รบกวนแนะนำทนายเพื่อฟ้องดำเนินคดี AIA ผิดสัญญาประกัน 21ปีด้วยครับ

สืบเนื่องจากเมื่อ 21 ปีก่อนผมได้ทำประกันกับตัวแทน AIA ซึ่งเป็นญาติกัน และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทาง AIA ควรจะต้องจ่ายให้ผม 140% ตามเอกสารที่ตัวแทนเขียนให้ไว้ แต่เมื่อครบสัญญาทาง AIA กลับคืนเงินให้เพียง 116.5% โดยอ้างว่าผลประกอบการไม่ดี

หลังจากนั้นผมไปค้นหากระทู้เกี่ยวกับลูกค้า AIA รายอื่นๆ พบว่าโดนกันเยอะมาก ตามนี้

http://topicstock.ppantip.com/sinthorn/topicstock/2010/09/I9693113/I9693113.html

http://topicstock.ppantip.com/sinthorn/topicstock/2011/02/I10270271/I10270271.html

http://topicstock.ppantip.com/social/topicstock/2011/06/U10659650/U10659650.html

http://topicstock.ppantip.com/sinthorn/topicstock/2011/10/I11186412/I11186412.html

ถ้าผมต้องการจะฟ้อง AIA ตามคดีตัวอย่าง มีใครพอจะช่วยแนะนำทนายที่เคยทำคดีแบบนี้ให้ผมติดต่อบ้างได้ไหมครับ

คดีตัวอย่าง เกิดขึ้นที่  ศาลแขวงพระนครใต้ หลังศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 2728 / 2554 ผู้เป็นโจทก์คือ นายทรงกฤษณ ศรีสุขวัฒนา ฟ้อง บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นจำเลย


ข้อเท็จจริงของคดี เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 4 ส.ค. 32 ตัวแทนขายประกันชีวิตของ บริษัท AIA ได้มาขายประกันให้แก่โจทก์เป็นการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 21 TMAE วงเงินประกันชีวิต 300,000 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต เป็นรายปีทุก ๆ ปีละ 20,301 บาท ระยะเวลา 21 ปี รวมเป็นเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่ต้องชำระทั้งหมด จำนวน 426,321 บาท ซึ่งมากกว่า วงเงินประกันชีวิตถึง 126,321 บาท (426,321 – 300,000 = 126,321 บาท) โดยตัวแทนขายประกันชีวิตของ บริษัท AIA นำแผ่นพับ แบบสะสมทรัพย์ 21 TMAE ขนาด กระดาษ A4 มีลักษณะเป็นแผ่นพับสี 3 ตอน ติดต่อกัน รวม 6 หน้า มาประกอบการเสนอขายประกันชีวิตให้กับโจทก์


เมื่อกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ครบกำหนดสัญญา21ปี โจทก์ได้รับเงินครบกำหนดสัญญา น้อยกว่าที่ตัวแทนขายประกันชีวิตของ บริษัท AIA มาเสนอขายประกันชีวิตให้กับโจทก์ตามแผ่นพับแบบสะสมทรัพย์ 21 TMAE ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้อง


โจทก์จึงฟ้อง บริษัท AIA เป็นจำเลย ที่ศาลแขวงพระนครใต้เป็นคดีผู้บริโภค คดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2592 / 2553 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ทุนทรัพย์ในการฟ้องคดี โจทก์ฟ้องเรียกเงินครบกำหนดสัญญาส่วนที่ขาด เป็นเงินจำนวน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ทวงถามจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นเงิน 214.52 บาท ค่าคัดหนังสือรับรอง และค่าถ่ายเอกสาร รวม 480 บาท ค่าเดินทางไปดำเนินคดีกับค่าเสียเวลา และ โอกาสในการประกอบอาชีพของโจทก์ วันละ 600 บาท ประมาณ 7 วัน คิดเป็นเงิน 4,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,894.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 40,680 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้น



ต่อมาบริษัทAIAจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า แผ่นพับในการเสนอขายประกันชีวิตแก่โจทก์นั้น เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารของจำเลย และทางจำเลย ได้ดำเนินการจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ ครบถ้วนและถูกต้องตามสัญญาทุกประการแล้ว


ภายหลัง คดีนี้ ศาลแขวงพระนครใต้ มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 2728 / 2554 โดยศาลได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,894.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 40,680 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์



นายทรงกฤษณ ศรีสุขวัฒนา  ผู้บริโภคที่ชนะคดี เอไอเอ.  เปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่า  "คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว  หลังจากศาลอุทธรณ์สั่งไม่รับอุทธรณ์ อยากไปลองไปดูคดีที่ศาลแขวงพระนครใต้ มีคนฟ้องตามผมเป็นจำนวนมาก ทุกคนถูกขายประกันแบบเดียวกันหมดซึ่งคนธรรมดาไม่สามารถไปพิสูจน์เรื่องที่เป็นกิจการภายในของบริษัทได้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยผลของคำพิพากษาก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่ต้องการจะเรียกร้องความเป็นธรรมโดยการฟ้องศาลได้"


แหล่งข่าวจากบริษัทAIAเปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่าคดีดังกล่าว ยังไม่ถึงที่สุด เพราะล่าสุดศาลได้รับอุทธรณ์ของเอไอเอ.แล้ว คดีนี้จะต้องต่อสู้ต่อไป ดังนั้น จึงไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานได้ในขณะนี้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด  ทั้งนี้การกล่าวอ้างของนายทรงกฤษณว่า คดีถึงที่สุดแล้ว  คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง  


มติชนออนไลน์ ตรวจสอบหลักกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการอุทธรณ์ อยู่ใน มาตรา 47 และมาตรา 49 วรรค 2  และมาตรา 52  ดังนี้

มาตรา 47 ในคดีผู้บริโภคที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง


มาตรา 48  ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์เห็นว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 47  ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้  ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไป

มาตรา  49 การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

ภายใต้บังคับ มาตรา 52  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด

มาตรา 52 ศาลฎีกาอาจพิจารณาอนุญาให้ฎีกาตามมาตรา 51 ได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือ เป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ไปที่เวบไซด์ คปภ.ครับ แล้วส่งเรื่องร้องเรียน รวมทั้งส่งไฟล์เอกสารผ่านทางเวบไซด์ได้
เอกสารที่สำคัญที่สุดคือใบเสนอขายที่ลงชือผู้เสนอขายประทับตราAIA เพราะในนั้นจะระบุยอดคืน 140%ไว้ชัดเจน แต่ถ้าไม่มีเอกสารฉบับนี้โอกาสต่อรองมีน้อยมาก เพราะในกรรมธรรม์เขียนไว้ชัดเจน(ซึ่งไม่ตรงกับใบเสนอขาย)
แล้วคนที่เก็บใบเสนอขายไว้มีน้อยมาก ถ้าเอกสารครบส่งเรื่องไปไม่เกิน1เดือน(กรณีที่ผมฟ้อง 2-3สัปดาห์) ทาง คปภ.จะนัดตัวแทนAIA และเราเข้าไปไกล่เกลี่ยที่ คปภ.รัชดา(ตรงข้ามศาลอาญา) ของผมแยกฟ้องเป็น2กรณีคือ
1.ได้เงินคืนไม่ครบตามใบเสนอขาย สุดท้ายได้คืนมา 70%ของส่วนที่ขาด
2.ฝากไว้กับ AIAเพื่อรับดอกเบี้ย 6%ต่อปีโดยไม่กำหนดระยะเวลา สุดท้ายได้มาแค่5ปี(ทั้งๆที่ในกรรมธรรม์ไม่ได้ระบุเวลาไว้) ทาง คปภ.ให้เหตุผลว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
สรุปคือต้องไป คปภ.2ครั้ง เรื่องจบภายใน 1เดือน(ถ้าเรายินยอมตามเงื่อนไข)
ถ้าไม่ยินยอมก็ต้องฟ้องกันต่อไป
ก่อนตัดสินใจฟ้อง คปภ.ผมอ่านเคสของคุณ ทรงกฤษณ หลายรอบ
ของผมเป็น TMAE21 ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่