7 ข้อที่ชี้ว่า ”ทักษิโณมิกส์” ของสมคิดยุคคสช.จะล้มเหลว? โดย พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ น่าสนใจทีเดียวเราลองๆมาคุยกันดู

จาก: มติชนออนไลน์ นะครับ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1440754428
ลองอ่านดูกัน อย่างไม่มีอคติก็จะเป็นผลดีต่อสังคมการเมืองไทยอย่างมากมาย
เพราะอคติทำลายชาติของพวกเรามาหลายปีแล้ว
..........................................................................

หลังจากมีการเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจของคสช.ชนิดที่เรียกว่า “ยกกระบะเซลส์” เปลี่ยนมือจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ที่ผมเคยทำนายไปแล้วว่าไม่น่าจะรอด (ดู ที่นี่) มาสู่ยุคของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตคีย์แมนทางเศรษฐกิจผู้มีส่วนขับเคลื่อน “ทักษิโณมิกส์” (Thaksinomics) หรือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิณ เพียงไม่กี่วันที่เข้ามรับตำแหน่งดร.สมคิด ก็ขุดนโยบายที่แทบจะย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทักษิณอีกครั้ง จน Nikkei Review ถึงกับขนานนามว่า “นี่อาจจะเป็นการกลับไปสู่ยุคทักษิโณมิกส์อีกครั้ง” เรามาดูว่าเพราะเหตุใดการกลับไปใช้นโยบายแบบเดิม อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม
“ทักษิโณมิกส์” คืออะไร ทำไมผู้คนถึงโหยหา?

หลายๆคนที่เกิดมาในช่วงของความขัดแย้งในทศวรรษที่ผ่านมา อาจลืมไปว่าเราเคยมีภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งแบบนี้มาก่อน หรือแม้กระทั่งผู้ที่ขับไล่ทักษิณในยุคพันธมิตรรอบ 2551 ม็อบแช่แข็งประเทศไทย หรือกปปส. ที่ยังไม่จบมหาวิทยาลัยอาจไม่รู้จักคำนี้ เช่นเดียวกับไม่รู้จักคำว่า Dual track  หรือ “จากรากหญ้าสู่รากแก้ว” เกิดมาก็ได้แต่เฮตามเพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”ไปเสียแล้ว อยากจะขอปูพื้นฐานถึงคำนี้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ”ระบอบทักษิณ”ที่คุณเกลียด แต่คุณกลับเชียร์คสช.ที่กำลังกลับไปใช้นโยบายแบบนี้

คำว่า “ทักษิโณมิกส์”นั้น ถูกขนานนามโดยอดีตประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาราโย ในงานประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพยิ่งใหญ่ในปี 2003 เป็นการเน้นการกระตุ้นการใช่จ่ายภาครัฐและมุ่งกระตุ้นภาคการส่งออกและภาคเศรษฐกิจ โดยหัวใจอยู่ที่การดำเนิน “เศรษฐกิจแบบ 2แนวทาง” (Dual Track Policy) ซึ่งจุดแรกคือไปกระตุ้นที่ภาคการส่งออก การลงทุนต่างประเทศ และโอกาสใหม่ๆเช่นการท่องเทีย่ว และอีกด้านอันเป็นเอกลักษณ์ก็คือ การมุ่งอัดฉีดเงินไปที่ระดับรากหญ้าที่มาของคำว่า “สร้างงานสร้างรายได้” นโยบายที่หลายคนรู้ตักดีก็เช่น กองทุนหมู่บ้าน ส่งเสริมผู้ประกอบการSME โครงการพักการชำระหนี้เกษตรกรและริเริ่มสินค้า OTOP และสัมฤทธิ์ผลเห็นได้ชัดก็คือเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในบางปี GDP เติบโตเกิน5% โดยคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งก็คือดร.สมคิดที่เคยนั่งทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ (ช่วงเวลาดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกเศรษฐกิจเป้นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย)

วิเคราะห์ “ทักษิโณมิกส์” ภาค 2ทำไมอาจจะแป้กได้?

การที่คสช.อุตสาห์แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 เพื่อเปิดทางให้ผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างดร.สมคิด แห่ง “บ้านเลขที่111″คดียุบพรรคไทยรักไทยปี 2550 กลับมาสู่ตำแหน่งรองนายกเศรษฐกิจอีกครั้ง แปลได้ว่าเข้าตาจนและไม่พึงพอใจกับการบริหารงานโดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจแบบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่เน้นภาพใหญ่แบบแมคโคร ระมัดระวัง เทอะทะ และล่าช้า ถือว่าเป็นเดิมพันที่สูง และแน่นอนการที่ดร.สมคิดจะกลับไปใช้ “ทักษิโณมิกส์”อีกครั้งนั้นไม่ง่าย เพราะ….

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่างกันสุดขั้ว

จะว่าไปรัฐบาลทักษิณนั้นอยู่ในยุคที่โชคดีส่วนหนึ่งคือการก้าวขึ้นสู่อำนาจในยุคหลังมิลเลนเนียมใหม่ๆอะไรเกิดขึ้นบ้างในขณะนั้น?ความก้าวหน้าของวิทยาการเทคโนโลยีเชิงไอทีและคมนาคมที่นำพาความเจริญมาสู่โลกสหภาพยุโรปพึ่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ”เงินสกุลเดียว” (Single currency)ที่เนื้อหอมสุดๆ ประเทศจีนกับการค่อยๆเปิดประเทศสู่ทุนนิยมกับโอกาสใหม่ๆทางการลงทุน และสหรัฐอเมริกากำลังถลุงเงินไปกับ “สงครามต้านการก่อการร้าย”

แล้วหันไปมองตอนนี้สิ!?ตลาดเทคโนโลยีเริ่มถึงทางตันเมื่ออัตราการซื้อหรือเปลี่ยนแก็ดเจ็ทต่างๆเริ่มชลอตัวหลายบริษัทไอทีเริ่มประสบปัญหาสหภาพยุโรปเกือบจะล่มไปพร้อมกับวิกฤตกรีซที่เป็นบทเรียนว่าประเทศที่ขนาดจีดีพีแตกต่างกันลิบลับไม่ควรใช้เงินสกุลเดียวกันจีนกำลังสร้างความปั่นป่วนให้โลกเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชลออัตราการขยายตัวและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มลดบทบาททางการทหารในหลายๆพื้นที่

2.สมคิดคนเดียวทำอะไรไม่ได้หากไม่มีดรีมทีมที่ดี

ถึงแม้รอบนี้ดร.สมคิดจะเข้ามาพร้อมกับทีมงานที่ไว้ใจ เช่น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ศิษย์รักจากศศินทร์ นาย อุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที อดีตอธิการบดีม.กรุงเทพและอดีตผู้ช่วยสมคิดสมัยเป็นรมว.คลังยุคทักษิณ  และนาย อภิศักดิ์ ตันติวรงศ์ รมว.คลัง เพื่อนเตรียมอุดมฯของสมคิดที่สมคิดดันให้เป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยสมัยทักษิณ (อีกคนที่สมคิดดันก่อนหน้าคือ วิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารกรุงไทยที่พึ่งถูกพิพากษาจำคุก) ถึงแม้อาจจะฟังดูดีกว่าเหล่าบรรดา “เทคโนแครตกยุค”ของหม่อมอุ๋ย แต่เรียกได้ว่ายังห่างชั้นกับยุครัฐบาลทักษิณ

หากเทียบกับยุคทักษิณ1ที่มี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษาด้านนโยบาย วราเทพ รัตนากร เป็น รมช.คลัง ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร อดีตที่ปรึกษาของธนาคารโลกเป็นรมช.พาณิชย์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เคยบริหารอุตสาหกรรมพันล้านเป็นรมว.อุตสาหกรรม หรือทักษิณ2 ที่เสริมทีมด้วย ทนง พืทยะ ผู้บริหารธนาคารทหารไทยเป็นรมว.คลังเมื่อตอนดร.สมคิดถูกสลับไปนั่งเป็น รมว.พาณิชย์ เรียกได้ว่าชื่อชั้นยังห่างกันเยอะมาก

3. รัฐมนตรีสายโควตาทหารและนายทุนที่ไม่สามารถจัดการได้

ถึงแม้สมคิดจะได้บริหารถึง 7 กระทรวง อันได้แก่ กท.คลัง กท.อุตสาหกรรม กท.เกษตรฯ กท.คมนาคม กท.วิทยาศาสตร์ฯ  กท.พาณิชย์ และที่เซอร์ไพรส์คือได้ กท.การต่างประเทศมาด้วย แต่ต้องความเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาด้วย”อำนาจพิเศษ”ดังนั้นจึงมีโควตาของทหารค่อนข้างมาก ซึ่งทักษะการบริหารเศรษฐกิจนั้นอาจจะไม่คล่องตัวมากนัก ลองย้อนไปดูรายนามคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 3 ที่มีโควตารัฐมนตรีทหารเพิ่มขึ้นจาก 14เป็น16 ตำแหน่ง และผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของดร.สมคิดได้แก่  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มาเป็นรมว.เกษตรฯ

ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจที่พึงได้พึงบริหารอื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงานก็ยังเป็นรัฐมนตรีสายหทารอย่าง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมรอเกษียณ และอีกคนที่เป็นรัฐมนตรีทหารใหม่ป้ายแดงอย่าง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็มานั่งรมว.พลังงาน ยังไม่นับกระทรวงการท่องเที่ยวฯที่ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายทุนกปปส.นั่งเป็นเจ้ากระทรวงที่ผุดไอเดียแปลกๆออกมาเสมอ ทำให้ดร.สมคิดไม่สามารถบริหารสั่งการได้ถนัดนัก

4.วิกฤตทั้งบนฟ้า-ในน้ำ-บนบก

เรียกได้ว่าไทยตอนนี้ไทยประสบปัญหารอบด้านทั้งบนฟ้าเมื่อไทยเจอคาดโทษจากมาตรฐานการบินของICAOที่ทำให้ธุรกิจและภาพลักษณ์ของสายการบินในไทยตกต่ำส่อเค้าส่งผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว บนบกเองหลังจากผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้อย่างจวนเจียนก็เจอเหตุระเบิดราชประสงค์สะเทือนภาคการท่องเที่ยวอีกหนึ่งรายได้หลักของ“ทักษิโณมิกส์”ส่วนในน้ำนี่มาพร้อมกับปมค้ามนุษย์ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาลดเกรดให้ไทยตกไปอยู่ในTier3 และอาจพิจารณาลดความช่วยเหลือในด้านที่ไม่ใช่มนุษยธรรม และสหภาพยุโรปก็เตรียมประเมิน IUU ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถ้าหากไม่ผ่านเกณฑ์ก็อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคการส่งออกไทยที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมาตลอดปี ไม่ใช่โจทย์ง่ายเลยของดร.สมคิดและทีมงาน

5. ตลาดภายในซบเซาไปหมดแล้ว

ระยะเวลา 1ปีที่ผ่านมาผลกระทบทางเศรษฐกิจเริ่มออกฤทธิ์ ทั้งเรื่องการเลิกจ้าง การเตรียมจัดเก็บภาษีใหม่ๆของรัฐบาล การย้ายฐานผลิตจากการไม่เชื่อมั่นในภาครัฐ ผลกระทบภาคส่งออกและท่องเที่ยว ที่ต่อให้ใช้มาตรา44 ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ดร.สมคิด จะงัดมาตรการอัดฉีดไปยังรากหญ้าก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถฟื้นตลาดภายในได้หรือไม่ ภาคการเกษตรบอบช้ำจากภัยแล้งและมาตรการดูแลสินค้าเกษตรแบบทิ้งขว้างฉบับม.ร.ว.ปรีดิยาธร ภาคอุตสาหกรรมมีบริษัทเลิกดทะเบียนการค้าขึ้นสูงเป็นอย่างมากในปีนี้ ไม่นับรวมกับการปิดตัวและย้ายฐานการผลิตในหลายๆนิคม ภาคการส่งออกถูกกีดกันจากการสอบตกมาตรฐานนานาชาติ ภาคการเงินผันผวนหนักจากสงครามค่าเงิน ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ดร.สมคิดกำลังจะทำจะเป็นการ “รดน้ำให้หญ้าที่ตายไปแล้วเพื่อรอเป็นปุ๋ย”หรือไม่?

6. การกระจายอำนาจและรัฐธรรมนูญที่ดีหายไป

สองสิ่งนี้ค่อนข้างเป็นปัจจัยบวกในสมัยของรัฐบาลทักษิณเมื่อเกิดมาในยุคหลังรัฐธรรมนูญ2540ที่ถือว่าดีที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญฉบับหลังๆทั้งการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจนั้นทำให้กลไกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในยุคนั้นทรงประสิทธิภาพ ถึงแม้จะถูกค่อนขอดว่าเปิดทางให้กับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นไปลงเลือกตั้ง อบจ.อบต. แต่ก็เป็นยุคที่ความเจริญลงไปถึงท้องถิ่นมาก ไม่รวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง หลายคนมองว่าสิ่งที่ทักษิณทำดีที่สุดคือ”นโยบาย30บาทรักษาทุกโรค” แต่ในมุมมอส่วนตัว “การปฏิรูประบบราชการ”ต่างหากคือผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ใครจำภาพตอนไปติดต่ออำเภอ สถานีตำรวจก่อนยุค2540ได้บ้าง ว่าเต็มไปด้วยอิทธิพลของข้าราชการ การคอรัปชั่น และการรวมศูนย์แค่ไหน และนี่คือสิ่งที่คสช.นำกลับมาในการสร้างรัฐข้าราชการอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่นับรวมถึงการใช้ประกาศ คคสช.ระงับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ดังนั้นการดำเนินการนโยบายต่างๆไม่สามารถส่งตรงไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึงได้แน่นอน

7. ประชาธิปไตยและความชอบธรรมในสายตาต่างชาติ

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯจะย้ำบ่อยครั้งว่ารัฐบาลนี้มาด้วยวิธีพิเศษไม่ได้หวังให้ประชาชนมานิยม และสัมภาษณ์ออกสื่อต่างชาติว่ากำลังจะนำประเทศกลับสู่ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ภายในประเทศอาจจะสามารถปราบปรามและสกัดกั้นผู้เห็นต่างด้วยจากกฎอัยการศึกก็ดี จากมาตรา44ก็ดี แต่ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันเราอยู่คนเดียวไม่ได้ การไม่คบค้าสมาคมหรือมาตรการการกดดันทางอ้อมของหลายประเทศทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากและแน่นอนส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ต่อให้ทีมเศรษฐกิจพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกแต่หากภาคการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแน่ๆ

นี่คือบรรดาโจทย์ที่ดร.สมคิดต้องเจอซึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจแบบ“ทักษิโณมิกส์”ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จใดๆเมื่อบริบทที่แตกต่างกันไป ผลลัพธ์ก็อาจจะต่างกันไปด้วย เหมือนกับหนังที่ภาคแรกดี แต่พอนำมาสร้าภาคต่อในบริบทที่แตกต่าง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหนังเรื่องนั้นก็อาจจะกลายเป็นแค่ “หนังตกยุค”ก็เป็นได้ ขอให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจดร.สมคิดได้พิสูจน์ตัวเอง แล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่าการวิเคราะห์ครั้งนี้จะ ตรงเหมือนที่เคยวิเคราะห์บทสรุปของทีมเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่อุดมด้วยเทคโนแครตตกยุคว่า “เหมือนเอาช่างซ่อมพิมพ์ดีดมาซ่อมไอแพด”หรือไม่ ติดตามชมด้วยใจระทึก

ที่มา : Siam Intelligence | Dare to Think
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่