เดือนจะหางานชิฟเช้าได้ แล้วความฝันที่จะได้ท่องเที่ยวกับช็อปปิ้งรัวๆ ของเราล่ะ ศรีทนรอไม่ไหว รู้สึกว่างานร้านอาหารมันช่างจุกจิกวุ่นวาย ไม่เหมาะกับเราเลย และจู่ๆ ในหัวก็ปิ๊งงานอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา งานที่เด็กเวริ์คไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยถึง งานในตำนานที่เคยได้ยินแค่แว่วๆ ยังไม่เคยพบพานคนทำตัวเป็นๆ มาก่อน
         
          “งานฟาร์ม”

          คิดได้ก็ติดต่อหาน้าซึ่งเป็นลูกของเพื่อนของเพื่อนของป้าว่าเราจะไปย้ายไปอยู่บ้านนอกกับเค้าเพื่อไปทำฟาร์ม พอบอกพี่ที่ไซน์บ้านว่าจะย้ายออกไปทำฟาร์ม นางก็มองเราหัวจรดเท้าแบบอึ้งๆ แล้วถาม ‘น้องแน่ใจเหรอ งานฟาร์มมันหนักนะ’ ด้วยความหวังดีนางรีบโทรไปถามเพื่อนที่ทำฟาร์มอย่างรวดเร็ว แล้วห้ามเราอย่างรุนแรง ‘งานฟาร์มมันต้องตากแดด ตากฝน พี่ดูแล้ว...น้องทำไม่ได้หรอกเขรอะ’

          อะไรค้ะคุณพี้ ตากแดดก็ทาครีมสิคะ ฝนตกก็กางร่มสิ แค่เนี้ยคิดไม่ได้เหรอค้ะ...ทำไมต้องให้บอก นางพยายามหว่านล้อมอยู่นานว่าเราทำไม่ได้หรอกอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เราขึ้นตั้งแต่นางมองหัวจรดเท้าพร้อมส่ายหน้าแล้วค่ะ เฮอะ ไม่มีอะไรที่ศรีทำไม่ได้ จำใส่กบาลไว้เลยค่ะขุ่นพี่
       
          และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความทรมานที่สุดในชีวิตค่ะ



          บ้านน้าอยู่โซนสองแถบเอเชีย ทั้งเมืองมีแต่หัวดำวิ่งกันเกลื่อน เคยจินตนาการว่าจะได้มาใช้ชีวิตสุดไฮในเมลเบริ์น แต่ที่เห็นคืออาม่าเวียดนามกับอาตี๋มาเล ฟาร์มที่เราจะไปทำคือฟาร์มผักค่ะ ได้ชั่วโมงละ12$ หักค่ารถ10$ ทำงานวันละ9ชม.ครึ่ง แล้วแต่ออเดอร์ด้วย มีที่ได้เยอะกว่านี้อีกมั้ยคะ รู้สึกว่ายังไม่มากพอ เนื่องจากเป็นคนโลภ...หุหุ แต่น้าบอกว่าฟาร์มผักเนี่ยง่ายที่สุดแล้ว ฝึกไปก่อนเผื่อไปไม่รอด พวกชุดกับอุปกรณ์ก็ใช้ของพี่เค้าไปก่อน อีกแล้วค่ะ! ศรีถูกสบประมาทอีกแล้ว ไม่ย๊อมค่ะ ยังไงก็ไม่ยอม

          จากคำบอกเล่าคือ ศรีต้องมารอรถตู้สีขาวซึ่งจะมารับตอนตีห้าครึ่ง อะไรมันจะเช้าขนาดนี้คะ ต้องตื่นกันแต่ไก่โห่เลยเหรอคะ กะอีแค่ตัดผักเนี่ย เวลาตีห้าสี่สิบผ่านไปรถก็ยังไม่มา อากาศตอนเช้าก็น้าวหนาว ตอนเด็กๆ แม่บอกว่าห้ามขึ้นรถตู้ไปกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด แต่พอเห็นรถตู้มาจอดหน้าบ้านนี่แทบจะวิ่งขึ้นเลยค่ะ จากคำให้การของพี่ที่ทำฟาร์มที่เดียวกันบอกว่าฟาร์มผักมีเจ้าของเป็นออสซี่ ดังนั้นเราจะต้องมีชื่อที่กิ๊บเก๋เป็นสากล ถ้าชื่อไทยแบบบ้านๆ โผล่ไป ก็อาจจะออกเสียงไม่ถูกได้ เนื่องจากความฝันของเราคืออยากให้โลกสงบสุข ก้ากๆ จึงขอชื่อที่ดูเป็นนางงามหน่อย ชื่อpeaceนี่แหละ เหมาะสุดแล้ว

          ฟาร์มผักอยู่ไกลจากบ้านไปอีกเกือบชั่วโมง น้องพีซนั่งรถด้วยใจตุ้มๆต่อมๆ จะถูกเอาไปขายที่ไหนน้า หุหุ มาถึงฟาร์มผักต้องอ้าปากค้างค่ะ มันอลังมาก มองไปทางซ้ายเป็นแปลงผัก มองไปทางขวาก็แปลงผักสุดลูกหูลูกตา มีshedเล็กๆ อยู่ตรงกลางไว้คุ้มกะลาหัว เริ่มใจไม่ดีแล้วค่ะ แล้วถ้าฝนตกจะไปหลบตรงไหนเนี่ย งานแรกของเด็กใหม่คือการไปตัด baby buk choy และตามด้วย pak choy เอาแล้วไง นี่มันผักพิลึกกึกกือที่ไหนคะ เกิดมาไม่เคยได้ยิน ศรีถูกต้อนขึ้นรถ veg ซึ่งเป็นรถตู้เก่าๆ มีแต่โคลนเต็มไปหมดพร้อมกับลุงๆ ป้าๆ ชาวแคมโบ้เดีย คุยกับใครไม่รู้เรื่องเลยค่ะ บองริคกี้ซึ่งเป็นคอนแทกเตอร์ชาวแคมโบ้เดียเป็นคนสอนตัดเบบี้บัคชอย เริ่มต้นนั่งพับเพียบบนแปลงผัก หักใบแก่ออกหนึ่งใบ แล้วใช้ปลายมีดตัดใกล้รากทีเดียวก็ออกแล้วค่ะ

          พระเจ้าจอรจ์! มันช่างง่ายแสนง่าย ก็แค่ขึ้นไปนังพับเพียบสวยๆ บนแปลงผัก แล้วก็ตัดทีเดียวเอง ลั่ลล้าๆ หนึ่ง สอง สาม หนึ่งชั่วโมงผ่านไปอีพีซก็ยังทำไม่ได้เลยค่ะ การจะตัดให้ขาดในฉึบเดียวมันเป็นสกิลขั้นสูงชัดๆ ต้องเอาขึ้นมาเล็มอีกหลายที นั่งพับเพียบมาชั่วโมงหนึ่งนี่ศรีง่อย-แล้วนะ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดฝนดันตกลงมาอีก ต้องรีบวิ่งไปหยิบเสื้อกันฝนมาใส่แบบงงๆ กลับมาตัดผักต่อเจอสายตาหงุดหงิดของบองริคกี้ ประมาณว่าเมื่อไหร่เมิงจะเสร็จซะที คนอื่นเค้าไปจนสุดแปลงแล้ว หลังจากนั้นบองก็เข้ามาสอนบ้าง ให้คนไทยเข้ามาสอนบ้างเผื่อจะดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลค่ะ ศรียังคลานเป็นเต่าตัดทีละต้นเหมือนเดิม คนอื่นคงคิดว่าศรีโง่มากเลย สอนเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้ แต่ความจริงศรีมีการศึกษานะคะ จบปริญญาตรีเกรดเฉลี่ยสามกว่าเชียวนะคะ บอกตัวเองในใจค่ะ ฮือๆ
     
          ในที่สุดเสียงเรียกพักกินข้าวที่เรารอคอยก็มาถึง หิวจะตายอยู่แล้วค่ะ เพลียสุดๆ มีเวลากินข้าวยี่สิบนาที ต้องรีบวิ่งขึ้นไปกินบนรถ ขี้ดินเต็มตัวก็ไม่แคร์แล้ววินาทีนี้ วันนี้พี่ที่บ้านใจดีห่อลาบมาให้กิน แต่เปิดกล่องข้าวออกมาแล้วอยากกรี๊ด ลาบเป็นวุ้นหมดเลย เพราะอุณหภูมิข้างนอกประมาณ5-10องศาได้ เฮอะ! กินข้าวแข็งโป้กกับลาบวุ้นก็เป็นประสบการณ์ชีวิตดี แค่นี้ไม่เท่าไหร่ร้อก

          จนถึงช่วงบ่ายฝนก็ไม่ยอมหยุดตก วันนั้นหนาวมากๆ ทั้งเสื้อ รองเท้าบูทเลอะโคลนไปหมด แถมขี้มูกย้อยเป็นทางเลย ไส้เดือนก็โผล่กันออกมาหยุบหยับ เมื่อต้องทำงานซ้ำๆ เป็นสิบชั่วโมงนี่มันเจ็บไปทั้งตัวจริงๆ แหงนหน้ามองฟ้าประชดชีวิต...ยังมีอีกมั้ย ฝนตกได้แค่นี้เหรอ ไส้เดือนน่ะมีอีกมั้ย วัดดาฟราค!!!
          บองมาส่งถึงที่บ้านต้องถามซ้ำว่า พีซ ยูจะมาทำงานพรุ่งนี้มั้ย

          สมองเริ่มประมวลผลช้าลง หูย ให้ตูเจอแบบวันนี้อีกไม่เอาแล้วนะเฟ้ย ทรมานสุดๆ ทั้งแขน ขาชาจนไม่มีแรงแล้ว จะร้องไห้
‘เยส บอง ซียูทูมอโรล’ เฮ้ย ตอบตกลงไปแล้วอ่ะ ได้ไง


รูปแปลงผักแพคชอย ที่ฟาร์มผักไม่อนุณาติให้ถ่ายรูป เลยมีแค่รูปแอบถ่าย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่