ช่อง 3 แก้เกมเรตติ้งหาย ขยับผังถี่ ย้ำละครหลังข่าว ตรึงคนดู

กระทู้สนทนา


ออกอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เมื่อต้องรับศึกหนักรอบด้าน ทั้งปัญหาภายในอุตสาหกรรม การเปลี่ยนผ่านระบบวัดเรตติ้งสู่มัลติสกรีน การเรียงหมายเลขช่องใหม่ หนักที่สุด คือ ปัจจัยภายนอกอยู่เหนือการควบคุม อย่างปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณา และเป็นสิ่งที่ทีวีดิจิทัลทั้งช่องเก่า-ใหม่ กำลังเผชิญอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ช่องเก่า ฝีมือเก๋า อย่างช่อง 3 ที่ออกอาการปาดเหนื่อยด้วยเช่นกัน

ล่าสุด "สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 3 ออริจินอล, ช่อง 3 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางธุรกิจทีวี ท่ามกลางสารพัดปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจทำให้บริษัทใหญ่ ๆ เริ่มตัดงบฯลดโฆษณาลง ส่งผลต่อทีวีดิจิทัลทั้งระบบ

- เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง มีผลกระทบกับสื่อทีวีอย่างไร

งบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีถือเป็นงบฯก้อนใหญ่ของอุตฯโฆษณาหลัก ๆ มาจากบริษัทใหญ่ ๆ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี กระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตอนนี้เริ่มมีสินค้าตัดลดงบฯโฆษณาลง เพื่อลดต้นทุน และรักษาผลกำไร


ประกอบกับผู้ชมกระจายตัวมากขึ้นในการรับชมคอนเทนต์ จากการขยายตัวของสื่อ ทำให้เรตติ้งทีวีหายไป ตลาดทีวีกลายเป็นนิชมาร์เก็ต จากเดิมที่เป็นแมส เพราะช่องมากขึ้น รายการเพิ่มขึ้น ผู้ชมก็เลือกชมเฉพาะคอนเทนต์ที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ชมจะเปลี่ยนไป เสพคอนเทนต์ผ่านสื่ออื่น ๆ เรตติ้งทีวีอาจจะลดลง แต่ทีวีช่องเก่าก็ยังเข้าถึงผู้ชมได้จำนวนมาก และทีวีช่องเก่าก็ยังได้เปรียบ เพราะเอเยนซี่ได้เห็นเรตติ้ง และพัฒนาการของช่องมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังตัดสินใจลงโฆษณาอยู่ ส่วนช่องใหม่ก็เริ่มมีฐานผู้ชมแล้ว แต่ยังไม่มาก ทำให้ขายโฆษณายากขึ้น ขณะที่มีต้นทุนคงที่ ทั้งค่าเช่าโครงข่าย คอนเทนต์ เป็นต้น

"เมื่องบฯโฆษณาลดลง ช่องเก่าก็เหนื่อย รายได้และกำไรก็ลดลง ช่องใหม่ก็ลำบาก ถ้าขายโฆษณาไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะมีต้นทุนคงที่อยู่"

- จากจำนวนช่องทีวีที่มีมากขึ้น ประกอบกับสื่อออนไลน์ขยายตัว ทำให้กลุ่มผู้ชมของช่อง 3 ลดลง หรือหายไปมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นละครหลังข่าว คนดูลดลงประมาณ 4-5% จากเดิม แต่ตัวเลขที่ลดลงไม่มีนัยสำคัญอะไร เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสถานี หากเทียบราคาโฆษณาของช่องใหม่และจำนวนผู้ชมแล้ว แม้ราคาโฆษณาของช่อง 3 จะสูงกว่า แต่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าเช่นกัน

ขณะเดียวกันการปรับขึ้นโฆษณาของสถานี ถือว่ายากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มไม่ได้ ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง

- เวลานี้โจทย์ของช่อง 3 คืออะไร

เมื่อผู้ชมกระจายตัว เรตติ้งก็ลดลง โจทย์ยากตอนนี้ คือ การรักษาความสม่ำเสมอของเรตติ้ง ถือเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางผู้ชมที่หลากหลายและกระจายกันรับชมช่องใหม่ สิ่งที่ทำได้ คือ รักษาจุดแข็ง โดยเฉพาะละครหลังข่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ช่องอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ แม้จะมีหลายช่องชูจุดขายเรื่องละคร เพราะต้องมีนักแสดง ผู้จัดละคร ต้องสั่งสมประสบการณ์

จุดอ่อน คือ รายการข่าว เพราะเป็นประเภทรายการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ทุกช่องต้องมี การแข่งขันข่าวรุนแรงขึ้น ส่วนผู้ชมก็ต้องการทดลองชมรายการข่าวรูปแบบใหม่ ๆ โดยรายการข่าว 3 มิติ ถือเป็น 1 ใน 3 รายการของสถานีที่ยังโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อน สวนทางกับข่าวรายการอื่น ๆ ของสถานีที่มีรายได้ลดลง

- จะแก้เกมดึงผู้ชมกลับมาอย่างไร

แม้ว่างบฯโฆษณาและผู้ชมจะลดลง แต่ยังเดินหน้าพัฒนาคอนเทนต์คุณภาพต่อเนื่อง ต้องทำการบ้านมากขึ้น วิเคราะห์คู่แข่งมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมคืนมา ต้องยอมรับว่า จำนวนช่องทีวีมากขึ้น การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับผังรายการถี่ขึ้น ล่าสุดเดือนตุลาคมนี้ก็มีการปรับผังรายการใหม่ โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ โดยนำรายการวาไรตี้มาแทนรายการของบริษัท ซีเนริโอ จำกัด ขณะเดียวกันมีแผนจะปรับรายการช่วงดึกด้วย หลังจากปรับไปแล้วเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากแลนด์สเคป (Landscape) ของอุตฯทีวีเปลี่ยนไป

- วางทิศทางของช่อง 3 เอสดี และช่อง 3แฟมิลี่ไว้อย่างไร

ช่อง 3 เอสดี ชูเรื่องกีฬาทั้งในและต่างประเทศ วางโพซิชันนิ่งต่างจากช่องอื่น ๆ โดยหลังจากใส่คอนเทนต์นี้ทำให้เรตติ้งขยับขึ้นเป็นอันดับ 4 ของช่องทีวี และยังมีลิขสิทธิ์กีฬาอีกจำนวนมาก ส่วนช่องแฟมิลี่ก็ร่วมมือกับเอ็ม เทิร์นเนอร์ ผลิตรายการเด็กออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์

- ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้อย่างไร

เศรษฐกิจไม่ดีทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมา โตลดลง 7-8% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน คาดว่าไตรมาส 4 ถ้าโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ปีก่อน ก็ถือว่าดีแล้ว และคาดว่าทั้งปีน่าจะโตลดลง 8-10% จากปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้ช่อง 3 คิดเป็น 80-90% ของรายได้รวมบีอีซีเวิลด์ฯ

ประชาชาติธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่