กรดไหลย้อน

บทความนี้คัดลอกและดัดแปลงจาก งานประกันสังคมโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
http://www.med.cmu.ac.th/hospital/sso/2555/health/120-gerd.html

โรคการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาหลอดอาหารหรือ ที่นิยมเรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (อังกฤษ: Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD) คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติ หลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงด้านล่างและหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร แต่ในปัจจุบัน หูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลงในบางคน ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาน 1ใน 5คน พบในคนทั่วไป ทุกกล่ม ทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในคนอ้วน หรือสูบบุหรี่ และการไหลย้อนของกรด ถ้ามีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ ซึ่งหากละเลยไม่ไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

ภาวะของโรคกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 3ระดับ

ระดับแรกผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนบ้างในบางครั้ง เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง แล้วก็หายไป ไม่มีผลต่อสุขภาพมากมาย (Gastro-Esophageal Reflux : GER)

ระดับสองผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาเฉพาะที่บริเวณหลอดอาหาร (Gastro-Esophageal Reflux Disease : GERD)

ระดับสามผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนไหลขึ้นไปถึงกล่องเสียง หรือหลอดลม (Laryngo-Pharyngeal Reflux : LPR)

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน นอกจากจะเกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร หรือความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหารในตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นเสริมอีกด้วย เช่น

- กินเสร็จอิ่มๆ หรือกินอาหารเสร็จยังไม่ถึง 4ชั่วโมงแล้วนอน

- Hiatus hernia คือ โรคที่เกิดจาก กระเพาะอาหารส่วนต้น ยื่นเข้าไปกระบังลม

- สูบบุหรี่

- ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์, น้ำอัดลม

- รับประทานอาหารประเภท ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด

อาการ

อาการในหลอดอาหารผู้ป่วยจะมีอาการ
เสียงแหบกว่าปกติโดยไม่ได้เป็นโรคอื่นใดที่เกี่ยวกับกล่องเสียง
ปวดแสบปวดร้อนในหน้าอก หรือที่เรียกว่า Heart Burn เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ
มีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก เหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ หายใจไม่ออกเวลานอน
กลืนอาหารลำบาก ถ้าเป็นมากจะเจ็บคอมากจนอาจจะกลืนอาหารแทบจะไม่ได้
คลื่นไส้
มีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในปากหรือลำคอ

อาการนอกหลอดอาหาร บริเวณกล่องเสียงและหลอดลมผู้ป่วยจะมีอาการ
ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง
เสียงแหบ โดยเฉพาะในตอนเช้า เนื่องจากเวลานอน กรดจะไหลย้อนขึ้นมาได้มาก
เป็นโรคปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก

การรักษา

การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
งดการสูบบหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ
ลดอาหารมัน ของทอด ของหวาน
รับประทานอาหารให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3-4ชั่วโมง
ลดน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี

แนะนำการรักษากรดไหลย้อน

ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญมากโดยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ส่วนบนมากขึ้น ที่สำคัญการรักษาด้วยวิธีนี้ควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม

นิสัยส่วนตัว

ถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้เครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว

นิสัยในการรับประทาน
หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ การออกกำลัง ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรรับประทานอาหารใด ๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3ชั่วโมงก่อนนอน
พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ฟาสต์ฟูด ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม สะระแหน่ เนย ไข่ นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เป็นต้น
รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ (แม้จะเป็นกาแฟที่ไม่มีกาเฟอีนก็ตาม) ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น

นิสัยในการนอน

ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3-4ชั่วโมง เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6 - 10นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

พบว่าประมาณร้อยละ 90ของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนสามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร หรือเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี สามารถเห็นผลการรักษาเร็ว ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำ และควรมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1 - 3เดือน กว่าที่อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น

อาการต่างๆ อาจไม่ดีขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลาในการหาย เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันข้างต้นดังกล่าว ได้ และได้รับประทานยาต่อเนื่อง แพทย์จะปรับลดขนาดยาลงเรื่อยๆ ทีละน้อย ที่สำคัญไม่ควรซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้น

การรักษาโดยใช้ยา

จะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีการอักเสบของหลอดอาหาร ตัวยาลดกรด (Antacids) ยาช่วยเคลือบหลอดอาหารเช่น alginic acid หรือalgycon
ใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ ยาลดกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (Proton pump inhibitors) โดยการใช้ยา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
***ถ้าไม่มีดีขึ้น อาจพิจารณาให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่นการกลืนแป้งตรวจกระเพาะ
การส่องกล้องตรวจกระเพาะ (ไม่นิยมใช้เนื่องจากวินิจฉัยได้ยาก)***

การผ่าตัด
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จึงจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ผูกหูรูดกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาอีก

อ้างอิง
http://goo.gl/EubEQv
http://goo.gl/LDNvyw
http://goo.gl/8iXKsx
http://goo.gl/JfucG9
http://goo.gl/mnNcPl
http://goo.gl/3H3XJb
http://goo.gl/YcSid7
http://goo.gl/byPO7Z
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่