Must Be There: พระแก้วมรกตถูกค้นพบครั้งแรกที่ไทย

ประวัติพระแก้วมรกตเท่าที่รู้



ในวันที่ผมได้เดินทางไปยัง บูโรพุทโธ ผมได้มีโอกาสเจอนักโบราณคดีท่านหนึ่ง และท่านได้เล่าประวัติต่างๆให้ผมฟังมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากๆ ไม่ใช่ที่อื่นไกล นั้นก็คือประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต และท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกตให้ผมฟังอย่างละเอียด ซึ่งทุกสิ่งที่ท่านเล่าให้ฟังนั้น อิงตามพงศาวดารของประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งทำให้ผมเอง ซึ่งเป็นคนไทยแต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ว่าประวัติขององค์พระแก้วเป็นมาอย่างไร ค้นพบที่ไหน ซึ่งตลอดชีวิตผมเข้าใจผิดมาตลอดว่าพระแก้วมรกตมาจากประเทศลาว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะพงศาวดารทุกที่ต่างบันทึกไว้เหมือนกันว่า ถูกค้นพบครั้งแรกที่เชียงราย และ ผมได้ฟังเหตุการณ์ต่างๆว่าไปอยู่ประเทศลาวได้อย่างไร และกลับมาอยู่ไทยได้อย่างไร และหลังจากที่ผมกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย ผมก้ได้มีโอกาส ไปเที่ยว และไปกราบพระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศเราครั้งแรก ผมเล่าประวัติพระแก้วเท่าที่ผมรู้ให้ทุกท่านอ่านนะครับ



ตามประวัติศาสตร์เมื่ออ้างอิงตามพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า พระแก้วมรกตได้มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 1977โดยมีการค้นพบพระแก้วมรกตซ่อนอยู่ภายในเจดีย์วัดป่าเยียะ เมืองเชียงรายเมื่อเจดีย์องค์นั้นถูกฟ้าผ่าจนยอดหักลง ก็มีพระสงฆ์รูปหนึ่งพบพระพุทธรูปปิดทองซ่อนอยู่ภายในเจดีย์ปูนที่ถูกฟ้าผ่าจนแตกร้าว พระท่านนั้นคิดว่าเป็นพระพุทธรูปที่ค้นพบเป็นเพียงแค่พระพุทธรูปที่สร้างจากหินทั่วไปธรรมดาๆ จึงได้นำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ภายในวิหารเรียงรายคู่กับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย

สองสามเดือนต่อมาปูนที่ฉาบบริเวณปลายพระนาสิกของพระพุทธรูปองค์นั้น ซึ่งถูกลงรักปิดทองอีกชั้นหนึ่งเกิดกะเทาะออก เจ้าอาวาสจึงสังเกตเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วภายในเป็นพระพุทธรูปซึ่งแกะสลักจากหยกสีเขียวงดงาม ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงกะเทาะปูนทั้งหมดที่ฉาบทับอยู่ จึงเป็นที่ปรากฏต่อทุกสายตาว่าแท้จริงแล้วพระพุทธรูปองค์นี้แกะสลักจากหยกเขียวเพียงชิ้นเดียวทั้งองค์ และปราศจากริ้วรอยหรือตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น

ในไม่ช้าชาวเชียงรายและพุทธศาสนิกชนบ้านใกล้เรือนเคียงต่างแห่กันมาสักการะบูชาพระแก้วมรกตกันอย่างล้นหลาม และข่าวนี้ได้แพร่สะพัดไปถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งพระองค์ได้รับสั่งให้จัดขบวนช้างเพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปหยกเขียว ซึ่งตามพงศาวดารพระพุทธรูปองค์นี้มีพระนามว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ขึ้นมายังเชียงใหม่ ในขณะที่ขบวนอัญเชิญเดินทางมาถึงทางแยกไปสู่เมืองลำปาง ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตเกิดตื่นตระหนกและวิ่งเตลิดไปทางที่จะไปสู่เมืองลำปาง ควาญช้างจึงปลอบจนช้างสงบลง จากนั้นจึงบังคับให้ช้างเดินกลับไปยังทางแยกและเดินขบวนไปยังเมืองเชียงใหม่ต่อไป แต่ช้างก็เกิดอาการตื่นตระหนกและวิ่งเตลิดไปยังเส้นทางสู่เมืองลำปางอีกครั้ง



ณ จุดนี้ขบวนอัญเชิญจึงได้ตัดสินใจว่าควรจะเลือกช้างที่เชื่องกว่านี้มาอัญเชิญพระพุทธรูปหยกเขียวแต่ช้างเชือกใหม่ที่นำมาอัญเชิญพระพุทธรูปก็มีอาการเช่นเดียวกันอีก นั่นคือวิ่งออกนอกเส้นทางและมุ่งไปยังเส้นทางที่ไปเมืองลำปางเหมือนเดิม ในบันทึกได้กล่าวไว้ว่าขบวนอัญเชิญได้เปลี่ยนช้างทั้งหมด 3 เชือก ในไม่ช้าข่าวเรื่องช้างวิ่งออกนอกเส้นทางก็ไปถึงพระกรรณของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ด้วยความที่พระองค์มีความเชื่ออย่างมากในเรื่องพลังเหนือธรรมชาติ พระองค์จึงเกรงผลที่จะตามมาและทรงรู้สึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครององค์พระแก้วมรกตนั้นไม่อยากให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงทรงอนุญาตให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังเมืองลำปางและไปประดิษฐาน ณ วัดแห่งหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากเงินบริจาคของชาวลำปาง พระแก้วมรกตประดิษฐานในเมืองลำปางเป็นเวลา 32 ปี ซึ่งวัดที่เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้น ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่เรียกขานกันว่าวัดพระแก้ว

ตามราชพงศาวดารของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1) ในปีพ.ศ. 2011 เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ใหม่เรืองอำนาจได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่รับสั่งให้สร้างปราสาทขึ้นมาภายในวัดเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่ก็เกิดฟ้าผ่าทำให้ยอดปราสาทเสียหาย ความคิดนี้จึงล้มเลิกไป ภายในวัดดังกล่าวได้เก็บรักษาพระแก้วมรกตไว้ภายในตู้ และนำออกมาแสดงให้ประชาชนได้ชมเป็นบางโอกาสเท่านั้น พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่เป็นเวลา 84 ปี



เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงยกพระธิดานามว่า นางยอดคำให้เสกสมรสกับพระเจ้าโพธิสารเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง และท่านได้มีพระโอรสพระนามว่า พระไชยเชษฐ์ในปี พ.ศ. 2094 เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้เสด็จสวรรคต โดยไม่มีทายาทพระองค์อื่นที่จะขึ้นสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ดังนั้นขุนนางระดับสูงและคณะสงฆ์จึงเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ยกราชบัลลังก์ให้กับพระไชยเชษฐ์ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์โตของพระเจ้าโพธิสารเจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง และเป็นพระราชนัดดาของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ผู้วายชนม์ จากนั้นจึงเติมพระนามของพระองค์เป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งในขณะนั้นพระองค์มีพระชนม์ได้ 15 ชันษาเท่านั้น

หลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์บัลลังก์ปกครองเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้าโพธิสารพระบิดาของพระองค์ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองหลวงพระบางก็เสด็จสวรรคต ด้วยความที่พระองค์เกรงว่าหากเสด็จไปร่วมงานพิธีศพของพระบิดาแล้ว อาจจะถูกกีดกันไม่ให้เสด็จกลับมายังเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงตัดสินพระทัยนำพระแก้วมรกตไปเมืองหลวงพระบางด้วย โดยพระองค์ทรงให้เหตุผลว่าพระประยูรญาติของพระองค์จะได้มีโอกาสสักการะบูชาพระแก้วมรกตบ้าง

ตามพงศาวดารเชียงใหม่บันทึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงตัดสินพระทัยอยู่ปกครองเมืองหลวงพระบางต่อ พระราชพงศาวดารแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1) กล่าวไว้แตกต่างออกไปเล็กน้อย แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงเรื่องที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชขึ้นปกครองเมืองหลวงพระบาง แต่ก็กล่าวถึงว่าพระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีอันดีกับพระอนุชาร่วมพระบิดาของพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยประทับอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเป็นเวลา 3 ปีเพื่อปรึกษาหารือถึงเรื่องการแบ่งพระราชสมบัติ นอกจากนั้นยังกล่าวไว้ด้วยว่าขุนนางในนครเชียงใหม่ต่างพากันรู้สึกว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประทับอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเป็นเวลานานเกินควร



พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงหลังจากที่พม่ายึดเชียงแสน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ได้สำเร็จ และกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็สามารถยึดที่มั่นเพื่อบุกเข้าโจมตีทางตอนใต้ของแม่น้ำโขงได้สำเร็จ ดังนั้นหลังจากที่ประทับอยู่ที่หลวงพระบางมาเป็นเวลา 12 ปี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ทรงตัดสินพระทัยย้ายไปประทับที่เมืองเวียงจันทร์ในช่วงปีพ.ศ. 2103 โดยอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย จากนั้นพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานในเวียงจันทร์เป็นเวลา 215 ปีจนถึงปีพ.ศ. 2321 ซึ่งระยะเวลานานถึง 215 ปี จึงทำให้ระยะเวลาอายุคนถึง 2-3 ชั่วอายุคน จึงทำให้ลืมไปว่าพระแก้วมรกตมาจากไทย ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นของประเทศลาว แต่ยังดีที่พงศาวดารทุกที่ได้บันทึกไว้



ในช่วงที่พม่าบุกเข้ายึดครองและปล้นสะดมกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. 2310 มีแม่ทัพหนุ่มชาวสยามผู้หนึ่งนำกองทัพเพียงไม่กี่ร้อยคนหลบหนีออกมาได้ มีหลายข้อมูลที่ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของพระยาตากสิน โดยสันนิษฐานว่าพระองค์มีพระนามเดิมว่าสิน มีพระราชบิดาเป็นชาวจีน ต่อมาเมื่อไปรับราชการเป็นเจ้าเมืองตาก จึงเติมพระนามเป็น “ ตากสิน” ในขณะที่เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งถูกตีพ่ายมุ่งหน้าลงใต้ พระเจ้าตากสินทรงสามารถรวบรวมไพร่พลได้เพิ่มเติมอีกเพื่อไปต่อกรกับกองทัพพม่าที่เข้ามารุกราน น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักในช่วงระยะเวลาอันสั้นพระเจ้าตากสินทรงสามารถผนึกแผ่นดินสร้างเป็นราชธานีได้ใหม่อีกครั้ง และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อปีพ.ศ. 2311 ในช่วงระยะเวลาครองราชย์ 15 ปี พระเจ้าตากสินทรงสามารถผนึกแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น อีกทั้งยังสามารถขยายอาณาเขตของราชอาณาจักรสยามได้อีกด้วย และได้ย้ายกรุงราชธานีขึ้นทางด้านฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา โดยให้ชื่อว่ากรุงธนบุรี ในระหว่างที่พระเจ้าตากสินกำลังขยายดินแดนอยู่นั้น มีนายทหารผู้เกรียงไกรผู้หนึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองท่ามกลางสมรภูมิรบด้วยเช่นกันทรงมีพระนามว่าเจ้าพระยากษัตริย์ศึก เป็นพระสหายคนสนิทของพระเจ้าตากสินมาช้านาน โดยรบชนะศึกสงครามเป็นส่วนใหญ่ที่ออกรบ

เจ้าพระยากษัตริย์ศึกถวายงานรับใช้พระเจ้าตากสินโดยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพระองค์ ในปีพ.ศ. 2321 เจ้าพระยากษัตริย์ศึกยึดเมืองเวียงจันทร์มาเป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทร์มายังกรุงธนบุรี



พระเจ้าตากสินได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไประดิษฐานไว้ใกล้กับวัดอรุณราชวราราม พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในกรุงธนบุรีจวบจนกระทั่ง
พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคต พระเจ้าตากสินถูกหาว่าสติฟั่นเฟือน และถูกนำตัวไปสำเร็จโทษ ต่อมาเจ้าพระยากษัตริย์ศึกจึงเสด็จขึ้นครองราชย์แทน และเจ้าพระยากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แล้ว พระองค์ทรงย้ายกรุงราชธานีข้ามฝั่งแม่เจ้าพระยามายังจุดซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้

ซึ่งพระแก้วมรกตก็ได้รับอัญเชิญข้ามแม่น้ำมาด้วยโดยได้มีการจัดพิธีอัญเชิญอันยิ่งใหญ่ และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1ทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วขึ้นมาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต



หลังจากที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปีพ.ศ. 2325 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้มีการเฉลิมฉลองสมโภชน์ราชธานีแห่งใหม่ พระราชพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่ามีการจัดงานสมโภชน์ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืนเพื่อเป็นเฉลิมฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่าในช่วงท้ายของการสมโภชน์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนชื่อราชธานีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพระนามของพระแก้วมรกตซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร โดยเปลี่ยนชื่อราชธานีเป็นกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ซึ่งแปลว่าเป็นราชธานีที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งแกะสลักขึ้นจากหยกอันงดงามที่สุดและวิจิตรบรรจงที่สุด โดยเป็นที่เชื่อกันว่าพระแก้วมรกตช่วยเสริมพระเกียรติบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครด้วย และเริ่มแรกเดิมที่ ร.1 และ ร.2 ท่านไม่มีชื่อ เพราะสมัยก่อนจะเรียก ร.1 ว่า ราชวงศ์ตอนต้น ร.2 ราชวงศ์ตอนกลาง และ ร.3 ท่านไม่อยากให้เรียกสมัยท่านว่า ราชวงศ์ตอนปลาย ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ ตั้งไว้ ซ้ายขวาของพระแก้วมรกต แล้วตั้งชื่อ ร.1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ ร.2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เราจึงจะสังเกตุได้ว่ากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี มีเพียง 2 พระองค์เท่านั้นที่มีคำว่า พระพุทธ นำหน้า และนี่คือประวัติพระแก้วมรกตเท่าที่รู้ครับ



ติดตาม
Facebook: https://www.facebook.com/1mustbethere
instagram ID: mustbethere
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่