ลุงเกษม ต้นแบบ โคก หนอง นา ลดค่าอาหารเกือบ 100% และขอชราอย่างมีคุณภาพ ให้ลูกหลานพึ่งพาได้อย่างยั่งยืน

รอบแรก 10,000 กว่าบาท ป้าขายแตงกวาได้ นับจากวันปรับพื้นที่เป็นโคก หนอง นาเสร็จไป 45 วัน รอบสองได้ประมาณ 8,000 บาท ตอนนี้กำลังรอผลผลิตรอบสาม
 
รอบสามปลูก                                   = 200 หลุม
ต้นทุนค่าแรง + ปุ๋ยทำเอง/หลุม         = 3 - 7 บาท (3.-  กรณีปลูกเอง 7.- กรณีจ้างหลาน)
ทุนตั้งต้น  200 หลุม                        =  600 - 1,400 บาท
ราคาขายต่อหลุม                             =  30 - 40  บาท
จะขายได้                                       =  6,000 - 8,000 บาท
เพราะฉะนั้น กำไร                            =  5,400 - 6,600 บาท  (ใช้เวลา 40-45 วัน) 
ไม่น้อยเลย ถ้าเข้าใจและปลูกอย่างอื่นหมุนเวียน ไปพร้อมกับทำประมง และปศุสัตว์ด้วย ลดค่าอาหาร มีสตางค์เหลือเก็บไว้ซื้อที่ดินเพิ่ม
 
เรื่องลดค่าอาหาร
ผักไม่ต้องซื้อเลย
เนื้อสัตว์ลุงมีปลา ไก่ เป็ด และหมู ถ้าจะซื้อก็เป็นปลาทะเล ซึ่งก็นาน ๆ ที
ทั้งบ้านกินอาหารปลอดสารพิษ สุขภาพดี ลดค่ารักษาพยาบาลไปอีก
เรื่องมีสตางค์เหลือเก็บไว้ซื้อที่ดินเพิ่ม … เขามาบอกขายที่ 4 ไร่ 400,000 กว่าบาท ลุงมีอยู่ 200,000 บาทกว่า เก็บไว้ใช้ตอนจำเป็น แต่ก็อยากได้ที่ดิน แต่ก็นั่นแหละมี 200,000 กว่าบาท ก็ยังขาดอีก 100,000 กว่า ก็ปรึกษาป้า ป้าว่าไปแลตะในโกล้งฮั้น (ไปดูในกระปุกออมสินสิ) นับแล้วได้ประมาณ 180,000 บาท ลุงดีใจขนลุกเลย 180,000 บาทนี้ ได้จากที่ลุงปลูกผักในแปลงทดลอง 1 ไร่ แล้วป้าไปขายประมาณ 1 ปี กับ 2 เดือน เขาว่ากันว่าปลูกผักขาย 1 ปี จะได้ 100,000 บาท / ไร่ นี่ลุงกับป้าได้ตั้งเกือบ 200,000 ดีใจ
ลุงยืนยันว่าไม่ว่าทำอะไรถ้าตั้งใจ เอาจริง ทำให้รอบคอบ ก็จะได้ผลจริง ๆ

มีคนถามลุงว่าทำไมเลือกปลูกผัก ทำงานสอกแสก (งานจุกจิก แลดูมีมูลค่าน้อย) แต่สอกแสกนี่แหละ ได้ตางค์มากหวาปาล์มฮั้น
ลุงบอกว่าเขาว่าปลูกผักลงทุนน้อยได้เร็ว ลุงจดบันทึกนะ เปรียบเทียบกับปาล์มที่ลุงปลูกและขาย/ไร่/ปี ได้สูงสุด 6000 บาท เพราะราคาขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วถ้าช่วงไหน ราคาขึ้น ปุ๋ยก็ขึ้น เพราะฉะนั้นก็ได้คง ๆ ทรง ๆ ตอนปาล์มราคาขึ้น เหมือนว่าทำให้ชาวสวนปาล์มมีกำลังใจ แต่ถ้าได้จดบันทึกไว้แล้วย้อนไปตรวจสอบ ก็จะเห็นว่าทรง ๆ มีคนเล่าให้ลุงว่า ปีที่แล้วได้ 200,000 กว่าบาท แต่พอถามค่าใช้จ่ายก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้จดบันทึก
 
เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำเกษตร หรือว่าอยากทำอะไรก็แล้วแต่ ศึกษาให้แน่ แล้วทำจริง วางแผน ทำตามแผน ประเมิน แล้วปรับแผนเมื่อต้องปรับสำเร็จแน่นอน
 
แล้วก็มีคนถามว่าปลูกแล้วจะขายที่ไหน ขายได้หรือ ... ขายได้อีกเยอะ เอาว่าปลูกให้ทันคนกินนิ บางคนขายหน้าบ้าน ส่วนผักที่ลุงปลูก ป้าอาสาไปขายที่ตลาด และลุงมีแหล่งข่าว เข้ากลุ่ม เข้าเครือข่ายเพื่อจะได้มีข้อมูลมาบริหารงาน แหล่งข้อมูลบอกว่า ในกระบี่ นำเข้าผักจาก นครศรีฯ พัทลุง สงขลา และก็จากภาคเหนือ ภาคอิสาน เพราะฉะนั้นตลาดผักในกระบี่ยังมีที่ว่างให้ผู้ปลูกผู้ขายได้หาตางค์อีกเยอะ 
 
แล้วก็มีคนถามว่า ลุงทำไปทำพรือหนักหนานิ (ทำไปทำไมมากมาย) ในใจลุงบอกว่าทำแล้วมีความสุขนิ ถึงแก่ก็แก่แบบมีคุณภาพ สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกให้หลาน ไม่เป็นภาระใคร ใครเดือดร้อนมาก็ผ่อนหนักเป็นเบาให้ได้
 
ลุงทำแบบนี้นิมีกำไรให้ชีวิตตลอด นี่ก็ข้าวงอกเองจากฟางที่เอามาห่มดิน
 
กระเจี๊ยบขึ้นเอง เก็บไปกิน ไปขายได้
บ่อที่ขุดกับโครงการโคก หนอง นา ใส่ปลาแบบให้หากินธรรมชาติ ไม่ได้ใส่อาหาร ก็จะมีน้ำดีเก็บไว้ใช้
รอบบริเวณนี้ ปลูกกระท่อม ทุเรียน มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม มังคุด และอื่น ๆ อีกไม่กี่ปีก็จะร่มรื่นมาก ๆ เป็นความร่มรื่นที่อิ่มท้องด้วย
ลุงมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีรายได้จากการทำเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ลดค่าครองชีพให้ครอบครัว ให้คนซื้อได้กินอาหารปลอดสารพิษ ส่งผลเชื่อมโยงไปถึงการมีสุขภาพดีของคนอีกหลายครัวเรือน ช่วยลดค่าครองชีพด้านรักษาพยาบาลได้ในวงกว้าง และลุงก็ยินดีมากถ้าใครสนใจ จะแวะเรียนรู้เพื่อไปทำให้เกิดผลจริง ช่วยกันขยายความอุดมสมบูรณ์นี้ให้หลาย ๆ บ้าน หลาย ๆ ชุมชน แวะมาหาลุงได้ และลุงสรุปง่าย ๆ ว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่มีผลกระทบกับลุงกับครอบครัว เพราะเรามีคลังอาหารอยู่ที่บ้าน และลุงเชื่อมั่นว่า ศาสตร์พระราชา “ทฤษฎีใหม่” ที่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล คือ หลักประกันของชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
ลุงเกษม นาคแท้ ครัวเรือนต้นแบบ หมู่ที่ 6 ต.เขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (HLM : Household Lab Model for Quality of Life)
...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่