เรื่องของรถราง ๒๑ ก.ย.๕๘

บันทึกถึงอดีต

เรื่องของรถราง


รถรางเป็นรถขนส่งมวลชนประเภทแรกของประเทศไทย ที่ได้กำเนิดเกิดขึ้น ตั้งแต่รัชสมัยของ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และมาหมดหน้าที่ลงหลังจากปีกึ่งพุทธกาลผ่านไปแล้ว ผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปในปัจจุบัน จึงอาจจะจำได้บ้าง แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่านั้น ก็คงจะได้เห็นแต่เพียงภาพ ที่มีผู้นำมาวางในกลุ่มประวัติศาสตร์ ของห้องสมุดพันทิปเท่านั้น

เมื่อให้ Google ช่วยหาประวัติให้ ก็ได้มาดังนี้

“รถราง” TRAMWAY มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2430 เป็นประเทศแรกในเอเชีย จาก พ.ศ. 2431 จนถึง พ.ศ. 2511 ร้อยกว่าปีที่เริ่มมีและสามสิบกว่าปีที่หมดไป..สำหรับยานที่มีวิ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย

“รถราง” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tramway” มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จากการก่อตั้งของ “ชาวเดนมาร์ค” จัดเดินรถรางขึ้นใน “เมืองบางกอก” ตามการเรียกขานในสมัยนั้น ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2430 เปิดเดิน “รถราง” คันแรกนี้ยังไม่ได้แล่นได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ “ม้าลาก” ซึ่งได้เทียมม้าไว้ด้านหน้ารถ จากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ “รถรางไฟฟ้า” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437

หลังจากที่สิ้นสุด “สงครามโลกครั้งที่สอง” ได้แค่สี่ห้าปี สัมปทานการเดินรถก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลก็เข้ามาดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของ “กรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493

หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล (ของคณะปฏิวัติ พ.ศ.๒๕๐๑) พร้อมๆ กับนโยบายที่จะให้ “เลิกเดินรถรางและรถสามล้อถีบ” ในเขต “พระนคร-ธนบุรี” การเดินรถจึงค่อยๆ ลดบทบาทลงโดยการเลิกวิ่งจบสิ้นเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงไปเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 หลังจากที่ได้มี “รถราง” ใช้อยู่ร่วม “80 ปี” พอดี

รถรางเป็นรถที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่รถชนิดอื่นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งรถลาก(รถเจ๊ก) สามล้อถีบ รถสามล้อเครื่อง และรถยนต์ทั้งหลาย ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้ในนิตยสาร วปถ.ปริทรรศน์ ฉบับประจำเดือนมีนาคม ๒๕๐๑ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “มาขึ้นรถรางกันเถิด” ผู้เขียนคือ “นายพิสดาร” ซึ่งจะคัดลอกเอามาเผยแพร่ ว่ารถรางสมัยนั้นมีความมหัศจรรย์อย่างไร

....................รถที่ประชาชนจะโดยสารไปมา ไม่ว่าจะธุระหรือไม่ใช่ธุระก็ตามนั้น หาได้มีแต่เพียงเท่าที่กล่าวมาแล้ว หรือกล่าวถึงไปแล้วไม่ ยังมีอยู่อีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมและมีปริมาณมากมาย ซึ่งเป็นรถที่ทำให้ตำรวจจราจร ซึ่งเป็นผู้พิชิตยานยนต์ทุกชนิด ต้องยอมจำนนในทุกวิถีทาง เพราะสามารถจะบรรทุกคนได้ไม่จำกัดจำนวน ไม่ว่าจะล้นตัวถังหรือจะห้อยจะโหน ในท่าใด ในที่ใดก็ได้นอกจากหลังคา

สามารถแล่นสวนกันไปมาได้อย่างน่าตาเฉย ในถนนซึ่งกำหนดให้เดินรถทางเดียว สามารถเข้าไปแล่นได้อย่างสบายใจ ในถนนซึ่งห้ามรถอื่น ๆ แล่นและจอด ในที่ซึ่งห้ามรถทุกชนิด

สามารถเลี้ยวอ้อมวงเวียน อ้อมศรหรือบางครั้งยังผ่ากลางวงเวียนไปเสียด้วยซ้ำ สามารถทำเสียงโครมครามได้ ทั้ง ๆ ที่มีป้ายโรงพยาบาลห้ามใช้เสียง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นลงได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะนอกป้ายหรือในป้าย ไม่ว่าจะหยุด หรือกำลังแล่น หรือแม้แต่ตามสี่แยกหน้าป้อมไฟจราจรของตำรวจเอง

ด้วยการบริการอย่างเรียบร้อย สุภาพเป็นกันเอง และด้วยถ้อยคำที่ไพเราะรื่นหู ของพนักงานที่ได้รับการอบรมมา อย่างดีที่สุด อย่างที่ไม่มีบริษัทรถเมล์สายไหนมาเทียบได้

รถโดยสารที่แสนจะสะดวกสบายและปลอดภัยในทุกประการ ซึ่งคุณ ๆ เกือบจะลืมนึกถึงไปนี้ คือรถราง ขององค์การไฟฟ้ากรุงเทพ นี่เอง

รถรางซึ่งเป็นรถประจำทางเก่าแก่ ที่มีสายการเดินรถกว้างขวาง และเปิดบริการแก่ประชาชนคนเดินถนน มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง จนถึงปัจจุบันซึ่งได้ถูกแก้ไขรูปทรง และสีสันเสียใหม่ จนดูเหมือนกับรถโฆษณาน้ำอัดลมอย่างเดี๋ยวนี้

มีแห่งหนตำบลใดบ้างในเขตเทศบาลนี้ ที่จะไปไม่ได้ด้วยรถราง ด้วยค่าโดยสารที่แสนจะถูก เพียงสิบสตางค์ หรือยี่สิบห้าสตางค์ ในบางสาย ซึ่งนอกจากจะใช้ซื้อน้ำแข็งเปล่า หรือให้ขอทานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไรได้อีก แม้แต่จะโยนทิ้งข้างถนน เด็ก ๆ ก็คร้านที่จะวิ่งมาเก็บเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยค่าโดยสารเพียงเท่านั้น เราจะได้นั่งรถรางเสียจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีกทีเดียว

แต่ออกจะเป็นการน่าสงสาร ที่ผู้ซึ่งเห็นประโยชน์อันใหญ่หลวง ของรถโดยสารลดค่าครองชีพนี้ ก็มักจะมีแต่ชาวต่างประเทศ ซึ่งนับเนื่องกันแล้วก็มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน แล้วก็คนแก่ แม่ครัว แม่ค้า ภิกษุสามเณร และเด็ก ๆ นักเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่

การที่ประชาชนคนอื่น ๆ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ค่อยสนใจใยดีกับรถรางนั้น ก็ด้วยเหตุนิดเดียว คือความเชื่องช้าของรถโดยสารประเภทนี้น่ะเอง รถรางอาจจะแล่นได้เร็วเท่าหรือเร็วกว่ารถยนต์ทั้งหลายด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีการรอหลีก แต่แน่นอนว่าอีกไม่ช้าไม่นานก็ต้องชนกับคันที่แล่นสวนมาเข้าจนได้ นอกไปเสียจากการทำรางสองสายให้แล่นสวนกันคนละฟากถนน หรือให้สายหนึ่งแล่นบนถนน และอีกสายหนึ่งไปแล่นอยู่บนหลังคาตึก หรือลงไปแล่นอยู่ใต้ดิน ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้ก็จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยใช่เหตุแล้ว ยังจะทำให้รถรางแล่นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งย่อมจะชนใครต่อใคร และอะไรทั้งที่เป็นรถยนต์ รถสามล้อ เว้นแต่รถรางด้วยกันเอง ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก

ซึ่งนอกจากจะเพิ่มงานให้แก่ตำรวจ ที่กำลังมีงานอื่น ๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และบนอากาศอย่างเต็มมือแล้ว ยังจะพลอยให้นายแพทย์ นางสาวและนางพยาบาล ตลอดจนสัปเหร่อ ต้องพลอยปวดเศียรเวียนเกล้าไปด้วย และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ทำให้เสียสปิริตและเทรดดิชั่น ของความเป็นรถรางเสียโดนสิ้นเชิง.......................

ทั้งหมดที่คัดลอกมานั้น ผู้อ่านคงจะมองเห็นภาพของรถรางในอดีต ที่แตกต่างจากรถรางในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่แล่นบนดิน แล่นเสมอยอดตึก และลงไปแล่นอยู่ใต้ดิน รวมทั้งรถรางที่แล่นไปต่อกับเครื่องบินได้ด้วย ซึ่งสามารถจะขับเคลื่อนไปโดยกำลังหรือพลังงานจากไฟฟ้าเหมือน ๆ กัน เป็นอย่างดี

เสียอย่างเดียวที่มีราคาแพงกว่ารถรางสมัยโบราณ ไม่รู้กี่ร้อยเท่า...... แค่นั้นเอง.

#############
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่